สภาพัฒน์ฯ เผยไตรมาส 3/63 คนไทยดื่มเหล้า สูบบุหรี่ลดลง
สภาพัฒน์ฯ ระบุสถานการณ์ดื่มสุราและสูบบุหรี่ไตรมาส 3/63 คนไทยบริโภคสุรา ยาสูบลดลง 5.5% โดยสุราลดลง 7.5% ยาสูบลดลง 2.5% แนะเพิ่มกลไกขับเคลื่อนงานระดับชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น ทุกจังหวัดรุกงานควบคุมสุราและยาสูบในพื้นที่
วันนี้ (19 พฤศจิกายน) ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ และเลขาการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า ยาสูบและสุราเป็นสาเหตุของ "ภาระโรค" หรือความสูญเสียทางสุขภาพจากการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของคนไทยถึง 15.13% หรือเกือบ 1 ใน 6 ของภาระโรคทั้งหมดในปี 2557
นอกจากนี้ยังส่งผลลบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งระดับครัวเรือน ชุมชน และประเทศ เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม จากรายงานสถานการณ์การดื่มสุราและการสูบบุหรี่ไตรมาส 3 ปี 2563 โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงเล็กน้อย คือ ลดลงเฉลี่ย 5.5%แบ่งเป็นบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง 7.5%และการบริโภคบุหรี่ลดลง 2.5%
“สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้คำแนะนำว่า การดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มุ่งเน้นมาตรการในระดับประเทศ แต่ยังขาดการให้ความสำคัญกับกลไกการจัดการปัญหาระดับชุมชนท้องถิ่น ที่มีความใกล้ชิดและเข้าใจบริบททางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของพื้นที่ โดยต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม. และชุมชนท้องถิ่น ให้เกิดเป็นข้อตกลงร่วมของคนในชุมชน จะช่วยให้การดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” ศ.นพ.ประกิตกล่าว
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า คำแนะนำดังกล่าวสะท้อนว่า การควบคุมยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เท่านั้นตามที่หลายๆ ฝ่ายเข้าใจ แต่หน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการช่วยควบคุมด้วย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560
จึงกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด และคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สาธารณสุข และภาคประชาสังคมเป็นกรรมการ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการควบคุมและลดการบริโภคผลิตภัณฑ์ทั้งสองชนิดในพื้นที่แบบมีส่วนร่วม
“อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงคือยังมีคนทำงานด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบในพื้นที่ไม่กี่คน และมีการขับเคลื่อนในระดับจังหวัดหรือพื้นที่ค่อนข้างน้อย ยังไม่ได้รับความสำคัญจากภาครัฐในพื้นที่ที่ควรเป็นฝ่ายชักนำและสนับสนุน จึงขอเรียกร้องถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พิจารณาข้อเสนอของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดังกล่าว ส่งผ่านไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสุบระดับจังหวัด ขับเคลื่อนงานควบคุมสุราและยาสูบระดับพื้นที่เพื่อลดปัญหาจากสินค้าทั้งสองชนิดและเพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืนของจังหวัดต่อไป” ศ.นพ.ประกิตกล่าว