‘ไออาร์พีซี’ต้นแบบ การจัดการขยะพลาสติก

‘ไออาร์พีซี’ต้นแบบ การจัดการขยะพลาสติก

การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ และนี่คือความร่วมมือตั้งแต่ผู้ผลิตพลาสติก ผู้แปรรูปพลาสติก โยงไปถึงชุมชน

"เป็นความท้าทายของ IRPC และคนที่อยู่ในวงการเม็ดพลาสติกของประเทศว่า เราจะสามารถยืดเวลาพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อให้ใช้งานในระบบได้นานที่สุด และเกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร เราจึงได้ดำเนินโครงการ Eco Solution โมเดลต้นแบบการจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้งาน โดยนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ ภายใต้ระบบควบคุมแบบปิด (Closed Loop) ไม่ปล่อยให้มีขยะพลาสติกออกไปนอกระบบ สร้างภาระแก่ชุมชนและสังคม โครงการนี้ดำเนินการร่วมกับพันธมิตร บริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ" นพดล ปิ่นสุภา อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC กล่าวในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ "ต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ในพื้นที่ร้าน KFC" ร่วมกับ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล และอีก 3 พันธมิตรคือ บริษัท ไทยเวิลด์แวร์ โพลีโพรดักส์ จำกัด, บริษัท โมเดิร์น เฟอร์นิเจอร์ จำกัด และมูลนิธิกระจกเงา

160787102281

 จากซ้าย นพดล ปิ่นสุภา, แววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล, ประเสริฐ ไตรจักรภพ

  • แยกขยะตั้งแต่ต้นทาง

"การแยกขยะตั้งแต่ต้นทางมีความสำคัญมาก การสร้างจิตสำนึกให้คนในสังคมรู้ว่า เราสามารถช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม ดูแลขยะที่จะออกไปในพื้นที่ต่างๆ ให้น้อยลงได้ เป็นการเปิดโอกาสให้คนที่สนใจได้มีส่วนร่วม มีช่องทาง ถ้าผู้บริโภคมาที่ร้าน KFC ก็มีโอกาสแล้วที่จะช่วยลดผลกระทบจากขยะพลาสติกแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดขยะที่ฝังกลบไปได้มาก" นพดล ปิ่นสุภา อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท IRPC กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการนี้

"ปัญหาเรื่องการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง เป็นปัญหาใหญ่และท้าทายของประเทศ เราเป็นแบรนด์ร้านอาหารที่ใหญ่ และมีจำนวนสาขามากที่สุดในประเทศไทยคือ 830 สาขา เราคิดว่าน่าจะมีบทบาทเข้ามาช่วยและมีความรับผิดชอบตรงนี้ เป็นความโชคดีที่เราได้พบกับผู้นำในการลดปริมาณขยะพลาสติก

ร้านอาหารที่เราทำงานสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในแต่ละวันได้ค่อนข้างมาก เราสามารถสร้างความตระหนักรู้และนิสัยในการแยกขยะพลาสติก เพื่อเข้าสู่โครงการรีไซเคิล และนำพลาสติกนี้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก

โครงการนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและเป็นทางออกที่ยั่งยืนที่สุดทางหนึ่ง เราดำเนินการไปแล้ว 8 สาขา กำลังจะขยายออกไปในวงกว้าง เราไม่สามารถทำคนเดียวได้ การร่วมมือทำให้เกิดห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain) ที่มีประสิทธิผล เมื่อทำพลาสติกผลิตใหม่ (Virgin Plastics) ออกมาแล้ว ควรใช้ซ้ำให้มากที่สุด เพื่อลดขยะ ลดคาร์บอน

เครือข่ายของเรา อาทิ ร้าน KFC ในประเทศไทย, Restaurants Development, QSR Of Asia และ Central Restaurant Group จะตั้งจุดรับขยะ (Drop Point)ไว้ในร้าน มีมูลนิธิกระจกเงาเป็นตัวกลาง จ้างคนว่างงานในชุมชนมาเก็บขยะพลาสติกใช้แล้วไปทำความสะอาด ส่งให้ทาง IRPC เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นำกลับมาใช้อีก" แววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้

 

  • แยกขยะนำรีไซเคิล 

โครงการนี้ เริ่มต้นด้วยพนักงานและผู้บริโภคในร้าน KFC คัดแยกขยะจากจุด Drop Point โดยมีเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงาประสานงานให้คนว่างงานนำไปคัดแยกทำความสะอาด ส่งไปบริษัท IRPC ผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล แล้วส่งต่อให้ Modern Furniture ขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์นำกลับมาใช้ใหม่ซึ่งไม่ใช่โครงการแรกที่ IRPC มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

IRPC เป็นองค์กรนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคม Social Innovation ใช้องค์ความรู้ด้านนวัตกรรมมาแก้ปัญหาให้กับสังคม ในงาน ‘วันนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2563’ ที่จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน ) เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ปีพ.ศ.2563 IRPC ได้รับ ‘รางวัลเกียรติคุณองค์กรนวัตกรรม’ รางวัลที่ให้กับองค์กรที่นำระบบดิจิทัล เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาบูรณาการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งองค์กร ไม่ว่าฝ่ายผลิต ฝ่ายการตลาด ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารงานบุคคล รวมถึงการวิจัยและพัฒนา และได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (ประเภทองค์กรขนาดใหญ่)จากผลงาน ‘พลาสติกนวัตกรรมเพื่อคนพิการ’

"นวัตกรรมพลาสติกเพื่อคนพิการ เป็นผลงานการวิจัยพัฒนาร่วมกับมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ผลิตจากเม็ดพลาสติก พีพี (Polypropylene) มีคุณสมบัติโปร่งแสง ยืดหยุ่น เรียบลื่น สามารถมองเห็นเบ้าขาด้านในได้ขณะสวมใส่ ทำให้สะดวกต่อการปรับแต่งให้พอดีได้มากยิ่งขึ้น

IRPC ได้ส่งมอบเม็ดพลาสติกให้กับมูลนิธิขาเทียมฯ นำไปผลิตเบ้าขาเทียมให้แก่คนพิการ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไปในการประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้กับครอบครัว นวัตกรรมเหล่านี้เกิดจากแนวคิด แรงบันดาลใจ ผสานกับเทคโนโลยีและองค์ความรู้ของบุคลากรของ IRPC ที่ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น

160787118848

พันธมิตรทั้ง 5ในโครงการนี้ (จากซ้าย) ประเสริฐ ไตรจักรภพ, แววคณีย์  อัสโสรัตน์กุล, นพดล ปิ่นสุภา, ธัชวัธ เตชะมงคลกิจ,สฤษดิ์ ถิรชาญชัย 

นอกจากนี้ IRPC ยังมีนวัตกรรมใหม่ ‘ทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ’ ผลิตจากเม็ดพลาสติก HDPE (High Density Polyethylene ) เพื่อใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ต้องการความแข็งแรงมีคุณสมบัติลดอุณหภูมิใต้แผงโซลาร์เซลล์ได้ถึง 5-8 องศา ส่งผลให้ระบบผลิตกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูง ทนต่อแสงยูวีและแรงกระแทก มีอายุการใช้งานนาน 25 ปี ปลอดภัยต่อระบบนิเวศใต้น้ำ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้

และยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 10,510 ตันต่อปี เทียบเท่าการปลูกป่า 10,000 ไร่ รวมถึงใช้ติดตั้งทุ่นโซลาร์ลอยน้ำในบ่อน้ำดิบสำรองของบริษัทฯ บนพื้นที่ 200 ไร่ เพื่อใช้ในเขตประกอบการ IRPC จังหวัดระยอง มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 12.5 เมกะวัตต์ มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นนวัตกรรมที่เพิ่มโอกาสทางธุรกิจและให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม" กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท IRPC กล่าวถึงสิ่งที่ได้สร้างสรรค์และใช้งานจริงในบริษัท

ขณะที่ ประเสริฐ ไตรจักรภพ กรรมการผู้บริหาร บริษัท ไทยเวิลด์แวร์ โพลีโพรดักส์ จำกัด 1 ใน 4 พันธมิตรโครงการ มองว่า ปัญหาขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้ผลิตต้องเข้ามามีส่วนรับผิดชอบด้วย

