เรื่องดีๆ ของไทยที่จะสู้กับต่างชาติใน'โลกอนาคต'
"โลกอนาคต" หาก"มหาอำนาจ" ถูกสลายขั้ว ระเบียบโลกก็คงต้องเปลี่ยน ถ้าถึงตอนนั้นการค้าการลงทุนจะไม่เหมือนเดิม แล้วประเทศไทยมีอะไรดีที่จะสู้กับต่างชาติได้บ้าง
เป็นที่ทราบกันดีว่า หลายสิบปีที่ผ่านมา อเมริกาเป็นมหาอำนาจ เป็นผู้จัดระเบียบโลกที่หลายประเทศต้องเชื่อฟัง แต่ปัจจุบันมหาอำนาจกำลังจะเปลี่ยนขั้ว
เนื่องจากอเมริกามีปัญหาภายใน ทั้งเรื่องการว่างงาน การระบาดของไวรัสโควิด ฯลฯ ส่วนจีนในช่วงหลายสิบปีมีการวางรากฐานพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวไกลทางการค้าและการลงทุน ประกอบกับประกาศสู้รบกับสงครามความยากจนในประเทศ และการพัฒนาอีกหลายเรื่องที่จะทำให้จีนขึ้นเป็นมหาอำนาจในอนาคต
ถ้าอย่างนั้น หากมีการจัดระเบียบโลกใหม่ ไทยที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจล้าสมัย ผูกขาดการค้า และขาดแคลนเทคโนโลยีที่ดี รวมทั้งไม่ทัน Disruptive Technology นอกจากนี้กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย มีปัญหาการเมืองที่ปลดล็อคไม่ได้ การกระจายรายได้ไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ และผลิตคนไม่ตรงกับความต้องการของตลาด พร้อมๆ กับปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น
หากระเบียบโลกในอนาคต(อ่านล้อมกรอบด้านล่าง) เปลี่ยนไป ไทยต้องปรับตัวอย่างไร รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ในช่วงปีสองปีนี้ ประเทศไทยแค่มีอยู่มีกิน รอดพ้นจากไวรัสโควิด ก็น่าจะดีแล้ว แต่ในช่วง 3-5 ปี น่าจะอยู่ในช่วงกับดักรายได้ปานกลางส่วนบน และมีแนวโน้มจะตกลงสู่ช่วงกับดักรายได้ปานกลางส่วนล่าง เนื่องจากมีจุดอ่อนหลายเรื่อง
การเกษตรไทยมีดีอย่างไร
ว่ากันว่าประเทศไทยมีจุดเด่นเรื่องงานฝีมือ ความคิดสร้างสรรค์ การเกษตร และแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม
แล้วทำไมไทยไม่สามารถพัฒนาสินค้าทางวัฒนธรรมเหมือนเกาหลี หรือพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเหมือนเวียดนาม และอีกหลายเรื่อง
"อุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือ การเกษตรสามารถควบคุมได้ตั้งแต่ต้นทุนที่สูงที่สุด เมล็ดพันธุ์มีต้นทุนถึง 30 % ไทยมีเทคโนโลยีการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์และสายพันธุ์ดีอันดับต้นๆ ของโลก มีไม่กี่ประเทศที่มีศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าว ศูนย์วิจัยไม้ผล ศูนย์วิจัยพันธุ์พืชไร่ เกือบทุกจังหวัด
ที่ผ่านมา คนไทยสามารถสร้างผลผลิต รักษาคุณภาพผลผลิต แปรรูปผลผลิตให้เป็นอาหารคน อาหารสัตว์ สกัดเป็นสารที่ใช้ในเวชภัณฑ์ต่างๆ เรื่องเหล่านี้คนไทยเก่ง " อาจารย์ปิติ เล่า เพื่อให้เห็นว่า การเกษตรบ้านเราไม่ธรรมดา แต่ทำไมพัฒนาไปไม่ไกล
"เรามีนักปรับปรุงพันธุ์พืชจำนวนมาก แต่เราไม่มีกฎเกณฑ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ถ้าเป็นอย่างนี้ วันหนึ่งคนเก่งๆในประเทศไทย อาจไปจดทรัพย์สินทางปัญญาที่อื่น เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ "
นอกจากนี้ อาจารย์ปิติ ยังมองว่า การขยายการลงทุนทางการเกษตรเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไทยสามารถพัฒนาที่ดินและแรงงานที่อุดมสมบูรณ์ในอาเซียนและเอเชียใต้เชื่อมโยงกับการเกษตรบ้านเรา เพื่อแปรรูปต่อยอด เราจะไปได้ไกล
