ประเมินความเสี่ยง!พยาบาลติด‘โควิด-19’โดยสารMRT-BTS

ประเมินความเสี่ยง!พยาบาลติด‘โควิด-19’โดยสารMRT-BTS

บุคลากรทางการแพทย์กลุ่มเดิมติด‘โควิด-19’ เพิ่ม1 ราย หลังตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ส่วนสัมผัสเสี่ยงสูงอีก 30 รายตรวจซ้ำไม่พบ ย้ำไทม์ไลน์ 1 รายใช้BTS-MRTความเสี่ยงแพร่ต่ำ เหตุวันเดินทางไม่ป่วย-ใส่หน้ากากตลอดเวลา กรณีเกี่ยวท่าขี้เหล็ก ภาพรวมคุมได้ในวงจำกัด

สั่งสสจ.ชายแดนทุกจังหวัด เฝ้าระวังสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน สำรวจคนไทยทำงานสถานบันเทิงต้องการกลับประเทศ ประสานเข้าตามระบบ แนะประชาชนรับรู้ข่าวสารยึด 4 ต.

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) กล่าวว่า ประเทศไทยตรวจพบผู้ติดโควิด-19 รายใหม่ 18 ราย โดย 17 รายเป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศและอยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐกำหนด และ 1 ราย ติดเชื้อในประเทศ หญิงอายุ 29 ปี เป็นบุคลากรทางการแพทย์ รพ.BNH เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อก่อนหน้านี้ที่เป็นการติดเชื้อจากการดูแลผู้ติดเชื้อในสถานที่กักกันทางเลือก(Alternative State Quarantine :ASQ) ในกทม. ซึ่งจากกรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่ในASQเกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์แรก จากที่มีการรับผู้เข้าพักในสถานที่กักกันทุกประเภทกว่า 1.7 แสนคน

ในส่วนของการเดินทางเข้าประเทศไทยทางบก จะมีคนไทยจากเมียนมา 29 คน มาเลเซีย 43 คน กัมพูชา 20 คน และลาว 57 คน ส่วนต่างชาติยังไม่อนุญาต อย่างไรก็ตาม ขอย้ำให้ประชาชนติดตามสถานการณ์โควิด-19 โดยยึด 4 ต. คือ ตื่นตัวอย่าตื่นตูม ตระหนักอย่าตระหนก

0กลุ่มท่าขี้เหล็กคุมได้
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ความก้าวหน้าวผลการสอบสวนผู้ติดโรคโควิด-19ที่เกี่ยวข้องกับจ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ณ เวลา 08.00 น. วันที่ 10 ธ.ค.2563 รวม 46 ราย แยกเป็นใน 7 จังหวัด ได้แก่ 1.จ.เชียงราย 34 ราย พบในสถานที่กักกันของรัฐในพื้นที่(Local State Quarantine:LQ) 27 ราย อีก 6 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศลักลอบเข้าผ่านช่องทางธรรมชาติ และอีก 1 ราย ติดเชื้อในประเทศจากการสัมผัสใก้ลชิดผู้ติดเชื้อจ.พะยา 2.จ.เชียงใหม่ 5 ราย เดินทางเข้าช่องทางธรรมชาติ ครบ14 วัน 19 ธ.ค. 3.กรุงเทพฯ 3 ราย เดินทางเข้าช่องทางธรรมชาติ ครบ14 วัน 20 ธ.ค. 4.จ.พะเยา 1 ราย เดินทางเข้าช่องทางธรรมชาติ ครบ14 วัน 15 ธ.ค. 5.จ.พิจิตร 1 ราย เดินทางเข้าช่องทางธรรมชาติ ครบ14 วัน 15 ธ.ค. 6.จ.ราชบุรี 1 ราย เดินทางเข้าช่องทางธรรมชาติ ครบ14 วัน 16 ธ.ค. และจ.สิงห์บุรี 1 ราย ติดในประเทศจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อในกลุ่มนี้ที่จ.เชียงราย ครบ14 วัน 18 ธ.ค.2563 เมื่อแต่ละจังหวัดครบระยะเฝ้าระวัง 14 วันก็จะเข้าสู่ระบบปกติ

