อีก 6 เดือนไทยพร้อมผลิต "วัคซีนโควิด-19"
เผยอีก 6 เดือนไทยพร้อมผลิตวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ฯ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ฯของไทยเป็นฐานภูมิภาคอาเซียน กำลังผลิตเดือนละ 15 ล้านโด๊ส คาดไทยต้องการเดือนละ 2 ล้านโด๊สส่วนที่เหลือทยอยส่งออกให้เพื่อนบ้าน เตรียมสรุปกลุ่มเป้าหมายแรกภายในธ.ค.นี้
เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2563 ที่กรมควบคุมโรค ในการแถลงข่าว ความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า จากการบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ประกาศผลการทดลองวัคซีนโควิด-19ในคนระยะ 3 พบว่าวัคซีนมีประสิทธิผลในการป้องกันเฉลี่ยอยู่ที่ 70 % โดยมีการทดลองวิธีการฉีดวัคซีนเป็น 2 แบบด้วย ฉีดครึ่งโด๊สตามด้วยเต็มโด๊ส มีประสิทธิผล 90 % และฉีดเต็มโด๊ส 2 เข็ม ประสิทธิผล 62 % ซึ่งแผนงานของบริษัทจะมีการเก็บข้อมูและวิเคราะห์ต่อไปให้มั่นใจมากขึ้น เพื่อทยอยยื่นข้อมูลให้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของอังกฤษและยุโรปพิจารณาจนกว่าจะขึ้นทะเบียน ทั้งนี้ บริษัทฯและมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดมีความมุ่งมั่นที่จะขยายกำลังผลิตดวัคซีนให้ประชากรโลก โดยตั้งเป้า 3,100 ล้านโด๊สต่อปี
สำหรับประเทศไทย ได้มีการลงนามบันทึกข้อตลงกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้าในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทยในการร่วมผลิต โดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัดของประเทศไทยจะเป็นผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี คาดว่านับจากนี้อีก 6 เดือนจะเริ่มผลิตได้และขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ของประเทศไทย และน่าจะมีวัคซีนรูปแบบนี้ใช้ได้ราวครึ่งปีแรกของปี 2564 เพื่อให้บริการการผลิตวัคซีนให้เพียงพอในประเทศไทยและประเทศอาเซียน ซึ่งประเทศไทยได้มีการจองซื้อเบื้องต้นเและจะผลิตที่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ฯ จำนวน 26 ล้านโด๊ส สำหรับคนไทย 13 ล้านคน จะเป็นการทำให้ประเทศไทยสามารถจัดหาวัคซีนได้ในเวลาใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ฯมีกำลังการผลิตได้ปีละ 180-200 ล้านโด๊ส หรือเดือนละ 15 ล้านโด๊ส
“เมื่อสามารถผลิตวัคซีนได้แล้ว กรมควบคุมโรคจะเป็นจัดซื้อและกระจายให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งกรมจะจัดทำแผนการใช้วัคซีนว่าแต่ละเดือนประเทศไทยต้องการเท่าไหร่ เพื่อนำไปมาวางแผนร่วมกับบริษัทฯ จากนั้นส่วนที่เหลือจึงจะแบ่งสัดส่วนทยอยส่งออกให้กับประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้าได้วางให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนโควิด-19ในภูมิภาคอาเซียน ส่วนภูมิภาคอื่น เช่น อเมริกาใต้วางไว้ที่ประเทศบราซิล เอเชียใต้ที่ประเทศอินเดีย รวมถึง อังกฤษ เกาหลีใต้ เป็นต้น “นพ.นครกล่าว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า เบื้องต้นคาดว่าประเทศไทยต้องการวัคซีนเดือนละ 2 ล้านโด๊ส เพราะวัคซีนมีอายุสั้นจึงต้องดูการใช้และการผลิตให้สอดคล้องกัน ขณะที่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ฯมีกำลังผลิตเดือนละ 15 ล้านโด๊ส ซึ่งส่วนที่เหลือ ตามข้อสัญญาเมื่อผลิตแล้วจะส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ประเทศไทยจะต้องอนุญาตก่อน สำหรับการกำหนดกลุ่มเป้าหมายคนไทยที่จะได้รับวัคซีนในล็อตแรกที่มีการจองซื้อไว้ 26 ล้านโด๊สนั้น อนุกรรมการสร้างเสริมป้องกันโรค ในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ(บอร์ดวัคซีน)จะพิจารณาในเร็วๆนี้ คาดว่าภายในเดือนธันวาคม 2563 จะมีการกำหนดกลุ่มที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม โดยหลักการจะพิจารณากลุ่มเป้าหมายในการรับวัคซีนจาก 1.ฉีดในกลุ่มเสี่ยงสูงที่ติดเชื้อแล้วจะเสียชีวิต 2.โอกาสแพร่เชื้อสูง และ3.อื่นๆ ซึ่งหากดูจากในช่วงวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 กลุ่มแรกที่ได้รับคือผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว ที่ติดเชื้อแล้วโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
สำหรับการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19ในประเทศไทย ปัจจุบันมีวัคซีนต้นแบบที่พัฒนาโดยนักวิจัยจำนวน 7 แพลตฟอร์ม รวมกว่า 20 ชนิดที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา ประกอบด้วย 1.แบบmRNA พัฒนาโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวิจัยและพัฒนาวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเตรียมการทดลองในมนุษย์ระยะที่หนึ่ง คาดว่าจะเริ่มในราวช่วงสงกรานต์ปี 2564 2. แบบ DNA พัฒนาโดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด อยู่ระหว่างการเตรียมการทดลองในมนุษย์เช่นเดียวกัน โดยจะไปทดลองระยะที่ 1 ในประเทศออสเตรเลีย ก่อนจะกลับมาทดสอบในคนระยะที่ 2 ที่ประเทศไทย 3.แบบโปรตีนซับยูนิต(Protein Subunit) พัฒนาโดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผ่านขั้นตอนทดสอบประสิทธิภาพ/ความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง
4.วัคซีนเชื้อตาย(Inactivated) พัฒนาโดยองค์การเภสัชกรรม อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง ,ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ในขั้นพัฒนาวัคซีนตัวเลือกระดับห้องปฏิบัติการ 5.คล้ายอนุภาคไวรัส (Viral Like Particle:VLP) พัฒนาโดย คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช และสวทช.อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง 6.แบบใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector) พัฒนาโดยสวทช. อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง และ7.แบบเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์(Live-attenuated) พัฒนาโดยสวทช.อยู่ในขั้นทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง