ใช้ดิจิตอลโซลูชั่น ระดมทุนช่วยชาวเกาะเต่า
Koh Tao, Better Together ใช้ดิจิตอลโซลูชั่น ตั้งเป้าระดมทุน 1.944 ล้านบาท ช่วยคนขับเรือท่องเที่ยวขนาดเล็กบนเกาะเต่า รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 จ้างงานทำความสะอาดชายหาด เก็บขยะในท้องทะเล ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล
การฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบไปทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ที่ทำให้แต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดฟื้นตัวได้มากน้อยแตกต่างกัน "การท่องเที่ยวบนเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี" อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากรายได้ของชุมชนส่วนใหญ่หมุนเวียนอยู่ในภาคการท่องเที่ยว
ความเดือดร้อนของชาวชุมชนเกาะเต่า โดยเฉพาะกลุ่มคนขับเรือท่องเที่ยวขนาดเล็กที่เป็นกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะขาดรายได้หลักที่จะนำไปดูแลตนเองและครอบครัว โดยปัจจุบันพบว่าคนกลุ่มนี้มีอัตราการว่างงานสูงถึง 90%
"โครงการ Koh Tao, Better Together " ภายใต้ความร่วมมือกับโครงการไบโอฟิน ยูเอ็นดีพี ประเทศไทย ร่วมกับธนาคารกรุงไทยจัดตั้งขึ้น เพื่อระดับทุน โดยตั้งเป้า 1.944 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือคนขับเรือท่องเที่ยวขนาดเล็กบนเกาะเต่าที่ได้รับความเดือดร้อน ด้วยการจ้างงานระยะสั้น จำนวน 200 คน ดูแลรักษาความสะอาดชายหาด และลดปัญหาขยะทะเลบริเวณเกาะเต่า เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. 2563 - วันที่ 31 ม.ค. 2564
เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เกาะเต่าร่วมกับนายกเทศมนตรีตำบลเกาะเต่า พบว่า มีชาวบ้านท้องถิ่นประสบปัญหาหลายมิติทางยูเอ็นดีพี ประเทศไทย จึงมองว่าจะทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือ สนับสนุนให้ชาวบ้านอยู่รอดด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งคุณภาพชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมกัน
"โครงการนี้จะนำดิจิตอลโซลูชั่นมาช่วยแก้ปัญหา เพื่อสร้างทุกคนให้มีรายได้ โดยมีการจ้างงานที่ทำให้พวกเขาภูมิใจในอาชีพเดิม และร่วมดูแลสภาพแวดล้อม ดูแลท้องทะเล ระบบนิเวศด้วย เกาะเต่า เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวของไทยและเศรษฐกิจไทยเติบโตได้จากการท่องเที่ยว การสร้างความตระหนักดูแล ฟื้นฟูธรรมชาติ เป็นการลงทุนที่จะช่วยให้คนในพื้นที่มีรายได้ ช่วยเหลือทั้งชุมชน และโลก"เรอโน กล่าว
ความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นไม่สามารถทำโดยคนเดียวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ไชยันต์ ธุระสกุล นายกเทศมนตรีตำบลเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่าทุกอาชีพบนเกาะเต่าพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ 95% และคนไทย 5% แต่ตอนนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทย ทำให้ธุรกิจและชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวบ้านขับเรือนำเที่ยวพวกเขาไม่มีรายได้เลย และจะให้ไปทำอาชีพอื่นพวกเขาก็ไม่ถนัด โครงการ Koh Tao, Better Together จะเป็นโครงการที่ช่วยสร้างอาชีพ รายได้ และที่สำคัญเกิดการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจังจากการทำงานของชาวบ้าน เพราะโครงการดังกล่าวจะเป็นการจ้างงานให้ชาวบ้านเก็บขยะบนชายหาด และในท้องทะเล
"ทรัพยากรธรรมชาติ ชายหาด น้ำทะเล ปะการังล้วนเป็นแหล่งทุนของชาวบ้านในการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในเกาะเต่า แต่ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวจำนวนมาก ทุกคนได้ใช้ชายหาด น้ำทะเล และปะการังอย่างเต็มที่จนบางครั้งไม่ได้หวงแหหรือดูแลรักษาทรัพยากรท้องทะเลที่มีอยู่ โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ทุกคนหันมาดูแลรักษาท้องทะเล และมองหารายได้ อาชีพจากแหล่งอื่นๆ ช่วยสร้างโอกาส ทำให้พวกเขามีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเห็นคุณค่าชีวิตของตนเอง รวมถึงเกาะเต่าจะได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม อุดมสมบูรณ์ และเมื่อเปิดประเทศ เกาะเต่าจะได้กลับมาคึกคักอีกครั้ง"ไชยันต์ กล่าว
การระดมทุนมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกในการสร้างพลังแห่งการบริจาคด้วย
ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นโมเดลต้นทางที่ทำให้ชุมชนเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจะมีการสร้างดิจิตอลแพลตฟอร์มที่เกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินให้เติบโตและช่วยชาวบ้านให้มากที่สุด ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ทุกคนต้องเว้นระยะห่างทางสังคม การทำให้คนได้รับรายได้จ่ายค่าบริการ หรือสินค้า ต้องอาศัยดิจิตอลแพลตฟอร์ม อี-เพย์เม้นท์ โมบายแบงค์กิ้ง
ธนาคารกรุงไทยจะนำดิจิตอลแพลตฟอร์มทุกรูปแบบมาใช้กับชุมชน โดยเป็นการระดมทุนผ่าน QR Code ครั้งแรกของ UNDP ประเทศไทย ผ่านกรุงไทย e-Donation ซึ่งข้อมูลการบริจาคจะถูกส่งเข้าระบบลดหย่อนภาษีของกรมสรรพากรโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ ยังได้สนับสนุน โครงการในฐานะผู้บริจาคเริ่มต้น 30% เพื่อให้โครงการสามารถขับเคลื่อนช่วยเหลือประชาชน รวมถึงลงพื้นที่ช่วยเหลือพี่น้องชาวเกาะเต๋าด้วย
"Koh Tao, Better Together" เป็นการปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทะเล ลดปริมาณขยะบนเกาะและในทะเลบริเวณเกาะเต่า อีกทั้งยังช่วยสร้างสมดุลในการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และระบบนิเวศทางทะเลให้อยู่ด้วยกันอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ผู้สนใจสามารถสมทบทุน ผ่านกรุงไทย e-Donation มูลนิธิรักษ์ไทย UNDP กรุงไทยรักเกาะเต่าหรือ โอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทยเลขที่ 034-1-81121-1 ชื่อบัญชี มูลนิธิรักษ์ไทย