แมสผ้าพลังคูณ 3 กันน้ำ กันแดด ต้านแบคทีเรีย
มรภ.นครศรีธรรมราช ผนึก บพท. ผลิตแมสผ้าพลังคูณ 3 กันน้ำ -กันแดด-ต้านแบคทีเรีย กลไกดูซับศก.
แม้ราคาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในปัจจุบันจะมีราคาถูกลง เมื่อเทียบกับช่วงแรกๆ ของการระบาดโรคโควิด-19 แต่หน้ากากอนามัยแบบผ้าก็ยังเป็นที่ต้องการสูง ด้วยความตระหนักของผู้คนในเรื่องสุขภาพอนามัย และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้จึงเป็นต้นทางการคิดของนักวิจัยที่จะพัฒนาคุณภาพหน้ากากอนามัยแบบผ้าให้มีสมบัติพิเศษที่จะตอบโจทย์การใช้หน้ากากผ้าให้ดีมากขึ้น
“โครงการการพัฒนาผ้าพื้นถิ่นที่มีสมบัติป้องกันแสงยูวี ต้านเชื้อแบคทีเรียและสะท้อนน้ำด้วยวัสดุนาโน” อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎ(มรภ.)นครศรีธรรมราช ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนตาเหน่ง อำเภอสิชล, กลุ่มสวนตาเหน่ง, กลุ่มผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติพออวด อำเภอนบพิตำ, กลุ่มสตรีพัฒนาผ้าบาติก บ้านสวนขัน อำเภอช้างกลาง กลุ่มผ้าทอตรอกแค อำเภอชะอวดและ กลุ่ม 4 ป บาติก อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์จากผ้าให้มีคุณค่า และมูลค่ามากขึ้น เช่น มีกลิ่นหอมจากดอกไม้พื้นถิ่น มีลวดลายใหม่ๆ มีสีสันสวยงาม และหลากหลายเฉดสี
รวมถึงพัฒนาให้มีคุณสมบัติใหม่ๆ เช่น สามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย กันน้ำ กันแสงยูวี ลดการยับ เพิ่มความนุ่ม เป็นต้นทำให้รายได้ของผู้ประกอบการสวนตาเหน่งซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านขนาดกลางและขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น 4.6 เท่า อีกทั้งยังเป็นการสร้างเศรษฐกิจฐานรากและสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่หลายสิบล้านบาท
ผศ.ดร.ประวิทย์ เนื่องมัจฉา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.นครศรีรธรรมราช หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่าด้วยความเชี่ยวชาญด้านวัสดุนาโนของทีมวิจัยประกอบกับมหาวิทยาลัยได้รับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ(สอวช.) ให้ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาระบบกลไกการดูดซับเศรษฐกิจผ้าพื้นถิ่น โดยมหาวิทยาลัยเป็นตลาด จึงนำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเคมีและวัสดุนาโนมาพัฒนาคุณภาพผ้าพื้นถิ่นจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีอยู่จำนวนมากและหลากหลายกลุ่มแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างในด้านเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของผ้า
มหาวิทยาลัยเลือกพื้นที่ที่มีการกระจายรายได้น้อยอย่าง อำเภอพิปูน อำเภอชะอวด และอำเภอนบพิตำ นำผ้าพื้นถิ่นทั้งผ้ายกเมืองนคร ผ้ามัดย้อม ผ้าบาติก มาใช้แทนชุดและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นผลิตภัณฑ์ของมหาวิทยาลัย เช่น นำผ้ายกที่ปรับปรุงสมบัติให้สามารถสะท้อนน้ำหรือกันน้ำรวมถึงต้านเชื้อแบคทีเรียได้มาทำปกปริญญาบัตร และเป็นองค์ประกอบในชุดครุย เป็นต้น ต้องใช้ผ้ายกจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการสร้างโอกาสให้กับผ้าพื้นถิ่นไปยังตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลส่งเสริมให้เพิ่มมูลค่าสิ่งทอด้วยนาโนเทคโนโลยีเพื่อรองรับการแข่งขันเสรี จึงได้พัฒนาแนวทางในการนำนาโนเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าผ้าพื้นถิ่น