“ในอินเดียมีมะม่วงที่อร่อยที่สุดในโลกชื่อ"อัลฟองโซ" ถ้าเอาไปปลูกในพาราณสีจะได้รสชาติที่ดีที่สุดในโลก แต่พอถึงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนของทุกปี มะม่วงที่ดีที่สุดในโลกจะมีผลผลิตพร้อมกัน กองเป็นภูเขาแข่งกันขายในตลาด จากนั้นอีกสองสามสัปดาห์ก็จะเน่าพร้อมกันทั้งประเทศ
คนอินเดียไม่มีเทคโนโลยีแปรรูปผลผลิตทางเกษตร ไม่สามารถทำมะม่วงอบแห้ง น้ำมะม่วง ฯลฯ เรื่องเหล่านี้คนไทยเก่ง ถ้าไทยร่วมมือกับอินเดีย ทั้งสองประเทศก็จะมีโอกาสเติบโตเรื่องนี้ แต่ต้องระวังเมล็ดพันธุ์ดีๆ ของไทยที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง หากนำไปปลูกที่อื่น อาจถูกขโมยทรัพย์สินทางปัญญา"
รามเกียรติสนุกๆไม่ได้อยู่ที่อินเดีย
อุตสาหกรรมทางความคิดสร้างสรรค์ เป็นอีกเรื่องที่ รศ.ดร.ปิติ อยากให้มองย้อนไปถึงรากเหง้าความเป็นไทย ทั้งเรื่องประเพณี วัฒนธรรม สังคม ประวัติศาสตร์และศาสนา ซึ่งหลายประเทศไม่ได้มีแบบไทย
"ทั้งๆ ที่คนไทยเอารามเกียรติ์มาจากรามายณะอินเดีย แต่คนอินเดียชอบรามเกียรติ์ไทยมากกว่า เพราะคนอินเดียไม่เคยเห็นทศกัณฐ์ติงต๊อง และหนุมานทะลึงๆ หนุมานอินเดียตรงกันข้ามกับหนุมานไทยจะไม่มีเมีย บำเพ็ญเพียรถือพรหมจรรย์ มอบความรักให้กับพระรามและนางสีดาเท่านั้น เรื่องไทยๆ แบบนี้จึงขายได้ และขายดี แต่ปัญหาคือ เราจะสร้างมูลค่าในสิ่งที่เรามีอย่างไร
อีกเรื่องที่ผมอยากยกตัวอย่าง ก็คือ ชนชั้นกลางในอินเดีย เวลาลูกเรียนได้เกรดดีๆ รางวัลที่เขาให้กับลูกคือ พามาเที่ยวสวนน้ำรามายณะพัทยา เขาบอกว่า น้ำใส หอมยาฆ่าเชื้อ คนอินเดียรู้สึกปลอดภัย คนอินเดียเวลามาเที่ยวเมืองไทยจะชอบมาก พวกเขาจะรู้สึกว่า เดินเที่ยวข้างนอกไม่โดนปล้น กินอาหารไม่ท้องเสีย นี่คือความปลอดภัยสำหรับคนอินเดีย เพราะรถทัวร์ในอินเดีย ผู้โดยสารไม่ได้นั่งแค่ในรถ ต้องเกาะบนหลังคาและใต้ท้องรถ แต่รถประจำทางไทยประตูปิดสนิท มีที่นั่งด้วย"
ในเรื่องอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ อาจารย์ปิติ มองว่า เมืองไทยมีของดีๆ ที่สามารถโฆษณาได้ ทั่วโลกมีอาหารอยู่ 6 สกุลที่คนทั้งโลกคิดว่าต้องกินให้ได้ก่อนตาย คือ อาหารฝรั่งเศส อิตาเลียน จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และไทย
"คนต่างชาติคลั่งไคล้อาหารไทยมาก แล้วเราจะต่อยอดไปไกลๆ ได้อย่างไร”
ในยุคดิจิทัล วัฒนธรรมการทำงานเปลี่ยนไป เด็กรุ่นใหม่จำนวนมากไม่ชอบทำงานประจำ พวกเขาสามารถหาเงินจากการใช้ออนไลน์ จะนั่งทำงานที่ไหนในโลกก็ได้
เรื่องนี้ อาจารย์ปิติ ขยายความว่า คนพวกนี้เรียกว่าโนแมด (Nomad) ซึ่งโนแมดในอดีตหมายถึงคนเลี้ยงวัว เลี้ยงควายตามที่รกร้างในยุคนายร้อยทมิฬ แต่ในปัจจุบันหมายถึง กระบี่่มือเดียว ที่นั่งทำงานคนเดียว
"คนพวกนี้เล่นเกมตั้งแต่เด็ก เล่นอินเทอร์เน็ตจนเหมือนเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย โตขึ้นสนใจเรื่องแฮกเกม พอเข้ามหาวิทยาลัย เริ่มสร้างพอร์ตโฟลิโอ ประกวดแข่งแฮกเกอร์ในออนไลน์
ลองนึกถึงภาพอุตสาหกรรมเกมคอมพิวเตอร์ ถ้ามีนายทุนสร้างเกมในเกาหลี แล้วให้จิตรกรญี่ปุ่นวาดคาแรคเตอร์ตัวละครด้วยพู่กัน สแกนคาแรคเตอร์ขึ้นคลาวด์ เด็กไทยที่เรียนสาย illustrator (นักวาดภาพประกอบ) กราฟฟิคดีไซน์ โหลดรูปกระดาษ ทำเป็นไฟล์วาดรูปประกอบอัพขึ้นคลาวด์ แล้วอีกคนสร้างเส้นเรื่องลงในออนไลน์
ซึ่งในออนไลน์มีคนจากหลายๆ ประเทศ บางคนทำเรื่องการค้า การตลาด การวาด พวกเขาสามารถร่วมมือกัน นำเรื่องราวใส่ไว้ในคลาวด์และบล็อกเชน ใช้กฎเกณฑ์ทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ถูกแฮก ทำเกมขายทั่วโลก ถ้าเราส่งเสริมดีๆ ก็จะไปได้ไกล " อาจารย์ปิติ กล่าวและตั้งคำถาม ที่ผ่านมามีการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในประเทศเรื่องเหล่านี้บ้างไหม
ส่วนอุตสาหกรรมอีกแบบ เทคโนโลยีระดับสูงหรือ Hi-Tech Industry อาจารย์ปิติไม่ได้มองสเกลใหญ่ที่่เป็นโรงงานระดับหมื่นล้านแสนล้าน แต่มองสเกลเล็กๆ
"ถ้าเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูง ส่วนใหญ่ทำสเกลโรงงานขนาดเล็ก สเกลแบบนี้คนจะทำงานในสิ่งที่หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ทำไม่ได้ เรื่องนี้คนไทยเก่ง คนแบบนี้เราเรียกว่า Digital Nomad (คนที่ใช้ชีวิตอยู่ตามสถานที่ต่างๆในโลก พวกเขาจะมีอาชีพที่ใช้ช่องทางออนไลน์หาเงิน) จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ” ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
เรื่องเหล่านี้ เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่อาจารย์ปิติเล่าให้ฟัง เพื่อให้เห็นว่า คนไทยมีสิ่งดีๆ อยู่เยอะ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนทั้งเรื่องเงินทุนและโอกาส ถ้ารัฐบาลลุงๆ ยังเดินตามนโยบายแบบเดิม ก็จะเสียโอกาสไปเรื่อยๆ
...............
(ระเบียบโลกที่เปลี่ยนไป)
1. ว่ากันด้วยระเบียบโลกตามแบบทฤษฎีกรีกโบราณ ที่เรียกว่า Game of thrones นั่นก็คือ อเมริกา ที่เคยเป็นผู้นำจัดระเบียบโลก ตอนนี้อยู่ในช่วงขาลง และจีนกำลังจะขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่ ดังนั้นมหาอำนาจเดิมกับมหาอำนาจใหม่ยากที่จะเลี่ยงการปะทะกัน อาจมาในรูป สงครามการค้า ,สงครามวัคซีน หรือสงครามเทคโนโลยี ฯลฯ
2.ระเบียบโลกแนวทางนี้ จะไม่มีมหาอำนาจเดียว อเมริกาที่เคยกำหนดข้อตกลงการค้าหรือเรื่องใดก็ตาม อาจทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว แต่จะมีผู้นำหลายชาติขึ้นมาดูแลระเบียบโลก ไม่ว่าผู้นำอเมริกา ยุโรป จีน อาเซียน
แต่ละชาติจะมีบทบาทนำในเรื่องใดเรื่องหนึ่งในอาณาบริเวณของตนเอง อาจเป็นความร่วมมือในอาเซียน ความร่วมมือระหว่างประเทศ บรรษัทข้ามชาติ ภาคประชาสังคม ฯลฯ ซึ่งจะมีความซับซ้อนทวีคูณมากขึ้น เรียกแนวทางนี้ว่า Multiplex World
3. ระเบียบโลกแบบ Community of the share commodity เป็นแนวคิดที่นักวิชาการจีน เกาหลี และซีกโลกตะวันออก ให้ความสำคัญเรื่องการกินดีอยู่ดี
(อาจารย์ปิติ ขยายความเรื่องนี้ว่า สี จิ้นผิง เคยกล่าวว่าอยากให้ประชาคมโลกอยู่ร่วมกันอย่างสันติและแบ่งปันกัน ซึ่งมาจากการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนทุก 5 ปี
จีนต้องการให้ประชากรกินดีอยู่ดี จึงเปิดโอกาสทางการค้าการลงทุนนำไปสู่การพัฒนาประเทศ สิ่งที่จีนส่งเสริมและผลักดัน แม้จะไม่ต้องการจัดระเบียบโลก แต่ขณะเดียวกันไม่ปฏิเสธการเป็นผู้นำของโลก)
4. สังคมโลกไม่มีการจัดระเบียบ ไม่มีกฎเกณฑ์การค้าการลงทุน ใครจะเป็นอะไรก็เป็นไป เรียกว่าDystopian
................................
หมายเหตุ : จากการร่วมอบรม โครงการ มองจีนยุคใหม่ ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้ ปีที่ 3 ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย วันที่11-15 พฤศจิกายน 2563