'กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้' เคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน
เต็ดตรา แพ้ค เดินหน้า “โครงการกล่องยูเอชที รีไซเคิลได้” ระยะที่ 5 ส.ค.63 - ก.ค. 64 ขยายพื้นที่เป้าหมายและยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วไป ในการคัดแยกกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วสำหรับการรีไซเคิล ตั้งเป้ารวบรวมกล่องเครื่องดื่ม 1,100 ตัน
วานนี้ (19 พฤศจิกายน 2563) เต็ดตรา แพ้ค ประกาศดำเนินงาน “โครงการกล่องยูเอชที รีไซเคิลได้” (Beverage Carton Recycling Project: BECARE) ระยะที่ 5 ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 ถึงกรกฎาคม 2564 โดยจะขยายพื้นที่เป้าหมายและยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วไป ในการคัดแยกกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วสำหรับการรีไซเคิล พร้อมตั้งเป้าการรวบรวมกล่องเครื่องดื่มให้ได้ 1,100 ตัน ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานที่เข้าร่วมในปัจจุบัน รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายใหม่ของกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหม่อีกกว่า 70 แห่ง
โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่ประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมผู้ผลิต ผู้ประกอบการรีไซเคิล ผู้รณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน และหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น (ทั้งเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล) โครงการกล่องยูเอชที รีไซเคิลได้ ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2559 โดยเต็ดตรา แพ้ค และพันธมิตรในภาคอุตสาหกรรม บริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด และ บริษัท ไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด รวมถึงกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กลายเป็นหนึ่งในโครงการที่มีความสำคัญมากที่สุดในการสร้างความตระหนักรู้ถึงทางเลือกในการจัดการทิ้งขยะ และเกิดเป็นความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและกิจกรรมเพื่อสังคม
ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา โครงการกล่องยูเอชที รีไซเคิลได้ ได้จัดกิจกรรมโร้ดโชว์และให้ความรู้ร่วมกับหน่วยงานการปกครองส่วนท้องถิ่นและสำนักงานสิ่งแวดล้อมส่วนภูมิภาค โดยมุ่งเน้นไปที่ขั้นตอนง่ายๆ เช่น การคัดแยกและจัดการกล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้วอย่างถูกต้อง กิจกรรมเหล่านี้ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยโครงการฯ ได้ขอให้เครือข่ายพันธมิตรที่ครอบคลุม 13 จังหวัด จัดให้มีจุดรวบรวมกล่องในพื้นที่การดำเนินงานรูปแบบนี้ยังช่วยสร้างความแข็งแกร่งในการทำงานร่วมกันในระยะยาวเพื่อสร้างกระบวนการจัดเก็บ รวบรวม และรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มอย่างยั่งยืน ซึ่งเห็นผลที่ชัดเจนจากปริมาณกล่องที่เก็บรวบรวมได้แล้วมากกว่า 2,300 ตัน จากเทศบาล ชุมชน และหน่วยงานท้องถิ่นมากกว่า 300 แห่ง