นวัตกรรมกำจัด'ยุง'เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

นวัตกรรมกำจัด'ยุง'เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คิดค้นนวัตกรรมมาใช้กำจัดยุงพาหะนำโรคร้ายแรง ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ไม่ทำให้ยุงเกิดการดื้อต่อสารเคมี และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ยุงเป็นพาหะนำโรคร้ายแรงก่อให้เกิดปัญหาทางสาธารณสุข โดยเฉพาะยุงลายเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกที่มีรายงานผู้ป่วยและเสียชีวิตทุกปี รวมทั้งไข้ซิกา ซึ่งเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ทำให้เสี่ยงต่อภาวะศีรษะเล็กผิดปกติทางสมอง และไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยา ในขณะที่ยุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย ยุงเสือนำโรคเท้าช้าง และยังมียุงรำคาญบางชนิดที่เป็นพาหะ นำโรคไข้สมองอักเสบ

ทั้งนี้จากข้อมูลสถานการณ์โรคไข้เลือดออก กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-14 ต.ค.63 พบผู้ป่วยสะสม 63,220 ราย อัตราป่วย 95.35 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 43 ราย ดังนั้นการควบคุมยุงพาหะ จึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญซึ่งสามารถนำมาใช้ควบคุมโรคได้ โดยสามารถดำเนินการควบคุมได้ทั้งในระยะตัวอ่อนที่ยุง ยังเป็นลูกน้ำและในระยะที่เป็นตัวยุงการควบคุมยุงเพื่อควบคุมโรคทำได้หลายวิธี เบื้องต้นคือการจัดการกับแหล่งเพาะพันธุ์ ที่จะเอื้อให้ยุงชนิดต่างๆ มาวางไข่

160334530098

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และ สำนักวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้คิดค้นนวัตกรรมและองค์ความรู้ในการกำจัดยุงพาหะนำโรค เช่น นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดลูกน้ำยุงชนิดเม็ด มอสด๊อบ ทีบี เป็นผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดลูกน้ำยุงชนิดเม็ดจากสารไดฟลูเบนซูรอน (diflubenzuron) ซึ่งเป็นสารที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้ในการกำจัดลูกน้ำยุง โดยออกฤทธิ์ในการยับยั้งการสังเคราะห์สารไคติน (chitin) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในโครงสร้างผนังลำตัวแมลง ทำให้ลูกน้ำยุงไม่สามารถเจริญเป็นยุงตัวเต็มวัยได้และตายในที่สุด ทั้งนี้ได้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย และสามารถใช้ในการป้องกันและควบคุมลูกน้ำยุงลายได้ผลดี

โดยการใช้ผลิตภัณฑ์มอสด๊อบ ทีบี 1 เม็ด ต่อ น้ำ 200 ลิตร สารออกฤทธิ์ไดฟลูเบนซูรอนจะค่อยๆ ถูกปลดปล่อยออกมาอย่างช้าๆ ทำให้ป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลายได้นาน 3 เดือน นอกจากนี้ การใช้น้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพร เช่น ขมิ้นชัน ยูคาลิปตัส ซึ่งพบว่าสามารถป้องกันการกัดของยุงได้ หรือ การใช้วัสดุหาง่ายที่มีอยู่ในครัวเรือนในการกำจัดยุง อาทิ การใช้ผงซักฟอกโรยลงไปในภาชนะน้ำใช้ที่มีขนาดเล็ก เช่น จานรองขาตู้ แจกันศาลพระภูมิหรือภาชนะขังน้ำต่างๆ ที่ไม่สามารถคว่ำได้ ด้วยอัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำขัง 2 ลิตร วิธีนี้ผงซักฟอกจะแพร่กระจายปกคลุมทั่วผิวน้ำ ทำให้ลูกน้ำและตัวโม่งตาย

160334532822

จากการดูดซับสารเข้าสู่ระบบหายใจ ซึ่งวิธีนี้ยังสามารใช้กำจัดยุงตัวเต็มวัยได้ด้วย โดยการใช้ผงซักฟอกหรือผลิตภัณฑ์ ทำความสะอาด เช่น แชมพู สบู่เหลว น้ำยาล้างจาน ในอัตราส่วน 250 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1 ลิตร ใส่รวมกันในภาชนะแล้วค่อยๆ คนอย่าให้เกิดฟอง จากนั้นนำไปใส่ในกระบอกฉีดน้ำพรมผ้า โดยให้ฉีดบริเวณที่เห็นยุงเกาะอยู่ตามซอกมุมบ้าน บริเวณกองผ้าหรือผ้าห้อยแขวนที่เก็บหมอนมุ้งใกล้ที่นอน ห้องนั่งเล่น ยุงจะตายภายใน 10–20 วินาที เป็นการกำจัดยุงที่ง่าย ประหยัด มีประสิทธิภาพสูง ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยง ไม่ทำให้ยุงดื้อต่อสารเคมี และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า อย่างไรก็ตาม การควบคุมยุงเพื่อควบคุมโรคนั้น ถ้าจะให้ได้ผลสูงสุด ความร่วมมือ ของประชาชน เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการระบาดของโรคนั้น จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อประชาชนเห็นความสำคัญของการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ช่วยกันกำจัดเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงอย่างสม่ำเสมอ หรือกำจัดยุง โดยการใช้นวัตกรรมและองค์ความรู้ที่กล่าวมาอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายวิธีร่วมกันตามความเหมาะสม การดูแลป้องกันตัวเองและคนในครอบครัวไม่ให้ถูกยุงกัด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถ้าได้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ก็จะสามารถลดจำนวนยุง ละลดการระบาดของโรคที่นำโดยยุงได้เป็นอย่างดี