ไขปม! ‘กระสุนยาง’ อันตรายแค่ไหน ทำไมจึงไม่ควรใช้ 'สลายการชุมนุม'
ไขปมข้อถกเถียง "กระสุนยาง" คือทางเลือกที่เหมาะสำหรับการ "สลายการชุมนุม" จริงหรือ!?
ในปี 2558 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เครื่องมือควบคุมฝูงชนในการชุมนุมสาธารณะ โดยระบุว่า การสมควรกำหนดเครื่องมือควบคุมฝูงชน เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี
โดยสามารถเลือกใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนได้ ตามอุปกรณ์ที่ระบุไว้ทั้งหมด 48 ชนิด แต่เครื่องมือที่ยังคงเป็นปัญหาถกเถียงในด้านความปลอดภัยอย่างยาวนานคือ "กระสุนยาง" ที่ทั่วโลกต่างจับจ้องหากฝ่ายรัฐบาลเลือกใช้ "กระสุนยาง" เข้าสลายการชุมนุม พร้อมกับตั้งคำถามถึงความเหมาะสมว่ามันคือทางเลือกที่ดีแล้วใช่หรือไม่?
- "กระสุนยาง" อันตรายแค่ไหน
การศึกษาเรื่องความบาดเจ็บในการสลายการชุมนุมของ BMJ Journals ปี 2560 พบว่า 3% ของผู้ที่โดนกระสุนยางเสียชีวิตจากการบาดเจ็บ และจากกรณีศึกษาของคนกว่า 1,984 คน พบว่า 15% ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บกลายเป็นผู้พิการถาวร โดยส่วนใหญ่มักตาบอด โดยคนกลุ่มนี้ 80% ถูกยิงด้วยกระสุนยางผสมโลหะ นอกจากนี้ผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางส่วนใหญ่จะบาดเจ็บสาหัส และในจำนวนนี้ 3% (ราว 51 คน) เสียชีวิต
ศาสตราจารย์ Douglas Lazzaro ผู้เชี่ยวชาญด้านดวงตาของ สถาบัน NYU Langone Health กล่าวว่าการยิงกระสุนยางเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่ในที่กว้างถือเป็นเรื่องประมาท และอันตรายอย่างยิ่ง
เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงของสหรัฐกล่าวว่า ขอบเขตของการใช้กระสุนยางคือสามารถหยุดฝูงชน และบุคคลอันตรายไม่ให้เข้าใกล้เจ้าหน้าที่ได้
หากยิงในระยะใกล้กระสุนยางสามารถทะลุผิวหนัง กระดูกแตก และสามารถทำให้กะโหลกร้าวได้เช่นกัน
ในขณะเดียวกัน ความเห็นของ Robert Glatter เจ้าหน้าที่แพทย์ประจำห้องฉุกเฉิน และโฆษกของ American College of Emergency Physicians กล่าวว่า
“หากยิงในระยะใกล้กระสุนยางสามารถทะลุผิวหนัง กระดูกแตก และสามารถทำให้กะโหลกร้าวได้เช่นกัน นอกจากนี้กระสุนยางยังทำให้เกิดบาดแผลที่ส่งผลต่อสมอง หากโดนบริเวณท้อง ก็อาจทำให้บาดเจ็บที่ช่องท้องอย่างรุนแรง รวมถึงส่งผลต่อม้าม ลำไส้ และเส้นเลือด”
ผลวิจัยล่าสุดของแพทย์อเมริกันจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ สหรัฐฯ ชี้ว่า ไม่ควรใช้กระสุนยางหรือกระสุนพลาสติก รวมทั้งกระสุนชนิดอื่นๆ ที่มีการเคลมว่าไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เข้าปราบปรามฝูงชนในเหตุจลาจลหรือเหตุอาชญากรรมอื่นๆ เนื่องจากพบว่ามีโอกาสทำให้บาดเจ็บสาหัส เกิดความพิการอย่างถาวร หรือกระทั่งมีความเสี่ยงให้เสียชีวิตสูงกว่าที่คาดกันไว้
ผู้นำทีมวิจัยและสมาชิกขององค์การแพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า กระสุนยางหรือกระสุนชนิดที่คิดกันว่าปลอดภัยไม่ทำให้คนตายได้นั้น มีโอกาสจะทำให้เกิดการเสียชีวิตได้สูงกว่าที่คิด ทั้งในการยิงระยะประชิดและในการเล็งยิงจากระยะไกล
- "กระสุนยาง" ถูกใช้บ่อยแค่ไหน
กองทัพอังกฤษพัฒนากระสุนยางเมื่อ 50 ปีก่อน (ช่วงประมาณ พ.ศ. 2500) เพื่อใช้ในการควบคุมผู้ก่อการจลาจลชาตินิยมในไอร์แลนด์เหนือ จากนั้นมันก็ถูกใช้ควบคุมฝูงชนเรื่อยมา ทั้งในกองกำลังความมั่นคงของอิสราเอลต่อผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์ หรือในฝรั่งเศสที่ใช้ควบคุม ผู้ประท้วง “เสื้อเหลือง" ในปารีส
ศาสตราจารย์ John Jay College of Criminal Justice ในนิวยอร์กกล่าวว่า ตำรวจไม่จำเป็นต้องจัดทำเอกสารอย่างเป็นทางการเพื่อใช้กระสุนยางในเวลานั้น ดังนั้นแล้วจึงไม่มีข้อมูลระดับชาติที่บันทึกข้อมูลการใช้กระสุนยาง และไม่มีมาตรฐานที่ตกลงถึงขอบเขตการใช้กระสุนยางในระดับประเทศ
“มันนับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมาก”
สำหรับประเทศไทย ปัญหาเรื่องกระสุนยาง และกระสุนจริง ถูกวิพากษ์ในวงกว้างสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อการสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง เมษา- พฤษภา 53 ข้อมูลจาก ศปช. ระบุว่า ในช่วงการชุมนุมคนเสื้อแดง มีการเบิกจ่ายกระสุนจริง 597,500 นัด ก่อนส่งคืนให้กรมสรรพาวุธในภายหลัง 479,577 นัด เท่ากับมีการใช้กระสุนจริงไป 117,923 นัด และมีการเบิกกระสุนสำหรับการซุ่มยิง 3,000 นัด ส่งคืน 880 นัด เท่ากับใช้ไป 2,120 นัด
นอกจากกระสุนยาง รายงานแพทย์สหรัฐฯ ยังระบุถึงการทดสอบของการสลายการชุมนุมในอิรัก ที่พบว่ามีอุปกรณ์การสลายการชุมนุมที่เป็นอันตรายเพิ่มเติมคือ
แก๊สน้ำตา : ส่งผลต่อการมองเห็น และการหายใจที่ลำบาก
การฉีดน้ำแรงดันสูง : หากโดนลำตัวโดยตรง อาจส่งผลต่ออาการบวมของต่อมน้ำเหลือง และการบาดเจ็บทางร่างกาย
------------------
ที่มา : forbes, nbcnews, bmjopen.bmj, fastcompany