เมื่อผู้หญิงพิการถูก 'ละเมิดทางเพศ' การทำหมัน-ตัดมดลูก ไม่ใช่ทางออก
แค่เรื่องราวผู้หญิงถูก"ล่วงละเมิดทางเพศ"ก็ย่ำแย่อยู่แล้ว และถ้าเกิดขึ้นกับผู้หญิงพิการที่ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ ลองนึกถึงภาพที่เกิดขึ้น และปัญหาที่ตามมา ถ้าอย่างนั้นสังคมควรมีทางออกอย่างไร
“เราไม่เคยตั้งคำถามว่า ทำยังไงไม่ให้เด็กผู้หญิงพิการถูกข่มขืน ไปที่ไหนคนก็พูดแต่ปลายทางเรื่องการทำหมัน นั่นหมายความว่า ไม่ต้องการให้เด็กคนนี้ท้องไม่พึงประสงค์ แต่คำถามคือ ก่อนที่เขาจะท้องไม่พึงประสงค์ มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมเราถึงไม่ห่วงตรงนั้น แล้วขณะนี้สังคมก็เป็นแบบนี้อยู่ เราจะทำยังไง” เสาวลักษณ์ ทองก๊วย นักสิทธิคนพิการ สำนักงานองค์การคนพิการสากล ประจำภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก กล่าวในงานเสวนา ‘ตีแผ่ความจริง เมื่อคนพิการถูกล่วงละเมิดทางเพศ’ ที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดขึ้น เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 ณ เดอะฮอลล์ กรุงเทพฯ
- ต้นเหตุของปัญหา
ข้อมูลจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยว่า เด็กและเยาวชนถูกกระทำความรุนแรงและถูกล่วงละเมิดทางเพศ ปีพ.ศ. 2560 มีจำนวน 21,218 ราย ปีพ.ศ. 2561 มีจำนวน14,237 ราย ปีพ.ศ.2562 มีจำนวน15,797 ราย
ประกอบกับข้อมูลช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลพบว่า ผู้หญิงพิการถูกข่มขืน 3-4คน/ปี โดยมีความพิการทางสมอง ออทิสติก สติปัญญาบกพร่อง ช่วงอายุ 14-16 ปี สะท้อนว่าเด็กหญิงพิการอายุต่ำกว่า 18 ปี มีแนวโน้มถูกล่วงละเมิดทางเพศมากขึ้น
“เวลาคุณเห็นผู้หญิงนุ่งกระโปรงสั้น สายเดี่ยว เอวลอย แล้วต้องไปข่มขืนเขาหรือ นี่คือโครงสร้างชายเป็นใหญ่ เกิดจากอคติทางเพศ ถ่ายทอดความคิดจากโครงสร้างทางสังคม เกิดการกระทำซ้ำ คนพิการมีอุปสรรคในการป้องกันตัวเอง ทั้งเรื่องการหลบหนี หรือการเรียนรู้ว่าพฤติกรรมแบบไหนเป็นการล่วงละเมิด จึงตกเป็นเหยื่อได้ง่าย” เสาวลักษณ์ แสดงความคิดเห็น
“ลำพังผู้หญิงธรรมดาถูกกระทำทางเพศ ก็ย่ำแย่แล้ว แต่ผู้หญิงพิการถูกล่วงละเมิดทางเพศ มันหนักหนาสาหัสกว่า แล้วปัญหาการถูกละเมิดทางเพศเป็นแค่ประตูบานแรกเท่านั้นเอง ยังมีความยากลำบากที่ต้องฝ่าข้ามอีกไปจนตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ ครอบครัวก็ต้องแบกรับด้วย หลังถูกกระทำบางคนมีลูกพิการ ก็เป็นภาระของพ่อแม่แก่เฒ่า กลไกของรัฐช่วยได้แค่ระยะหนึ่ง แล้วยังมีความจำกัดเรื่องการเป็นคดีความอีก” อรสม สุทธิสาคร ศิลปินศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2552 ผู้เขียนหนังสือ ‘บาดแผลของดอกไม้” ที่เปิดตัวในงานเสวนาครั้งนี้ แสดงความรู้สึกถึงสิ่งที่ได้พบ
“บางบ้านพ่อแม่ต้องอุ้มลูกมานอนแหมะอยู่หน้าบ้านเหมือนไม่มีความรับรู้อะไร พ่อแม่ไม่สามารถไปทำงานได้ ต้องมานั่งเฝ้ากลัวจะถูกล่วงละเมิดอีก แล้วยังชีพด้วยเบี้ยเลี้ยงคนพิการบ้าง คนชราบ้าง 2,000-3,000 บาท อยู่กัน 2-3 ชีวิต บางรายไม่สามารถดูแลได้ ต้องส่งไปสถานสงเคราะห์ของรัฐ ต้องตัดมดลูก ทำหมัน
