วิจัยพบเด็กไทยสาวก่อนวัยเร็วขึ้น
วิจัยพบเด็กไทยสาวก่อนวัยเร็วขึ้น ระบุมีประจำเดือนครั้งแรกอายุน้อยที่สุดอายุ 7.96 ปี เผยปัจจัยนมวัวขนมกรุบกรอบ เฟรนซ์ฟราย เบเกอรี่ น้ำอัดลม ชา/กาแฟ การใช้พลาสติกมีผลเด็กสาวก่อนวัย ขณะที่เนื้อไก่ ไข่ไก่ น้ำมะพร้าว ขณะที่โรงเรียนเกินครึ่งไม่ได้สอน เด็กไม่มีความรู้ ชี้ชัดการเข้าสู่วัยสาวเร็วเป็นปัจจัยเชื่อมโยงการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อ
หลายประเทศที่กำลังประสบปัญหาการเข้าสู่วัยสาวของเด็กผู้หญิง รวมถึงประเทศไทย ซึ่งทางทีมนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้เปิดเผยสถานการณ์การเข้าสู่วัยสาวของเด็กไทย พบว่า มีแนวโน้มเร็วขึ้นกว่าในอดีต
วันนี้ (29ต.ค.2563) ศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าจากการสำรวจข้อมูลนักเรียนหญิงที่เป็นตัวแทนประเทศไทยจำนวน 8,161 ตัวอย่าง จาก 95 โรงเรียนพบว่า เด็กหญิงไทยเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกอายุน้อยที่สุดที่อายุ 7.96 ปี อายุมากที่สุด 16.92 ปี ขณะที่ค่าเฉลี่ยกลางของการมีประจำเดือนอยู่ที่อายุ 11.57 ปี ซึ่งน้อยกว่าอายุเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างในปี 2556 ที่พบว่าในขณะนั้น เด็กไทยมีประจำเดือนอายุเฉลี่ยอยู่ที่11.80 ปี
"ทีมวิจัยได้มีการศึกษาถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้าสู่วัยสาวของเด็กหญิง พบว่าปัจจัยบวกที่ชะลอการมีประจำเดือน ในส่วนของอาหารคือนมแพะ เต้าหู้ ผักผลไม้ เนื้อวัว/หมูไม่มีฮอร์โมน ด้านกายภาพ/พันธุกรรมคือมวลกล้ามเนื้อส่วนสูง น้ำหนัก ระดับไขมันในร่างกาย อายุแรกมีประจำเดือนของมารดา นอกจากนั้นหากมีการออกกำลังกายบ่อยก็ช่วยชะลอการมีประจำเดือน สำหรับปัจจัยลบที่เร่งการมีประจำเดือน ในส่วนของอาหารคือ ขนมกรุบกรอบ เฟรนซ์ฟราย เบเกอรี่ น้ำอัดลม ชา/กาแฟ นมวัว ด้านกายภาพคือสัดส่วนของไขมันในร่างกาย รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นการใช้ขวดพลาสติก การใช้เครื่องสำอาง/เวชภัณฑ์ การใช้วิตามินอาหารเสริม การรับสื่อเนื้อหาเรื่องเพศ อย่างไรก็ตาม การบริโภคเนื้อไก่ ไข่ไก่ และน้ำมะพร้าว ไม่ได้ส่งผลให้เด็กหญิงเข้าสู่วัยสาวเร็วหรือช้าลง"ศ.ดร.ปังปอนด์ กล่าว
ขณะที่ความรู้สึกของเด็กที่มีประจำเดือน พบว่า ร้อยละ 47 มีความกลัวการมีประจำเดือน ร้อยละ 45 ไม่แน่ใจ/จำไม่ได้ และร้อยละ 8 ไม่กลัว ส่วนความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตัวเมื่อมีประจำเดือน พบว่าร้อยละ 65.6 ทราบ และร้อยละ34.4 ไม่ทราบ โดยเด็กที่มีประจำเดือนแล้ว ร้อยละ 35.1% มีความรู้ความเข้าใจ ร้อยละ 22.7% ไม่มีความรู้ความเข้าใจ ขณะที่เด็กที่ยังไม่เคยมีประจำเดือน ร้อยละ18.9% มีความรู้ความเข้าใจ และร้อยละ23.3% ไม่มีความรู้ความเข้าใจ
ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ พบว่า เด็กที่มีความรู้มากกว่าไม่รู้ จะเป็นเด็กที่เรียนอยู่ในโรงเรียนหญิงล้วน เด็กที่อยู่กับพ่อแม่ เด็กที่อยู่ในกทม. เด็กในโรงเรียนขนาดใหญ่ เด็กที่ครอบครัวฐานะดี และเด็กที่รับสื่อเรื่องเพศมาก ส่วนเด็กที่ไม่มีความรู้เรื่องประจำเดือนมากกว่าที่รู้ จะเป็นเด็กในโรงเรียนสหศึกษา เด็กในโรงเรียนขนาดเล็ก เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เด็กที่ครอบครัวฐานะไม่ดี เด็กในต่างจังหวัดและเด็กที่รับสื่อเรื่องเพศน้อย
นอกจากนั้น สำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียนที่ไม่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายของเด็กชายเด็กและการดูแล พบว่า โรงเรียนสังกัดรัฐบาล ร้อยละ 44 ที่ไม่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายของเด็กชายเด็กหญิงและการดูแล ส่วนโรงเรียนสังกัดเอกชน ร้อยละ 55.0 ที่ไม่มีการเรียนการสอนดังกล่าว ส่วนประเภทโรงเรียนหญิงล้วน มีเพียงร้อยละ 25.0 เท่านั้น ที่ไม่มีการเรียนการสอน แต่โรงเรียนสหศึกษา ร้อยละ 47.3% ที่ไม่มีการเรียนการสอนดังกล่าว และประมาณ ร้อยละ 20 ของนักเรียนที่ไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยได้ในโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนที่ไม่มีผ้าอนามัยขายส่วนใหญ่ จะเป็นโรงเรียนเอกชน โรงเรียนนอกเขตเทศบาล โรงเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และโรงเรียนในภาคเหนือ