"ไทยเวิลด์แวร์ เป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งรายใหญ่รายหนึ่งในประเทศ ได้รับความไว้วางใจให้ผลิตช้อน ส้อม มีด ป้อนสาขาต่างๆ ของ KFC จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่เราได้เข้าร่วมโครงการนี้ ขยะใช้ครั้งเดียวทิ้งจะมีอยู่ 2 ประเภทคือ ขยะพลาสติกในภาคอุตสาหกรรมและขยะพลาสติกในภาคครัวเรือน

ขยะชนิดแรกมีการจัดการค่อนข้างดีสามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้เลย ส่วนขยะชนิดที่สองบริหารจัดการยาก กระจัดกระจายอยู่ทุกครัวเรือน ต้องช่วยกันปลูกจิตสำนึก ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องแยกขยะและรีไซเคิลว่ามีประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร พลาสติกคือวัตถุดิบที่มีประโยชน์ ถ้าไม่มีวิธีการบริหารจัดการหลังจากใช้แล้วได้อย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้เกิดปัญหา โครงการนี้จะช่วยทำให้ใช้พลาสติกได้อย่างมีประโยชน์มากยิ่งขึ้น"

  • รีไซเคิลให้เป็นของใหม่

ทางด้าน ธัชวัธ เตชะมงคลกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดิร์น เฟอร์นิเจอร์ จำกัด พันธมิตรรายที่ 3 ผู้นำเม็ดพลาสติกที่ถูกแปรรูปจากขยะใช้แล้ว มาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ กล่าวว่า โครงการนี้มาได้ถูกจังหวะและเวลา

"มีโอกาสร่วมงานในโครงการนี้ เป็นเรื่องที่ดีมากๆ สิ่งที่พวกผมทำเป็นเสมือนปลายน้ำ ที่จะทำให้ทุกอย่างเป็น Upcycle สร้างสิ่งใหม่ให้มีค่ามากขึ้น ผมมีหน้าที่เปลี่ยนของใช้แล้วมาเป็นของน่าใช้ เรามีเทคโนโลยีในการผลิต ด้วยวิธี Marble Furnishing ซึ่งเป็นการรีไซเคิลรูปแบบใหม่ที่จะทำให้ไม่มีขยะพลาสติกอีกต่อไป"

พวกเขาได้ริเริ่มโครงการนี้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และต้องหยุดไปในช่วงการระบาดของโควิด กระทั่งเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จึงได้เริ่มดำเนินการใหม่จาก 8 สาขาขยายจำนวนมากขึ้นเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

"อย่างน้อยที่สุดคนที่มาใช้บริการ ก็มีจุดเริ่มต้นในการคัดแยกขยะ สิ่งที่เราทำถ้าทำแห่งเดียวคงไม่สำเร็จ แต่ถ้าร่วมกัน 5 หน่วยงานก็สามารถขยายผลได้ สร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นกับสังคมได้" ธัชวัธ กล่าว เพื่อให้เห็นว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคม

ส่วน‘นพดล’ บอกว่า โครงการนี้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นแล้วว่า มีประโยชน์ต่อสังคม

"นี่เป็นความคิดเชิงบูรณาการของพวกเรา เพื่อบริหารจัดการขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เราเคยทดลองทำพลาสติกรีไซเคิลเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรม (Post Industrial Recycle หรือ PIR) โดยจับมือกับพันธมิตร 15 บริษัท ก็ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เราผลิตพลาสติกชีวภาพ (bio plastic ) ที่ส่วนผสม 20 เปอร์เซ็นต์เป็นแป้งมันสำปะหลัง และส่วนที่เหลือเป็นพลาสติกโพลิสไตรีน(Polystyrene ) ซึ่งต้นทุนเทียบเท่าวัสดุปกติทำเป็นเชิงพาณิชย์และสามารถรีไซเคิลได้

เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการขยายการผลิตที่เป็น Specialty Product เพิ่มขึ้น เพราะเป็นพลาสติกที่มีคุณสมบัติพิเศษ มีส่วนผสมจากวัสดุชีวภาพ (Bio Based)ลดปริมาณการใช้เม็ดพลาสติก ซึ่งการผลิตครอบคลุมไปถึงวัตถุดิบที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล (Post Consumer Recycle หรือPCR)ด้วย เพื่อลดขยะพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งโดยการฝังกลบ(Landfill)ให้มาอยู่ในระบบปิด (Closed Loop) เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า"