“ภาพรวมส่วนที่เกี่ยวข้องกับจ.ท่าขี้เหล็กไม่น่ามีปัญหาหนักอกหนักใจ ขณะนี้ที่พบ 47 ราย พบติดในประเทศเพียง 2 ราย ถือเป็นการคุมได้ในวงจำกัดไม่แพร่ระบาดออกไป กรณีที่โรงเรียนในพื้นที่มีการปิดโรงเรียนเพราะมีผู้สัมผัสของผู้สัมผัสนั้น เป็นการดำเนินการที่เกินความจำเป็น ไม่แนะนำมห้ทำเด็ดขาด ไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งการจะปิดโรงเรียนควรทำในกรณีที่พบผู้ติดเชื้อในโรงเรียนและเป็นการปิด 3 วันเพื่อทำความสะอาดเท่านั้น “นพ.โอภาสกล่าว

0 เช็คคนไทยในสถานบันเทิงชายแดนทุกทิศ
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ปลัดสธ.สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) เปิดศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉินโรคโควิด-19 เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของจังหวัดชายแดนทั้งฝั่งมาเลเซีย เมียนมา กัมพูชาและลาว ให้ติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19ในประเทศเพื่อนบ้าและตรวจตราสถานบันเทิงในต่างประเทศว่ามีคนไทยทำงานและประสงค์จะกลับเข้าประเทศไทยหรือไม่ หากมีให้ประสานเข้าประเทศตามระบบและเข้าสู่สถานที่กักกันที่รัฐกำหนด

0บุคลากรทางการแพทย์ติดเพิ่ม 1 ราย

ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับผู้ติดโควิด-19 รายใหม่ 1 ราย เพศหญิง อายุ 29 ปี ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์นั้น เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของบุคลากรทางการแพทยฃ์กลุ่มเดิมที่รายงานไปแล้ว 5 ราย รายนี้เป็นรายที่ 6และเป็นกลุ่มที่อยู่ในการเฝ้าระวังและติดตามอาการอยู่แล้ว ทั้ง 6 รายจึงเป็นเรื่องเดียวกัน รายที่ 6 เป็นการตรวจพบเมื่อมีการตรวจเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 ในวันที่ 8 ธ.ค. จากที่ก่อนหน้าตรวจครั้งแรกวันที่ 5 ธ.ค. ไม่พบติดเชื้อ โดยในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจาก 5 รายก่อนหน้าที่เป็นเพื่อนร่วมงานในรพ.เอกชนแห่งหนึ่ง จำนวน 31 ราย ได้รับการตรวจหาเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 ทั้ง 31 ราย พบติดเชื้อเพียง 1 ราย คือรายล่าสุดนี้ ซึ่งเป็นผู้ที่ร่วมรับประทานอาหารกับผู้ติดเชื้อรายที่ 1 นอกจากนี้ รพ.BNHยังขยายผลเฝ้าระวังไปยังบุคลากรของรพ.ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อ 6 รายที่ถือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำอีก 851 ราย ผลไม่พบติดเชื้อ 745 ราย อีก 106 รายรอผล

“แนวทางการเฝ้าระวังและควบคุมโรค กรณีที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในระยะกักตัว 14 วันนั้นจะมีการตรวจหาเชื้ออย่างน้อย 2 ครั้งเพื่อสร้างความมั่นใจ โดยครั้งที่ 1 จะตรวจทันทีหลักเข้ารับการกักตัว ซึ่งอาจเป็นช่วงวันที่ 1-2 หลังจากเจอผู้ติดเชื้อซึ่งอาจระยะรับเชื้อแล้วไม่มีอาการ เนื่องจากจากข้อมูลพพบว่าระยะฟักตัวส่วนใหญ่จะตรวจเจอในช่วงวันที่ 5-7 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ จึงต้องมีการตรวจซ้ำอย่างน้อย 2 ครั้ง อย่างกรณีรายที่ 6 นี้ ตรวจครั้งแรกวันที่ 5ธ.ค.เป็นลบ ซึ่งการตรวจครั้งแรกอาจยังไม่ถึง 5-7 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ จึงยังตรวจไม่เจอ แต่เมื่อตรวจซ้ำวันที่ 8 ธ.ค.ห่างจากครั้งแรก 3 วัน ก็พบติดเชื้อ”นพ.โสภณกล่าว
160758888714