ศ.ดร.ปังปอนด์ กล่าวต่อว่าตอนนี้ในโรงเรียนมีจำนวนน้อยมากที่สอนเรื่องเพศศึกษา หรือการเรียนรู้ด้านเพศสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับประจำเดือน หรือการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เพราะจากการศึกษา พบว่า การเรียนรู้ด้านเพศสัมพันธ์ในโรงเรียน การมีเพศสัมพันธ์หมายถึงอะไร มีผลอย่างไรต่อการตั้งครรภ์ ถูกสอนครั้งแรกตอนเด็กเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ทักษะการปฎิเสธและการป้องกันการตั้งครรภ์ สอนครั้งแรก ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และสอนเรื่องการตัดสินใจ และการแก้ไขปัญหาและความตระหนักในการมีเพศสัมพันธ์ที่รับผิดชอบสอนครั้งแรก ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลการระบุค่ากลางของอายุการมีประจำเดือนครั้งแรกของเด็กไทยและสถิติที่เกี่ยวข้องที่สามารถนำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ มีเป้าหมายขับเคลื่อนสู่นโยบายให้กับหน่วยงานในระดับนโยบายที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมสุขภาพและอนามัยเจริญพันธุ์ของเด็กหญิงไทยรวมถึงศึกษาปัจจัยทางสังคม ปัจจัยทางการบริโภค และปัจจัยทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับการเป็นสาวก่อนวัยของเด็กไทย เพื่อแก้และลดความรุนแรงของปัญหา เช่น การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และปัญหาสุขภาพวัยรุ่น และพบข้อมูลน่าสนใจว่าในแต่ละปีมีเด็กอายุ 8-9 ปี ใช้สิทธิบัตรทองและสิทธิข้าราชการรักษา “ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยอันควร” ด้วยการใช้ “กดฮอร์โมน” ปีละ 400-500 คน มูลค่าการใช้ยาอยู่ที่58,668 บาท/คน
รวมถึงการเข้าสู่วัยสาวยังเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายอีกด้วย เพราะค่ารักษาพยาบาล ยาหยุดฮอร์โมน ที่ต้องฉีดทุก 3เดือนราคาเข็มละ 7,386 บาท ต้องใช้เวลารักษาประมาณ 3 ปี แล้วแต่กรณี รวมเป็นจำนวนเงิน 88,596 บาท ต่อคน (ราคาโรงพยาบาลรัฐบาล)
ด้านน.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า มีหลักฐานชี้ชัดว่าการเข้าสู่วัยสาวเร็วเป็นปัจจัยที่เชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพหลายอย่าง เช่น สุขภาพจิต สุขภาพของระบบอนามัยการเจริญพันธุ์ เบาหวาน โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม การเป็นสาวก่อนวัยจึงถือเป็นปัจจัยกำหนดสุขภาพ หากเราสามารถปรับวิธีดูแลเด็กไม่ให้เป็นสาวก่อนวัย จะเท่ากับเราส่งเสริมให้เด็กมีฐานทุนชีวิตในด้านสุขภาพที่ดี พร้อมเจริญเติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ลดอุบัติการณ์ของโรคไม่ติดต่อต่างๆ หรือ NCDs และโรคในระบบอนามัยการเจริญพันธุ์ได้ในอนาคต
งานวิจัยสถานการณ์การเริ่มเป็นสาวของเด็กหญิงในประเทศไทยที่สามารถนำมาอ้างอิงในระดับประเทศยังไม่เคยมีมาก่อน ส่วนใหญ่จะสำรวจในระดับพื้นที่เท่านั้น จึงเป็นที่มาของการสนับสนุนโครงการวิจัยในครั้งนี้ นอกเหนือจากเพื่อให้สังคมไทยมีฐานข้อมูลวิชาการที่เชื่อถือได้ในเรื่องนี้แล้ว
สสส.มีความคาดหวังว่าผลวิจัยในครั้งนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญที่สะกิดสังคมและผู้กำหนดนโยบาย ทั้ง 3 กระทรวง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งทั้ง 3 กระทรวงนี้ได้มีการจัดทำพ.ร.บ.การตั้งครรภ์ในวัยเรียน นำไปใช้ในการจัดทำนโยบาย มาตรการส่งเสริมให้เกิดความตระหนักว่ายังมีเรื่องการเลี้ยงดูเด็กรุ่นใหม่ให้ห่างไกลจากภาวะเป็นสาวก่อนวัยเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญและร่วมมือกันวางมาตรการป้องกันและรับมือทั้งในระดับครัวเรือนและระดับสังคม เป็นการสร้างสุขภาพซึ่งคุ้มค่ากว่าการซ่อมสุขภาพเมื่อปัญหา ที่สำคัญจะเป็นการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยเรียนร่วมด้วย เพราะหากเด็กไม่มีความรู้ ไม่เข้าใจ และมีร่างกายที่เติบโตเป็นวัยสาวเร็วก็ทำให้เขาเป็นกลุ่มเสี่ยงมากยิ่งขึ้น