หินปูนบน ‘เกาะทะลุ’ ถล่ม ‘พายุ’ ไม่ใช่ปัจจัย

หินปูนบน ‘เกาะทะลุ’ ถล่ม ‘พายุ’ ไม่ใช่ปัจจัย

ความเปราะบางของหินปูนตามเกาะแก่งเคยถล่มลงมาหลายครั้ง ครั้งนี้ที่ “เกาะทะลุ” เป็นหินก้อนใหญ่ น้ำหนักเยอะ เกาะหินปูนแห่งหนึ่งแถบอันดามันที่ขึ้นชื่อว่าสวยงามมาก สิบกว่าปีที่ผ่านมา มีความพยายามผลักดันให้เป็นแหล่งมรดกโลก แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ

ว่ากันว่า ภูเขาหินปูน มักมียอดยักแหลมเป็นหน้าผา และเป็นหินที่ละลายน้ำได้ดี หากถล่มลงมา ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากหินปูนซึ่งอยู่ในกลุ่มหินตะกอนคาร์บอเนต มีความเปราะบางมากกว่าหินชนิดอื่น

เนื่องจากหินจำพวกนี้เกิดจากการทับถมของตะกอนคาร์บอเนตในท้องทะเล มีซากสิ่งมีชีวิตจำพวกปะการัง กระดองสัตว์ทะเล ทับถมรวมกันมาหลายร้อยปี แม้จะตกผลึกใหม่เป็นแร่แคลไซต์ แต่เนื้อหินก็ประกอบไปด้วยซากหอย ปะการัง เหล่านี้ คือ ต้นเหตุหลักที่ทำให้หินปูนบนเกาะแก่งมีโอกาสถล่มลงมา

และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หินปูนขนาดใหญ่ น้ำหนักประมาณ 30,000-50,000 ตัน บนเกาะทะลุอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ ถล่มและแตกออกเป็นสองส่วน  

“ที่พังลงมา เนื่องจากน้ำหนักมากเกินไป จึงสไลด์ลงมา ไม่เกี่ยวกับคลื่นลม ลักษณะแบบนี้ เราเคยเห็น อย่างเกาะเขาพิงกัน เกาะหินปูนของอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา เคยสไลด์ลงมา แล้วก็พิงกันอยู่ ในอนาคตก็จะพังลงมาเรื่อยๆ เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ" ผศ.ดร.ธรณ์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ กล่าว

160335098323

"อีกสาเหตุหนึ่งคือ โพรงถ้ำใต้น้ำที่มีอยู่จำนวนมากในทะเล อย่างเกาะห้อง ในเขตอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จังหวัดกระบี่ หรือถ้ำมรกต จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นเขาหินปูน ก็มีโอกาสถล่มลงมา เพราะริมชายฝั่ง มีถ้ำเล็กๆ ลึกเข้าไปในทะเล เมื่อด้านบนของเขาหินปูนหนักก็ถล่มลงลงมาได้ เพราะมีน้ำกัดเซาะ พายุดีเปรสชั่นแทบจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย" ผศ.ดร.ธรณ์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว

ช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา เขาหินปูนบนเกาะทะลุ เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี หรือเกาะตะปู ที่เป็นเกาะโขดหินขนาดเล็ก ทางด้านเหนือในเวิ้งอ่าวของเกาะเขาพิงกัน อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ก็เคยพังลงมา แต่ไม่ใช่หินก้อนใหญ่แบบนี้

"เคยมีเหตุการณ์แบบนี้ให้เห็นหลายครั้ง สมัยก่อนผมดำน้ำ ยังเคยเห็นที่เกาะห้าในอุทยานแห่งชาติเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ หรือหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีให้เห็นเป็นระยะ ไม่ใช่ปรากฏการณ์ 20 ปีเห็นครั้งหนึ่ง"

"ที่ผ่านมาเป็นหินก้อนเล็กๆ ถล่ม แต่ครั้งนี้เป็นหินก้อนใหญ่ที่เกาะทะลุ แล้วที่นักธรณีวิทยาบอกว่า ให้เฝ้าระวังเขาตะปู สักวันก็คงถล่มแยกกัน จะไปเฝ้าระวังยังไง เคยมีคนคิดที่จะสร้างคานค้ำยัน ถ้าทำได้ในเมืองจีนคงทำไปแล้ว" อาจารย์ธรณ์ กล่าว

เพราะเกาะหินปูนในเมืองไทยมีเป็นร้อยๆ เกาะ ทั้งฝั่งอ่าวไทย แถวๆ หมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนฝั่งอันดามัน ตั้งแต่เพังงา กระบี่ ตรัง และแถวจังหวัดสตูลตอนใต้

 

160335103522

(ขยะในทะเลคือปัญหาที่ต้องช่วยกัน)

"หินก้อนใหญ่แบบนี้ถล่มลงมา ปะการังตรงนั้นก็ตาย ไม่สามารถป้องกันและเฝ้าระวังได้ และไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ต้องแตกตื่น เพราะไม่เคยมีข่าวว่าหินถล่มทับคนตาย” อาจารย์ธรณ์ เล่าและบอกว่า 

"ตอนนี้ทะเลสวยงามมาก ถ้าอยากเฝ้าระวัง ควรไปดูว่า อีกกี่วันเต่ามะเฟืองจะวางไข่ที่ไหน เผื่อมีคนขโมย หรือมาช่วยกันเก็บขยะในทะเลที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทำสิ่งเหล่านี้ ดีกว่าแตกตื่นเรื่องธรรมชาติ แต่อย่างน้อยคนก็ได้รู้จักเขาหินปูนที่มีความสวยงามมาก และประเทศไทยกำลังผลักดันเขาหินปูนที่อยู่ตามเกาะแก่งตั้งแต่อ่าวพังงา กระบี่และตรัง เป็นแหล่งมรดกโลก

"เขาหินปูนที่มีปะการังอยู่รอบๆ มีธรรมชาติที่สวยงามแบบนี้ในเมืองไทย มีน้อยมากในโลก พวกเราจึงพยายามผลักดันให้เป็นแหล่งมรดกโลกมา 16 ปีแล้ว ก่อนผมตาย จะพยายามผลักดันให้สำเร็จ"

........................

ภาพจากเฟซบุ๊ค : อุทยานแห่งชาตินพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี