'การเมือง' และ ‘ความขัดแย้ง’ เริ่มแก้ด้วยการฟัง กับ 'ไกรวิน วัฒนะรัตน์'

'การเมือง' และ ‘ความขัดแย้ง’ เริ่มแก้ด้วยการฟัง กับ 'ไกรวิน วัฒนะรัตน์'

โปรเจคส่วนตัวที่อยากทำความเข้าใจคนเห็นต่างของเจ้าของเพจเกิน 8 บรรทัด อย่าง "ไกรวิน วัฒนะรัตน์" นำไปสู่การชวนคุยถึงทางออกของปัญหา “ความขัดแย้ง” ทางความเห็น และ "การเมือง" ของสังคมไทยวันนี้

วันที่อุณหภูมิการเมืองยิ่งนับวันยิ่งเพิ่มดีกรีความดุเดือดของสถานการณ์ ตั้งแต่เกมการเมืองในสภา ไปจนถึงเกมการเมืองบนถนน จนหลายครั้ง นำไปสู่การตั้งคำถามถึงจุดหมายปลายทางของความขัดแย้งในครั้งนี้ว่า ที่สุดแล้วมันจะกลับไปสู่ “คู่ขัดแย้ง” และ “รัฐประหาร” วังวนเดิมที่การเมืองไทยไม่เคยหนีห่างมาตลอดระยะเวลากว่า 8 ทศวรรษของการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างนั้นหรือ

ยิ่งไปกว่านั้น ความเห็นเรื่องบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ดูจะเป็นแม่กุญแจตัวใหญ่ที่นำไปสู่จุดที่ “ยอมกันไม่ได้” ระหว่างผู้คนในสังคมวันนี้ ราวกับว่ามันกลายเป็นกำแพงที่ทุกฝ่ายช่วยกันก่อจนนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงยิ่งกว่าเดิม

“เราเถียงกันจนไม่มีใครฟังใคร” นั่นเป็นอีกข้อเท็จจริงหนึ่งที่ อาร์ต - ไกรวิน วัฒนะรัตน์ เจ้าของเพจ เกิน 8 บรรทัด รู้สึกได้อย่างชัดเจนในความขัดแย้งระลอกนี้ และนำไปสู่การเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็น “ด้วยเหตุและผล” ระหว่างกลุ่มคนที่มีความเห็นสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง จนได้กลุ่มก้อนความเห็นออกมาทั้งหมด 8 ประเด็นหลักๆ รวมทั้งชุดคำที่เกี่ยวข้องกับความเห็นเหล่านี้ อีกจำนวนหนึ่ง (อ่านความเห็น และรายละเอียดทั้งหมดได้ ที่นี่ )

พูดกันตามตรง ตัวเขาเองก็มีธงนำในการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น และนำไปสู่การแสดงออกอะไรหลายๆ อย่างในขอบข่ายที่ตัวเอง แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อการแสดงจุดยืน และการเอาชนะคะคานกันด้วยอารมณ์ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร การเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนด้วยเหตุและผลน่าจะเป็นสารตั้งต้นสำคัญที่นำไปสู่ “คำตอบ” หรือ “ทางออก” ของความขัดแย้งที่ทุกคนกำลังเผชิญร่วมกันในขณะนี้ก็เป็นได้

160429391727

  • ทำไมถึงเกิดไอเดียเรื่องของการแลกเปลี่ยนมุมมองตรงนี้ขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เราสัมผัสคนรุ่นใหม่ที่เราได้สอน เด็กกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เขาบอกเขาไม่เอากับระบบที่เป็นอย่างนี้อยู่ เขาไม่เข้าใจเลยครับ เรื่องนี้ต้องเข้าใจนะว่า เพราะบริบทของสังคมที่เขาเติบโตขึ้นมามันเป็นอีกแบบนึงเลย เขาต้องการเปลี่ยน ส่วนตัวผมก็คิดว่าเราน่าจะแสดงจุดยืนบ้าง พอแสดงจุดยืนก็จะมีคนที่ไม่เห็นด้วยมาเถียง ก็เถียงกันไม่จบ พอยิ่งเปลี่ยนภาพโปร์ไฟล์เป็นของ คณะราษฎร 63 ก็ยิ่งเถียงแรงขึ้น เราก็คิดว่า เออ เราก็เถียงเก่งนะ เหตุผลเราก็ดีน่ะ แต่ทำไมเขาไม่หยุดเถียง หรือเราคิดผิดวะ มันไม่ใช่แล้วล่ะ เราก็เลยมานั่งคิดต่อว่า พอมีการแสดงจุดยืน ก็นำไปสู่การโต้เถียง อย่างนี้มันไม่ใช่แล้ว มันไม่ใช่ว่าใครถูก หรือใครผิด แต่มันไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา

จริงๆ แล้วหลักการที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องฟังเขาก่อน ต้องรู้จักเขาก่อน ต้องเข้าใจเขามากกว่าที่เขาเข้าใจตัวเองด้วยซ้ำว่าทำไมเขาถึงรู้สึกแบบนี้ ผมก็เลยรู้สึกว่าต้องทำแล้วล่ะ ที่สำคัญอีกอย่างคือ ผมเชื่อว่า การเปิดสภาก็ไม่ได้นำไปสู่การคุยเรื่องเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา เราก็พยายามทำออกมาให้ตรงไปตรงมาที่สุด สุภาพที่สุด นี่ถือว่าผมเสี่ยงมากเลยนะ ถ้าโดน นี่ผมก็โดนก่อนเพื่อนเลย แต่ที่ทำตรงนี้ก็เพราะ หนึ่งครับ มันต้องฟังเขาก่อน และต้องเข้าใจเขา

สอง พอฟังแล้วก็แยกออกมาเป็นประเด็น ที่สำคัญที่สุด นอกจากการเถียงแล้ว มันก็คือสิ่งที่เรียกว่า multi personal ไม่ใช่เรื่องที่ว่า เราเถียงกันเพราะไม่ชอบขี้หน้ากันเลย ถ้าคุยจบไม่ชอบกัน ก็แยกกันไป ไม่ต้องมาทำร้ายกัน ที่สุดแล้ว เมื่อประชาชนพูดแล้ว คนที่เป็นตัวแทนของประชาชนไม่ว่าคุณจะเป็นฝั่งไหน คุณพูดเถอะ แล้วด้วยวุฒิภาวะของคุณที่อยู่ตรงนั้น และมีคนจับจ้อง มันจะทำให้คุณพูดออกมาอย่างสุภาพ อยู่ในประเด็น และหลักการ ซึ่งมันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมในที่สุด ผมว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้น

160429402283

ที่สำคัญที่สุด เรื่องนี้ผมได้รู้ว่า เรื่องของการที่จะทำให้เขาคิดน่ะ ไม่ใช่การเถียง แต่เป็นการถาม และการฟังเพื่อฟัง ไม่ใช่การฟังเพื่อเถียง การฟังเพื่อเถียงเราก็ไม่ได้อะไร นอกจากยิ่งไม่เข้าใจเขามากขึ้นด้วย ซึ่งพอฟัง ปุ๊ป เออ โอเค เราก็ไม่ได้เห็นด้วยกับเขานะ 

ยิ่งไปกว่านั้น นี่อาจจะเป็น  Devil's advocate ด้วย เป็นการรีเช็คตัวเอง ซึ่งสำคัญ การที่ฝ่ายเราแสดงจุดยืนแบบนี้ แล้วคนก็เห็นด้วยๆ แล้วก็แชร์ แต่เราทำอะไรผิดไปบ้างหรือเปล่า เขาอาจจะเข้าใจเราผิดก็ได้ ซึ่งถ้าคุณเข้าใจว่า เขาเข้าใจเรายังไงแล้ว มันก็ปรับยุทธวิธีให้ดีขึ้นได้ จริงๆ มันก็คือ มาร์เก็ตติ้งน่ะครับ การสื่อสารแปรผลไปแบบนี้ แสดงว่าไอ้ที่สื่อสารไปนี่ ไม่ถึง เอากลับมาเปลี่ยน คุยกับเขา ทำความเข้าใจ ทางรัฐบาลก็อาจจะต้องทำแบบนี้ก็ได้ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยถาม ไม่เคยเปิดเวทีให้ 

