'อสม.- อสส.' กำลังสำคัญ ค้นหากลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ในชุมชน

'อสม.- อสส.' กำลังสำคัญ ค้นหากลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ในชุมชน

ไฟเซอร์ ผนึก THOHUN และพันธมิตร ส่งต่อความช่วยเหลือโควิด-19 ให้กับ รพ. และชุมชนในกลุ่มเสี่ยง เสริมการทำงาน อสส. อสม. ปราการด่านหน้า ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน โควิด-19

วานนี้ (12 พ.ย.) เครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย(THOHUN) ร่วมกับ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผนึกกำลังพันธมิตร แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เดินหน้ามาตรการเชิงรุกทุกมิติ เตรียมพร้อมรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ใน โครงการ “ส่งต่อความช่วยเหลือด้วยสถานการณ์ COVID-19 ให้กับโรงพยาบาลและชุมชนในกลุ่มเสี่ยง”

โดยส่งมอบชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หน้ากาก N95 และ Face shield ราว 5,000 ชุด พร้อมผลิตสื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่ COVID-19 และสาธิตเพื่อป้องกันตนเองของบุคลากรทางแพทย์ในโรงพยาบาลระดับภูมิภาค และอาสาสมัครสาธารณสุข รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานในชุมชนกลุ่มเสี่ยง จัดเตรียมถุงยังชีพ มอบแก่ 4 ชุมชนนำร่อง ได้แก่ ชุมชนตลาดไท จ.ปทุมธานี ชุมชนบางขุนเทียน กรุงเทพฯ และชุมชนห่างไกลความเจริญในพื้นที่จังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง

160517523439

“ดร.นพ.นิรุตติ์ ประดับญาติ” ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไฟเซอร์ ได้ใช้วิทยาศาสตร์และทรัพยากรความรู้ที่มีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลก เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ไฟเซอร์จึงทำทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะวิกฤตครั้งนี้ ทั้งการร่วมพัฒนาวัคซีนต้านโรคโควิด-19 และการมอบความช่วยเหลืออื่นๆ ที่ทำได้อย่างเต็มความสามารถ โดยมั่นใจอย่างยิ่งว่าวิทยาศาสตร์จะสามารถเอาชนะวิกฤตในครั้งนี้ได้แน่นอน (‘Science Will Win’)

ประเทศไทยถือว่าทำได้ดีอันดับต้นๆ ของโลกในการจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ขณะเดียวกัน ความเข้มแข็งของ อสม. ยังได้รับความชื่นชมจาก WHO ในการควบคุมโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามการเตรียมความพร้อมระลอก 2 ยังเป็นสิ่งจำเป็น

แม้ว่าจะผ่านช่วงการระบาดวงกว้างในเหตุการณ์สนามมวยและสถานบันเทิง เกิดการควบคุม ปิดน่านฟ้า เกิดสถานกักกันของรัฐ กระทั้งปัจจุบัน ไทยพบผู้ติดเชื้อในที่กักกันเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระยะเตรียมความพร้อมรับมือหากมีการระบาดในระยะถัดไปที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะประเทศอื่นๆ ซึ่งอยู่ตามพรมแดนอย่างเมียนมา มาเลเซีย ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง

160517523460

เพราะอะไรเราจึงต้องเตรียมความพร้อม ? “พญ.ธนาวดี ตันติทวีวัฒน์” รองผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในช่วง เสวนา จากกรุงสู่ชายแดน : จากความท้าทาย สู่ความร่วมมือเพื่อเผชิญโควิด-19 ระลอกสอง ภายในงาน แถลงข่าว “ผนึกกำลัง-ป้องกันโควิด-19 ในชุมชนกลุ่มเสี่ยง” ณ โรงแรมสยามแอ็ทสยาม ดีไซน์ กรุงเทพฯ โดยระบุว่า จากเดิมสถานการณ์ทั่วโลกใช้เวลากว่า 1-2 เดือนในการมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลักล้าน แต่ขณะนี้ ใช้เวลาเพียง 1-2 วัน หากระบบสาธารณสุขถึงจุดที่ไม่สามารถดูแลได้ จะทำให้การเสียชีวิตพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

สถานการณ์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่ต้องจับตา คือ เมียนมา เมื่อเดือนที่ผ่านมายังเป็นพื้นที่สีเหลือง แต่ระยะเวลาไม่นานกลายเป็นสีแดง และเนื่องจากไทยมีพรมแดนติดต่อกับเมียนมาระยะทางยาว โอกาสที่มีผู้เดินทางข้ามพรมแดนสูง นอกจากนี้ มาเลเซีย ยังมีรอยต่อติดกับ 4 จังหวัดของไทย ได้แก่ นราธิวาส ยะลา สงขลา และสตูล แม้จะมีการคัดกรองเข้มข้นแต่ประมาทไม่ได้ ทั้งนี้ ในส่วนของท้องถิ่นอาจไม่มี รพ.ขนาดใหญ่ ดังนั้น ภาระหน้าที่หลักในการดูแลประชาชนเป็นของ อสม. และ รพสต.

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก มูลนิธิศุภนิมิต แห่งประเทศไทย ซึ่งทำงานระดับท้องถิ่นกว่า 42 จังหวัด พบว่า ไทยมีประชากรกลุ่มเปราะบางตั้งแต่ก่อนโควิด-19 อาทิ กลุ่มคน เด็ก ในชุมชนยากจนตามตะเข็บชายแดน ห่างไกล หรือกลุ่มชนเผ่าซึ่งมีการแยกออกจากสังคมโดยรวม ปัญหาที่เจอ คือ ความยากจน การทำมาหากิน การเกิดโรค เช่น วัณโรค เอชไอวี มาลาเรีย แต่เมื่อโควิด-19 เข้ามาถือเป็นปัญหาใหม่ที่ทับซ้อน ความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้นจากการต้อปฏิบัติตามมาตรการภาครัฐ ในการล็อกดาวน์ มีการปรับตัว ปรับวิถีทำมาหากิน เศรษฐกิจถดถอย เหล่านี้เป็นความท้าทายที่ครอบคลุมไปในทุกประเด็นทางสังคม

160517523467

ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง” ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิต แห่งประเทศไทย ระบุว่า ความโชคดีของไทย คือ การควบคุมสถานการณ์ได้ดี โดยเฉพาะในภาคชุมชนจากจิตอาสาที่ทำงานหนักในการแปลงมาตรการของภาครัฐ เป็นข้อมูลสู่คนในพื้นที่ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมรับมือระลอก 2 จิตอาสาในชุมชนจึงมีความสำคัญเพราะไม่ได้ดูแลแค่ประชากรไทย แต่ยังรวมกลุ่มแรงงานข้ามชาติเข้าไปด้วย

“ในช่วงที่ผ่านมา อสส. (อาสาสมัครสาธารณสุข) อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) และ พสต. (พนักงานสาธารณสุขต่างด้าว) มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการป้องกันการแพร่ระบาด ดังนั้น จึงมีการติดอาวุธโดยเฉพาะ พสต. มีการจัดทำชุดสื่อการป้องกันตนเองจากโควิด-19 เพื่อนำไปกระจายความรู้ แก้ไขข่าวปลอม ทำให้ข้อมูลภาครัฐลงไปถึงกลุ่มเสี่ยงอย่างแท้จริง รวมถึงการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน วิชาการ และประชาสังคม อีกด้วย” ดร.สราวุธ กล่าว

160517523497

อสส. ซึ่งถือเป็นจิตอาสา ทำหน้าที่ดูแลให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดี มีกำลังใจที่ดี และภูมิคุ้มกันที่ดีทั้งจิตใจและความรู้ 1 คนดูแลราว 30 หลังคาเรือน “ศักดิ์ชัย กลิ่นสาด” ประธานอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ชุมชนบึงพระราม 9 ระบุว่า การทำงานในช่วงโควิด-19 เริ่มตั้งแต่ทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ว่าหากมีคนนอกพื้นที่เข้ามาต้องแจ้งให้ทราบทันที อสส. จะลงพื้นที่ภายใน 15 นาที

โดยเตรียมอุปกรณ์ป้องกันให้พร้อม และเอกสารสำหรับคนที่เข้ามาในพื้นที่ถึงการปฏิบัติตัว ต้องกักตัว 14 วัน แยกห้องนอน ห้องน้ำ ทานอาหาร หลังจากนั้นกลับมาดูอีกวันที่ 7 และวันที่ 14 หากมีอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก ไอแห้ง ท้องเสีย ทานอาหารไม่รู้รส จะมีการส่งต่อไปยังศูนย์บริการสาธารณสุขเพื่อทำเรื่องต่อโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล และกักตัวคนในบ้าน และสอบสวนโรคคนใกล้ชิดว่าไปที่ไหนมาบ้าง

“นอกจากนี้ ยังให้คนในชุมชนส่งตัวแทนมาบ้านละ 1 คน เพื่อมาเรียนรู้การป้องกันตนเองกับ อสส. แจกเจลแอลกอฮอลล์ ขณะเดียวกัน อสส. ก็ต้องดูแลตัวเองเช่นกัน ต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันให้พร้อม รีบอาบน้ำให้สะอาดหลังจากกลับมาถึงบ้าน กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ แยกซักผ้าจากคนใสครอบครัว รวมถึงการตรวจสุขภาพ เพราะ อสส. เป็นอีกหนึ่งกำลังในการดูแลสุขภาพ ดังนั้น ต้องป้องกันตัวเองไม่ให้เอาเชื้อไปติดคนอื่น” ศักดิ์ชัย กล่าว