บางรายพิการภายหลังคือนอนติดเตียง คุณยายอายุ 84 นอนติดเตียงมา 4-5 ปี ถูกลุงข้างบ้านล่วงละเมิดทางเพศ ลูกสาวเห็นคาตาเลย จากนั้นสองอาทิตย์ คุณยายก็จากไปเพราะติดเชื้อในกระแสเลือด คุณยายพ้นทุกข์ทรมานแต่ลูกที่อยู่ทุกครั้งที่พูดถึงแม่ก็ร้องไห้ ไม่อยากเป็นคดี เพราะต้องไปให้การซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในที่สุดก็ยอมความ เพราะไม่อยากสะกิดความรู้สึกตัวเองให้มันแตกร้าวหลายครั้งหลายหน” อรสม กล่าวและด้วยเหตุผลดังกล่าว เธอจึงอยากเล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือ‘บาดแผลของดอกไม้’ โดยเขียนถึง 15 เรื่องราว หลังจากลงพื้นที่ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เพื่อให้สังคมรับรู้ว่า ชีวิตผู้หญิงพิการเจอเรื่องละเมิดอย่างไรบ้าง
“ผลงานเขียนเล่มนี้เป็นงานที่หนักหน่วงที่สุดในชีวิตการทำงานของตัวเอง 33 ปี เป็นหนังสือเล่มที่ 54 คนรู้จักเราในภาพนักเขียนสารคดีสายดาร์ค ประเด็นปัญหาในสังคมทำมาแทบจะหมดแล้ว เรื่องนี้เป็นความสนใจส่วนตัว เราฝันอยากจะทำงานเล่มนี้มา 10 กว่าปีแล้ว ได้มาคุยกับจะเด็ด (มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ช่วยสนับสนุนการทำงาน
ก่อนลงพื้นที่เรารู้อยู่แล้วว่า หนักแน่ๆ ไม่อยากให้หยุดแค่คำว่า สงสารจัง หรือก่นด่าประณามคนทำ สู้มาให้ความรู้ นำความทุกข์ของพวกเขามาบอกเล่า เพราะเขาอยู่ร่วมสังคมเดียวกับเรา แปรความทุกข์เป็นพลัง แปรความมืดให้เป็นแสงสว่าง ร่วมกันต่อสู้ มีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง ร่วมรับรู้ เป็นเพื่อนกัน ดูแลช่วยเหลือหาทางออกให้กับเขา” อรสม บอกถึงที่มาของหนังสือ
- ตีแผ่ปัญหาให้รับรู้
“การต่อสู้ของผู้หญิงพิการมีข้อจำกัดมากกว่าคนทั่วไปในเรื่องการสื่อสาร บางรายพิการซ้ำซ้อน หูหนวก ตาบอด ต้องมีล่ามช่วยสื่อสารทำให้ใช้ระยะเวลานาน หรือมีหลักฐานไม่เพียงพอ แล้วมีเรื่องความยากจน ไม่มีเงินสู้คดี นำไปสู่การนิ่งเงียบหรือไกล่เกลี่ยมากขึ้น บางครั้งตำรวจไม่ช่วยเหลือ เพราะใกล้ชิดกับผู้ก่อเหตุเตะถ่วงจนเกือบหมดอายุความ” จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวถึงสิ่งที่ได้พบมา ขณะที่นักสิทธิผู้พิการมองเห็นว่า การมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความหมายมากกว่าแค่มีสุขภาพดี
“การเข้าถึงการมีสุขภาพที่ดี มันรวมถึงสิทธิทางการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่ง Health Care เป็นแค่ส่วนเล็กๆ ที่จะฟื้นฟูให้กลับไปสู่ภาวะความเป็นปกติของมนุษย์ แม้ว่าเราจะอยู่ในภาวะที่สังคมบอกว่าไม่ปกติ แต่เราก็ต้องอยู่ในสังคม มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราอยู่คนเดียวไม่ได้ เราต้องปฏิสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆ อย่างน้อยเราต้องมีเงินในกระเป๋า คุณถึงจะเข้ารับบริการทางสุขภาพที่ดีได้ แม้ว่ารัฐสวัสดิการจะจัดหาให้ แต่ก็ยังต้องใช้เงินอยู่ดี เมื่อไรคนยังกินไม่อิ่ม มันไม่มีทางนอนหลับแบบมีความสุขแล้วจะมีสุขภาพที่ดีได้”
อย่างไรก็ตาม การล่วงละเมิดทางเพศผู้พิการที่มีมากขึ้น จะเด็จ มองว่า ภาครัฐต้องตระหนักและลงมือแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง
“กลไกของรัฐ เช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ต้องทำงานเชิงรุก มีการสื่อสารสร้างความเข้าใจกับครอบครัวและสังคมว่า คนพิการมีแนวโน้มถูกล่วงละเมิดทางเพศ เราต้องดูแลให้มากขึ้น ถ้าป้องกันได้จะช่วยผู้หญิงได้อีกเยอะ” ผู้อำนวยการมูลนิธิก้าวไกลกล่าว และหลายคนมักเสนอทางออกเรื่องนี้คือ การทำหมัน ซึ่งนักสิทธิคนพิการไม่เห็นด้วย
“การสนับสนุนให้เด็กสตรีพิการทำหมันผ่าตัดมดลูกเท่ากับว่า เราสนับสนุนให้เกิดการข่มขืน เพราะการทำหมันและตัดมดลูกไม่ได้เป็นเครื่องหมายว่า เธอเหล่านั้นจะไม่ถูกข่มขืน ฝากถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าต้องมี ‘ศูนย์พิทักษ์สิทธิคนพิการ’เกิดขึ้นทุกจังหวัดและให้การช่วยเหลือผู้ถูกกระทำไปให้ถึงกระบวนการยุติธรรม”
- ปัญหามีทางออก
ขณะที่นักเขียนสารคดี มองว่า ภาครัฐและชุมชนคนในท้องถิ่น ต้องมีสถานที่ไว้ดูแลผู้พิการ
“เป็นไปได้ไหมที่องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) และชุมชน ร่วมมือกันทำ 'เดย์แคร์'สำหรับผู้พิการ ทั้งผู้ถูกกระทำและผู้ไม่ถูกกระทำ เช้าถึงเย็นมีคนดูแล พ่อแม่คนพิการจะได้ไปทำงานหากินได้ เขาก็จะไม่ถูกล่วงละเมิดซ้ำอีก มีเดย์แคร์ 2-3 แห่งนำร่องไปก่อน แล้วค่อยๆ ขยายไปทั่วประเทศ เหมือนที่เราไม่เคยมีศูนย์เด็กเล็กมาก่อน เราจะไม่ปล่อยให้พวกเขาทุกข์โดยลำพัง”
ทางพ่อของลูกพิการ ที่ถูกละเมิดรายหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า อยากให้ภาครัฐและคนในสังคมช่วยเหลือกันมากกว่านี้
“ลูกโดนกระทำตอนแรกไม่รู้จะไปพึ่งใคร ไปแจ้งความก็ไม่คืบหน้า เหมือนเราตัวคนเดียว พาลูกไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลตำรวจ เขาแนะนำให้มาที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เขาก็ช่วยเหลือ ความมืดมนก็สว่างขึ้น คู่กรณีโยนเงินมาผมก็ไม่เอา อยากให้เป็นคดีตัวอย่าง ให้เขารับโทษให้ได้ เดี๋ยวเขาไปทำคนอื่นอีก อยากฝากว่า ถ้าเห็นคนพิการคนด้อยโอกาส ช่วยๆ ดูแลเป็นหูเป็นตาให้ด้วยครับ”
ในส่วนของภาครัฐ วิจิตา รชตะนันทิกุล รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) มีความเห็นว่าทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน
“พม.ไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ต้องจับมือกับภาคประชาสังคม ท้องถิ่น ล่าสุดเพิ่งไปเปิดมูลนิธิสงเคราะห์เด็กบ้านฮอลแลนด์ที่ภูเก็ต ให้การดูแลเด็กทุกช่วงวัย และเปิดตลอดเวลา เราจะทำพื้่นที่ชุมชนปลอดภัยทั้งสตรีและเด็กไม่ว่าพิการหรือไม่พิการ ให้ 67 ล้านคน 21.5 ล้านครัวเรือน มีคุณภาพชีวิตที่ดี เราจะทำให้ 7,000 กว่า อบต.เข้มแข็ง มีเดย์แคร์ ไนท์แคร์ ผู้ปกครองไปฝากบุตรหลานให้ดูแลได้ เรามีศูนย์ปฏิบัติการที่ไม่เลือกปฏิบัติต่อคนพิการ ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ ไม่ว่าการล่วงละเมิดหรือเรื่องการทำงาน สามารถร้องเรียนต่อคณะอนุกรรมการได้ที่สายด่วน 1479 ส่วนเบอร์สายด่วนของกระทรวงฯการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เบอร์1300 ร้องทุกข์ร้องเรียนได้ทุกเรื่อง”