การเมือง เรื่องนี้มีปัญหาแน่ๆ เพราะเด็กรุ่นนี้โตมากับบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าคนรุ่นก่อน เขาโตมากับ เฟซบุ๊ค โตมากับทวิตเตอร์ ไอจี โตมาในยุคที่ภารโรงจะคุยกับซีอีโอก็ได้ ใครสามารถคุยกับใครก็ได้ เพราะฉะนั้นเขาจึงรู้สึกว่า อือ มันต้องคุยกันได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร

ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เด็กก็ต้องเข้าใจว่าผู้ใหญ่เติบโตมากับบริบทยังไงในสมัยก่อน การเติบโตขึ้นมายุคหลังสงครามมันมีความยากลำบากอยู่ มันมีการต่อสู้เรื่องของสงครามเย็น เรื่องของคอมมิวนิสต์ แต่วันนี้สงครามเย็นมันหายไปแล้ว เราก็ต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่ เพราะมันเป็นธรรมชาติมนุษย์เลย คนเราก็เคยชินกับเรื่องที่มันเวิร์กมาเหมือนเดิม อย่างคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เขาทำอย่างนี้มากี่ปีแล้ว ผมก็คิดอยู่ประมาณนี้แหละครับ ผมไม่รู้เหมือนกันว่า มันออกมาแล้วจะเวิร์กหรือไม่เวิร์ก

  • ผลที่ออกมาแล้ว เป็นอย่างไรบ้าง 

มันถือเป็นจุดเริ่มต้นมากๆ บางคนก็ฟัง บางคนก็ไม่ฟัง ถามว่า พอใจไหม เราพอใจที่คนกล้าพูดเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา อย่างจริงใจ โดยคำที่ไม่หยาบคายมากขึ้น แต่ถามว่าจะมีใครเปลี่ยนหรืออะไรไหม วัดไม่ได้ ยังไม่มีสมมติฐานที่จะวัดตรงนี้ได้ และที่พอใจอีกอย่างก็คือ ตัวผมเองก็ได้เข้าใจคนอีกฝั่งหนึ่งมากขึ้น เพราะที่สุดแล้วมันมีพื้นที่เปิด ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มันเป็นการด่ากันหมดเลย แต่เรื่องของความเข้าใจผมว่าต้องใช้เวลามากกว่านี้ 

  • แต่มันก็ทำให้เห็นว่า จริงๆ แล้วพื้นที่กลางในการรับฟังกัน สำคัญ โดยเฉพาะในภาวะที่หมิ่นเหม่แบบนี้ 

ใช่ครับ แต่ธรรมชาติคนเรามันเป็นอย่างนี้ครับ สมมติว่าเรานั่งรถเมล์สาย 8 ออกจากเดอะมอลล์ บางกะปิ มีคนขึ้นมา 20 คนจะไปม็อบที่อนุสาวรีย์ออกจากแฮปปี้แลนด์ จอดป้ายแรกที่เดอะมอลล์ บางกะปิ ตะกี้มีคนขึ้นมา 10 คนแล้วป้ายนี้มีคนขึ้นมาอีก 20 คน ป้ายลาดพร้าว 94 มีคนลง 5 คนคนขึ้น 10 คน มาป้าย เซ็นทรัลลาดพร้าวมีคนลง 20 คนคนขึ้น 10 คน เลี้ยวซ้ายเข้าสะพานควายไม่มีคนลง มีคนขึ้นอีก 5 คน ถึงป้ายอนุสาวรีย์ ผมถาม จอดกี่ป้าย คำถามคืออย่างนี้ฮะ เวลาเล่นเกมนี้ คนเรา ถ้าไม่นับคนขึ้นคนลง ก็จะนับป้าย แต่ไม่ว่าคุณจะนับอะไรก็ตามมันไม่ได้ถูกเลย ถ้าคุณตั้งใจจะฟังจริงๆ เพราะคุณกำลังฟัง เพื่อที่จะตอบ คุณไม่ได้ฟังจริงๆ และนี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์