160787146019

 จุด Drop Point แยกขยะพลาสติกใช้แล้วในร้าน KFC เพื่อนำกลับไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่  

  • ช่วยคนตกงานให้มีงานทำ 

นอกจากภาคธุรกิจเอกชนทั้ง 4 แห่งโครงการนี้ยังมีพันธมิตรที่เป็นภาคประชาสังคมเข้าร่วม นั่นก็คือมูลนิธิกระจกเงา ที่ทำงานด้านสังคมอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี

"งานด้านหนึ่งของพวกเรา ทำเรื่องของบริจาค เรามีฐานผู้บริจาคเกือบแสนคน สิ่งที่เราเจอเป็นของเสีย (Waste) เป็นพลาสติกปนมากับของบริจาคเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ เราทำเรื่องนี้อยู่ 2 ปี เรื่องการคัดแยกพลาสติกโดยการเพิ่มมูลค่า ให้ความรู้คนในสังคม สร้างวัฒนธรรมการแยกขยะในครัวเรือน เพื่อดูแลจัดการสิ่งแวดล้อม การเข้าร่วมโครงการนี้จะช่วยผลักดันให้มีการแยกขยะมากขึ้น ทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการจัดการสิ่งแวดล้อม" สฤษดิ์ ถิรชาญชัย หัวหน้าโครงการแบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง มูลนิธิกระจกเงา กล่าวและบอกว่า

"โอกาสที่เราได้รับ นอกจากได้ร่วมจัดการสิ่งแวดล้อมแล้ว ในช่วงปีที่ผ่านมามีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมากจากปัญหาการระบาดของโควิดติดต่อเข้ามาขอรับบริจาคของจากเราเยอะมาก เราแจกข้าวสารอาหารแห้งไป 30,000 กล่อง แล้วค้นพบว่า อาหารเหล่านั้นทำให้พวกเขาอยู่ได้ 1-2 เดือน แต่ปัญหาการว่างงาน ถูกให้ออกจากงานยังคงอยู่

และเมื่อทาง IRPC ถามว่าจะออกแบบงานนี้ยังไง เราก็เอาคนว่างงานมาฝึกอบรมคัดแยกขยะและทำความสะอาดทำให้พวกเขามีรายได้สามารถดูแลครอบครัวได้ เป็นอีกมิติหนึ่งที่ประสบความสำเร็จที่โครงการให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนด้อยโอกาสให้มีชีวิตที่ดีขึ้น"

อย่างไรก็ตาม หากภาคเอกชนร่วมมือกับภาคประชาสังคม ช่วยกันจัดการขยะให้ถูกวิธี ก็จะช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้ด้วย ดังนั้นโมเดลการจัดการขยะอย่างครบวงจรรูปแบบนี้ น่าจะเป็นตัวอย่างดีๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม

นพดล มองว่าการได้มูลนิธิกระจกเงามาช่วยคนที่ว่างงาน ไม่มีงานทำ มารวบรวมเก็บช้อนส้อมใช้แล้วตามจุดต่างๆ ของ KFC ไปทำความสะอาด แล้วส่งต่อให้บริษัทฯ นำเข้าสู่กระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ จากนั้นส่งต่อให้ Modern Furniture ผลิตเป็นถาดใช้ในร้านเป็นเรื่องที่ดี ส่วนที่ผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ ก็นำไปบริจาคตามโรงเรียนที่ขาดแคลน

"โครงการนี้ช่วยได้ทั้งลดขยะพลาสติก สร้างงาน และบริจาคสิ่งของให้คนที่ขาดแคลน ถ้าโมเดลนี้ขยายออกไป ก็จะช่วยสังคมได้อีกหลายมิติ นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้น เรื่องนี้สามารถนำมาเป็นกรณีศึกษาและให้คำแนะนำคนทั่วไป พวกเราจะเดินไปด้วยกัน ทำไปด้วยกัน มันมีพลัง เข้าถึงได้ง่ายๆ เป็นการสร้างประสบการณ์ให้กับคน"