0 BTS-MRTเสี่ยงต่ำ
สำหรับไทม์ไลน์ของผู้ติดโควิด-19 กลุ่มนี้ 1 ราย ที่มีประวัติใช้รถโดยสารสาธารณะนั้น พบว่าเป็นผู้ติดรายที่ 1 ซึ่งเริ่มป่วยวันที่ 3 ธ.ค. โดยก่อนหน้านั้น 24-26 พ.ย. ปฏิบัติหน้าที่ASQ รร.เลอเมอเรเดียน ถนนสีลม วัดไข้ผู้เข้าพักใหม่โดยใส่ชุดป้องกันครบถ้วนและผลตรวจผู้เข้าพักไม่พบเชื้อ วันที่ 28 พ.ย. ทำงานASQ รร.พูลแมน จี ถนนสีลม วัดไข้ผู้เข้าพักซึ่งไม่เป็นผู้ติดเชื้อ หลังจากนั้นนอกเวลางานพักพร้อมกับผู้ติดเชื้อรายที่ 2 และ4 อยู่ในห้องไม่ได้ใส่หน้ากาอนามัย และใช้ห้องน้ำร่วมกัน วันที่ 30พ.ย. ทำงานไอซียูโดยใส่ชุดป้องกันเต็มรูปแบบ แวะซื้อยำหน้าหอโดยใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา 1ธ.ค. ทำงานที่ASQรร.พูลแมน จี รับเวรกับผู้ป่วยรายที่ 3 และ 5

วันที่2ธ.ค.ไปสัมภาษณ์ที่รพ.ฝั่งธนบุรีโดยMRT เป็นเวลา 15 นาที ระหว่างเวลา 10-10.15 น. และเดินทางกลับด้วยBTS จากสาธรถึงสีลม เวลา14.00-14.10 น. โดยใส่หน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง และยังไม่มีอาการป่วย วันที่ 3 ธ.ค. ทำงานที่รพ.BNH 12.00 น.เริ่มมีไข้ เวลา19.00 น.มารพ.เพื่อตรวจหาเชื้อ และวันที่ 4 ธ.ค.ช่วงเช้าเริ่มเจ็บคอ ไอ เข้ารับการรกัษาในรพ.เอกชน และ19.00น. ผลพบติดโควิด-19

“จะเห็นได้ว่าในวันที่ผู้ติดเชื้อรายนี้ใช้บริการMRT และBTSนั้นยังไม่มีอาการป่วย ใส่หน้ากากตลอดเวลาระหว่างการเดินทางและไม่ได้พูดคุยกับใครบนขบวนรถ ซึ่งผู้ที่ร่วมเดินทางในขบวนรถช่วงเวลาดังกล่าวเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ แต่หากใครสงสัยว่าเกี่ยวข้องอยู่ในเหตุการณ์ก็สามารถรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านได้ หรือโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 เพื่อรับคำแนะนำ ทั้งนี้ เบื้องต้นให้สังเกตตัวเอง หากไม่มีอาการ ให้ใส่หน้ากากอนามัย แยกตัวเองออกจากผู้อื่น ล้างมือบ่อยๆ และสังเกตอาการจนครบ 14 วัน หากมีอาการ เกี่ยวกับทางเดินหายใจ หรือจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้เข้ารับการตรวจได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน”นพ.โสภณกล่าว

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า บุคลากรทางการแพทย์ทั้ง 6 รายเป็นกลุ่มเดียวกัน ทำงานเกี่ยวข้องกัน สัมพันธ์กันนอกเวลางานจึงไม่ป้องกันเหมือนตอนทำงาน เพราะฉะนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้บริหารจะต้องเน้นย้ำคนทำงานในการป้องกันโรคทั้งในและนอกเวลางาน ถ้าเริ่มมีอาการป่วยต้องรีบรายงานผู้บังคับบัญชา