  • ถ้ามองสายตาคนนอกกระดานในสถานการณ์อย่างนี้ ทำไมจึงเกิดการไม่ยอมรับฟังกันจากขั้วความเห็นตรงข้าม 

สุดท้าย คนเราสนใจจุดยืนมากกว่าจุดสนใจของเขา จุดยืนว่าจะปฏิรูป หรือ ไม่ปฏิรูป ถ้าคุณเถียงกันเรื่องจุดยืนน่ะ มันก็ไม่จบหรอกเพราะมันสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง แต่ถ้าลองมองดีๆ จากการฟัง จะสังเกตเห็นเลยว่า คนที่มีจุดยืนต่างกันอาจจะมีจุดสนใจเหมือนกันก็ได้ จะใช้ภาษีอย่างไรให้คุ้มค่าเป็นเรื่องทั้ง 2 ฝ่ายสนใจ จะทำอย่างไรให้สถาบันกษัตริย์สง่างาม ทั้ง 2 ฝ่ายสนใจ ทำยังไงให้นักการเมืองเลวน้อยลง ทั้ง 2 ฝ่ายสนใจ 

การฟังจะทำให้ เราลดจุดยืนของตัวเอง และคนอื่นลง มองข้ามจุดยืนไป แล้วไปเห็นจุดสนใจมากขึ้น แล้วมันจะมีจุดสนใจบางอย่างที่เราเห็นร่วมกันได้ อย่างระบบราชการ นักการเมือง แค่นี้เองครับ ถ้าย้อนกลับมา แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ การกดทับมันไม่ใช่การแก้ปัญหา มันรอวันระเบิดในที่สุด

  • จนถึงตอนนี้ มันมีทางไหมที่ต่างฝ่ายต่างจะฟังกันมากขึ้นโดยที่จะไม่ไปจบที่ hate speech หรือ ความรุนแรง

ธรรมชาติของมนุษย์เวลามีปัญหากัน มีความขัดแย้งกัน วิธีการมันก็มีอยู่ไม่กี่อย่างหรอก คุยกัน เคลียร์กัน หรือ ถ้าไม่คุยไม่เคลียร์ก็ inore ไปเอง แต่เมื่อถอนไปก็จะมีเก็บความผิดหวังไว้อยู่ อย่างกรณีคนเสื้อแดง ทีนี้ ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น จะยังพอคุยกันได้ไหม ตรงนี้ขึ้นอยู่กับภาครัฐ กุญแจสำคัญอยู่ตรงนั้นเลยครับ โดยหลายๆ องค์กรก็มีส่วน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยเอง ถ้ามหาวิทยาลัยทุกที่มีการเปิดพื้นที่ มันก็ไม่ต้องไปหลบ ไปออกบนถนน รัฐบาลเปิดพื้นที่กล้าคุยเรื่องเหล่านี้สักทีเถอะครับ เพราะคำถามเหล่านี้ไม่มีวันจบ แล้วมันก็จะอยู่เป็นคลื่นใต้น้ำไปอย่างนี้ ซึ่งผมว่ามันน่ากลัวมาก ถ้าจะเก็บไว้รอ ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเลยว่าจะมองข้ามจุดยืนไปก่อน แล้วมุ่งไปหาจุดสนใจของพวกเขา 

มันต้องมีการฟังกันก่อน การฟังมันไม่ใช่แค่การมาฟังเขานะ เพราะคนที่พูดเขาก็จะรู้สึกว่า มีคนได้ยินสิ่งที่เขาต้องการสื่อสาร ตรงนี้สำคัญนะครับ ที่มันมีม็อบไปตรงโน้นตรงนี้ทุกวัน เพราะเขารู้สึกว่า เขาไม่เคยได้รับการฟัง นั่นคือเสียงของเขาไง มันมีโอกาสที่สังคมเราจะเรียนรู้ และพัฒนาต่อไปเหมือนกัน ไม่มีคำว่าสายหรอกครับ ถ้าเราจะเริ่มฟังกันวันนี้

160429404061