ในกรณีของหน้ากากอนามัยแบบผ้า ในช่วงที่ดำเนินโครงการวิจัย เป็นช่วงการระบาดของโควิด-19 กลุ่มชาวบ้านที่ทำผ้าพื้นถิ่นอยู่แล้วมีการทำหน้ากากอนามัยด้วย โดย ผศ.ปวีณา ปรวัฒน์กุล สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.นครศรีธรรมราช หนึ่งในทีมงานวิจัย กล่าวว่า ด้วยเอกลักษณ์ของผ้าพื้นถิ่นจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีอยู่แล้ว นักวิจัยเพียงเติมความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าไปเพิ่มคุณสมบัติของผ้า ให้มีสมบัติป้องกันแสงยูวี ต้านเชื้อแบคทีเรียและสามารถสะท้อนน้ำได้ โดยเลือกใช้อนุภาคนาโน Zinc oxide (ซิงค์ออกไซด์) เจือโลหะเงิน (Ag) ที่ไม่มีความเป็นพิษ ทำให้มีประสทิธิภาพการต้านเชื้อแบคทีเรียที่ดี ลดกลิ่นอับของผ้า ป้องกันรังสียูวี และช่วยถนอมเส้นใยผ้าฝ้ายซึ่งเป็นเส้นใยธรรมชาติ
โดยสังเคราะห์ด้วยวิธีทางชีวภาพหรือเรียกว่า Green synthesis โดยใช้สารสกัดจากพืชในท้องถิ่นมาเป็น reducing agent ในการสังเคราห์และเป็นวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนการผลิตได้ รวมถึงการเพิ่มอะคริลิคโพลิเมอร์ที่มีสายโซ่คาร์บอนสั้นที่ไม่เป็นพิษต่อการสูดดมและระคายเคืองผิวหนังเพื่อเพิ่มคุณสมบัติสะท้อนน้ำ ซึ่งกระบวนการทำทั้งหมดนักวิจัยได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับชาวบ้านสามารถทำได้เองแล้ว และสามารถนำผ้าที่ปรับปรุงสมบัติไปพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ เช่น หน้ากากผ้ากันน้ำ หมวก ผ้ากันเปื้อนกันน้ำและน้ำมัน และกระเป๋าผ้ากันน้ำ เป็นต้น
ด้านนางจิรัชญา งามขำ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนตาเหน่ง หนึ่งในหลายๆ กลุ่มผลิตผ้าพื้นที่ที่มรภ.นครศรีธรรมราชเข้าไปทำวิจัย กล่าวว่า การที่มหาวิทยาลัยลงมาช่วยเหลือชุมชนทำให้กลุ่มชาวบ้านมีความรู้มากขึ้น สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มให้มีศักยภาพสร้างความแตกต่างได้ มีความเข้มแข็งทั้งการตลาด การผลิตบรรจุภัณฑ์
“ในส่วนของสวนตาเหน่งของเราเป็นที่รู้จักมากขึ้นและยอดขายของเราเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดซึ่งทางมหาวิทยาลัยเล็งเห็นว่าสวนของเรานอกจากจะทำมังคุดนำเปลือกมังคุดมาทำสีผ้าด้วยแล้ว ยังเห็นว่าเราทำสวนสละจึงคิดสีย้อมผ้าจากเปลือกสละให้เราด้วย ยิ่งมาพัฒนาคุณสมบัติกันน้ำกันแบคทีเรียให้กับหน้ากากอนามัยให้ด้วยทำให้เรามียอดขายมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่เราเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากงานวิจัยยังมีชาวบ้านคนอื่นๆ ที่เข้ามา ช่วยตัด เย็บ ซัก รีด ทำให้ชุมชนของเรามีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” นางจิรัชญา กล่าว