สรุปมาตรการ 'ประกันราคาข้าว' รู้ครบจบที่เดียว เช็คเลย!
เช็ครายละเอียดอีกที! โครงการ "ประกันรายได้เกษตรกร" โดยเฉพาะ "ประกันราคาข้าว" รวมถึงวิธีตรวจสอบสิทธิ และวิธีรับเงินจาก "ธ.ก.ส." ใครยังสงสัย มาล้อมวงอ่านตรงนี้ ที่เดียวจบครบทุกประเด็น
โครงการ "ประกันรายได้เกษตรกร" ได้รับความสนใจจากเหล่าเกษตรกรไทยเป็นอย่างมาก หลังจากที่ ครม. มีมติอนุมัติให้ "ธ.ก.ส." ดำเนินการโครงการประกันรายได้เกษตรกร วงเงินราว 6 หมื่นล้านบาท (3 พ.ย. 2563) โดยมีการจัดสรรออกมาเป็นมาตรการย่อยๆ หลายมาตรการ ได้แก่
- ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 พร้อม 3 มาตรการคู่ขนาน
- โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพชีวิตผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64
- ประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2 วงเงิน 10,042 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- วิธีตรวจสอบสถานะโอนเงิน ‘ประกันรายได้เกษตรกร’ จาก ‘ธ.ก.ส.’
- สรุป! 'ประกันรายได้เกษตรกร' เทียบ 'ข้าว' VS 'ยาง' ใครได้เท่าไหร่บ้าง
- ตรวจสอบเงินประกันรายได้เกษตร จ่ายส่วนต่าง 'ประกันราคาข้าว' งวดแรก เช็คที่นี่
- อัพเดท 'สินเชื่อ' จาก ‘ธ.ก.ส.’ เยียวยาเกษตรกร โครงการไหนยังกู้ได้บ้าง?
- โครงการประกันรายได้เกษตรกร เช็ครายละเอียด 'ข้าว' - 'ยางพารา' รัฐบาลจัดงบให้ 6 หมื่นล้าน
แต่ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในโครงการ "ประกันรายได้เกษตรกร" เห็นจะเป็นมาตรการ "ประกันราคาข้าว" ที่ชาวนาไทยหลายคนต่างตั้งหน้าตั้งตารอคอย ใครที่ยังสงสัยในรายละเอียดต่างๆ เราเอามาให้เช็คลิสต์กันง่ายๆ อีกครั้ง ดังนี้
- รายละเอียดมาตรการ "ประกันราคาข้าว" ให้ชาวนา
มาตรการ "ประกันราคาข้าว" เป็นมาตรการหนึ่งในโครงการ "ประกันรายได้เกษตรกร" เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและป้องกันความเสี่ยงด้านราคา ไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว โดยกลไกตลาดยังคงทำงานเป็นปกติ มีเกษตรกรที่มีคุณสมบัติถูกต้องได้รับเงินทั้งสิ้น 871,869 ราย เป็นเงิน 9,298 ล้านบาท ซึ่งจะจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าว ผ่านธนาคาร "ธ.ก.ส."
โดยเป็นการประกันรายได้ข้าว 5 ชนิด ความชื้นจะต้องไม่เกิน 15% ได้แก่
1. ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 14 ตัน
2. ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน
3. ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ตัน
4. ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน
5. ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน
- ใครมีสิทธิได้รับชดเชย "ประกันราคาข้าว" บ้าง?
1. ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรฯและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 31 ตุลาคม 2563 ยกเว้นภาคใต้ ต้องเป็นผู้ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2563 – 28 กุมภาพันธ์ 2564
2. เกษตรกรสามารถเข้าร่วมโครงการประกันฯ ได้แปลงละ 1 ครั้ง เท่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นการจ่ายเงินซ้ำซ้อน
3. การจ่ายเงินผ่าน "ธ.ก.ส." จะดำเนินการจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงตามช่วงระยะเวลาที่กำหนด (ภายใน 3 วันทำการ) นับตั้งแต่วันที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในแต่ละรอบ
4. เพื่อเป็นการลดภาระในการเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ฯ เกษตรกรไม่ต้องทำสัญญาประกันรายได้กับ ธ.ก.ส.
- มาตรการคู่ขนานโครงการ "ประกันรายได้เกษตรกร" ผู้ปลูกข้าวปี 2563/64
ประกอบไปด้วย 3 มาตรการ ได้แก่
1. มาตรการ "สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี" ปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 19,826 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 ธันวาคม 2564
2. มาตรการ "สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม" โดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ ตุลาคม2563-31ธันวาคม 2564
3. มาตรการ "ชดเชยดอกเบี้ย" ให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก วงเงิน 610 ล้านบาท ปีการผลิต 2563/64 ระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2563 - 31 ตุลาคม 2565 โดยทั้ง 3 โครงการจะใช้เงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 35,999 ล้านบาท
- โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพข้าว
นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563 /2564 โดยให้จ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับกรมการส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท เป็นการจ่ายก่อนในเบื้องต้น วงเงินจ่ายขาด 28,046 ล้านบาท
- วิธีตรวจสอบเงิน "ประกันรายได้เกษตร"
โครงการ "ประกันรายได้เกษตร" จะจ่ายเงินช่วยเหลือผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยเริ่มทำการโอนเงินงบประมาณจากส่วนกลาง ไปยังธนาคาร "ธ.ก.ส." แต่ละสาขา ไปเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 63 ที่ผ่านมา จากนั้นธนาคารสาขาได้ดำเนินการจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง เป็นงวดแรกทันที เกษตรกรผู้ปลูกข้าวแต่ละชนิดจะได้รับเงินส่วนต่างสูงสุด เช่น
- ข้าวเปลือกเจ้า รับเงินส่วนต่างสูงสุด 36,670 บ.
- ข้าวเหนียว รับเงินส่วนต่างสูงสุด 33,349 บ.
เกษตรกรที่เป็นชาวนา สามารถเช็ค ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. โอนเงินได้แล้ว กดที่ลิงค์ https://chongkho.inbaac.com/ กรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ถ้าเงินเข้าระบบจะแจ้งโอนเรียบร้อย แต่ถ้ายังไม่เข้าให้รอข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง ธ.ก.ส. จะทำการโอนให้เสร็จสิ้นภายใน 3 วันทำการ
- อัพเดท! กระทรวงเกษตรฯ เร่งจ่ายเงินให้ครบในสัปดาห์นี้
มีข้อมูลอัพเดทล่าสุด.. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าช่วยเหลือชาวนา 3 โครงการกว่า 5 หมื่นล้าน เร่งประสาน "ธ.ก.ส." โอนเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรอบที่ 1 กว่า 8 แสนราย ให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้
โดยในรอบที่ 1 ทางการได้โอนเงินส่วนต่างให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไปแล้ว ณ วันที่ 16 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา จำนวน 786,380 ราย เป็นเงินทั้งหมด 8,387 ล้านบาท ซึ่งเป็นเกษตรกรชาวนาที่ลงทะเบียนปลูกข้าวชนิดเดียว และจะโอนส่วนที่เหลือให้กับ เกษตรกรชาวนาที่ปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 18 พ.ย.2563 หรืออย่างช้าภายในสัปดาห์นี้
สำหรับจำนวนเกษตรกรชาวนารอบที่ 1 ซึ่งขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรฯ มีจำนวน 839,682 รายซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งข้อมูลให้กับ "ธ.ก.ส." เพิ่มเติม เพื่อดำเนินการโอนเงินส่วนต่างต่อไป