ถก"กฎหมายสื่อออนไลน์" ใช้ผิดชีวิตเปลี่ยน
ดย. จัดเสวนาประชาพิจารณ์
ร่าง“บทบัญญัติแทรกประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยฐานความผิดจากการใช้สื่อออนไลน์”
นายประวิทย์ ร้อยแก้ว อัยการพิเศษฝ่ายกิจการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นประธานเปิดการเสวนาประชาพิจารณ์ ร่าง “บทบัญญัติแทรกประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยฐานความผิดจากการใช้สื่อออนไลน์” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการป้องกันและคุ้มครองเด็กจากผลกระทบของการใช้สื่อออนไลน์วิเคราะห์ร่างบทบัญญัติแทรกประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยฐานความผิดจากการใช้สื่อออนไลน์และกำหนดแนวทางในการแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายในการคุ้มครองเด็กจากผลกระทบที่ได้รับจากการใช้สื่อออนไลน์
นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า จากการศึกษารายงานสถานการณ์ เกี่ยวกับการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กในการใช้สื่อออนไลน์ พบว่าเด็กคือกลุ่มเป้าหมายอันเป็นสำคัญ ที่สามารถถูกล่อลวงและหลอกล่อได้เป็นลำดับแรก โดยอาศัยเครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารแบบออนไลน์ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองเด็กจากการกระทำโดยอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารทางออนไลน์เป็นการเฉพาะ โดยมีเพียงพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นเพียงกฎหมายฉบับเดียวในปัจจุบันที่สามารถดําเนินการเกี่ยวกับผู้กระทำความผิด แต่ไม่ครอบคลุมถึงกระบวนการเยียวยาและการป้องกันการกระทำความผิดที่มีผลกระทบต่อเด็ก แต่ไม่ครอบคลุมถึงกระบวนการเยียวยาและการป้องกันการกระทำความผิดที่มีผลกระทบต่อเด็ก
นางสุภัชชา กล่าวเพิ่มเติมว่า การเสวนาในครั้งนี้ เป็นการรับฟังข้อมูลและความคิดเห็น ในการคุ้มครองเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สื่อออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำงานด้านเด็ก ผู้ทรงคุณวุฒิที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวกับเด็ก อาทิ นายประวิทย์ ร้อยแก้ว อัยการพิเศษฝ่ายกิจการต่างประเทศสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นประธานคณะทำงานยกร่างบทบัญญัติแทรกประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยฐานความผิดจากการใช้สื่อออนไลน์ ดร. มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด คณะทำงานร่างบทบัญญัติฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ที่มีองค์ความรู้ด้านเด็ก เข้าร่วมการเสวนาและร่วมหาแนวทางเกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองเด็กจากการใช้สื่อออนไลน์
โดยการร่างบทบัญญัติดังกล่าวจะมีการแทรกไว้ในประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 ลักษณะ 9 ตัวอย่างเช่น การล่อลวงเด็กและเยาวชนที่เป็นการกระทำผ่านอุปกรณ์โทรคมนาคมและระบบคอมพิวเตอร์ (online grooming) และการกระทำที่เป็นการสื่อสารเรื่องทางเพศโดยปราศจากเหตุอันควรกับบุคคลที่อายุไม่เกิน 18 ปี (unwanted sexting) การข่มขู่ว่าจะเผยแพร่และส่งต่อเรื่องที่ไม่เหมาะสมทางเพศของผู้ถูกข่มขู่ (sextortion) จะมีการแทรกไว้ในประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 ลักษณะ 9 ในเรื่องการกระทำที่เป็นการคุกคาม (stalking) และการกลั่นแกล้งทางออนไลน์(cyber bullying) เป็นต้น
กรมกิจการเด็กและเยาวชน เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจและหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็ก ร่วมกับคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็กให้เป็นไปตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาติ ตระหนักถึงการรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการป้องกันและคุ้มครองเด็กจากผลกระทบของการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อเป็นการหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหา รวมถึงการป้องกันมิให้กลุ่มบุคคล ที่ไม่หวังดีใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัยและเทคโนโลยีในการสื่อสารที่รวดเร็วใช้เป็นเครื่องมือประกอบกับการกระทำความผิด นำไปสู่การกำหนดแนวทางในการแก้ไขหรือปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ว่าด้วยฐานความผิดจากการใช้สื่อออนไลน์