'PM2.5' กลับมา! ดูแล 'สัตว์เลี้ยง' อย่างไรให้ปลอดภัยจากฝุ่นพิษ

'PM2.5' กลับมา! ดูแล 'สัตว์เลี้ยง' อย่างไรให้ปลอดภัยจากฝุ่นพิษ

เปิดวิธีดูแล "สัตว์เลี้ยง" ให้ปลอดภัยจาก "PM2.5" จากความเห็นของสัตวแพทย์ พร้อมไขข้อข้อใจการหน้ากาก PM2.5 จำเป็นสำหรับสัตว์เลี้ยงจริงหรือ?

สถานการณ์ฝุ่นพิษ "PM2.5" กลับมารุนแรงอีกครั้ง เสี่ยงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของ "มนุษย์" และ "สัตว์เลี้ยง" ในเวลาเดียวกัน คำถามที่เกิดขึ้นคือเมื่อกังวลว่า "สัตว์เลี้ยง" ได้รับผลกระทบจาก "PM2.5" ควรทำอย่างไรบ้าง?

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" สอบถามข้อมูลจากสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อไขข้อข้องใจดังกล่าว ที่จะช่วยให้คนรักสัตว์ทั้งหลาย สามารถดูแล "สัตว์เลี้ยง" แสนรักได้อย่างถูกต้อง

1608027949100

น.สพ.ณฐวุฒิ คณาติยานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์เลี้ยงพรีเมียร์ อธิบายถึง มลภาวะทางอากาศรวมถึง PM2.5 ว่า เป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์เลี้ยง หรือสัตว์อื่นๆ โดยส่วนใหญ่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจ กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ซึ่งสัตว์ต่างๆ จะได้รับจะมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับกลไกร่างกายของสัตว์แต่ละชนิด 

สำหรับ "สุนัข" และ "แมว" มีโอกาสได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย แต่อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่าสัตว์ที่มีการเมทาบอลิซึมสูง (ระบบเผาผลาญ) ที่มักจะหายใจถี่กว่า เช่น ลูกสัตว์ชนิดต่างๆ หนู หรือนก

สัตว์ที่มีความเสี่ยงสูง คือ สัตว์ปีก เพราะมีการหายใจเข้าออกที่แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คือหายใจนำลมเข้าไปไว้ที่ถุงลมก่อนที่จะปล่อยลมผ่านเข้าไปในปอด ลักษณะการหายใจแบบที่ไม่ได้แลกเปลี่ยนอากาศโดยตรงแบบทันทีทันใดทำให้มลพิษที่เข้าไปพร้อมอากาศถูกเก็บไว้ในร่างกายมากกว่า และอาจได้รับผลกระทบมากกว่าเช่นกัน

 

  •  6 วิธี ดูแล 'สัตว์เลี้ยง' ยังไงให้ปลอดภัยจากฝุ่นพิษจิ๋ว PM2.5 

อย่างไรก็ตาม น.สพ.ณฐวุฒิ มองว่าแม้จะไม่มีหน้ากาก "PM2.5" สำหรับสัตว์ ก็มีวิธีอื่นๆ ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากฝุ่นเข้าสู่ร่างกายของสัตว์เลี้ยงได้หลากหลายวิธี ที่อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการใช้ผลิตภัณฑ์หน้ากากสวมใส่บริเวณจมูกของสุนัขโดยตรง ดังนี้

1. ปรับสิ่งแวดล้อมในบ้าน เช่น การปลูกต้นไม้เพิ่มปลูกต้นไม้โดยเฉพาะบริเวณที่สัตว์เลี้ยงอยู่ เลือกต้นไม้ที่มีคุณสมบัติช่วยฟอกอากาศ และช่วยลดอุณหภูมิ เช่น พลูด่าง

2. เลี้ยงสัตว์อยู่ในบ้านที่อากาศปิด ในช่วงที่สถานการณ์ฝุ่นยังรุนแรง เนื่องจากจะทำให้สามารถควบคุมสภาพอากาศได้ดีกว่า

3. ใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องฟอกอากาศ เพื่อเป็นตัวช่วยในการปรับคุณภาพอากาศภายในบ้านให้ดีขึ้น

4. หลีกเลี่ยงการพาสัตว์เลี้ยงไปในพื้นที่เสี่ยง เช่น การพาสัตว์เลี้ยงไปเดินเล่น หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ในช่วงที่สภาพอากาศเป็นพิษ

5. ผู้เลี้ยงต้องคอยสังเกตกริยาอาการของสัตว์ ว่ามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม้ เช่น เซื่องซึม ไม่แอคทีฟ เบื่ออาหาร ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากฝุ่นหรือมีปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ เพื่อให้สามารถปรึกษาแพทย์ได้ทันท่วงที

6. ในกรณีที่ตรวจร่างกายสัตว์เลี้ยง แล้วพบอาการเสบ สามารถเสริมอาหารที่มีส่วนช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสัตว์เลี้ยงได้โดยการเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างวิตามินซี วิตามินเอ ซึ่งมีส่วนช่วยลดการอักเสบได้ สำหรับสัตว์ที่กินพืชจะสามารถรับวิตามินซีและเอจากการกินพืชผักผลไม้บางชนิดอยู่แล้ว ส่วนในสัตว์กินเนื้อ ผู้ดูแลสามารถเพิ่มวิตามินเหล่านี้ผ่านผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอื่นๆ ที่มีโอเมก้า 3 หรือโอเมก้า 6 ได้เช่นกัน

  •  สัตว์เลี้ยงต้องใส่หน้ากาก PM2.5 หรือไม่ 

น.สพ.ณฐวุฒิ อธิบายว่า สำหรับการใช้หน้ากากอนามัยกันฝุ่นพีเอ็ม 2.5 สำหรับสุนัข มีส่วนช่วยป้องกันฝุ่นได้ ในกรณีที่สุนัขอยู่ในสภาวะที่มีฝุ่นหนาแน่น อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพการป้องกันฝุ่นขึ้นอยู่กับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้วย เช่น ลักษณะวัสดุที่ใช้ การออกแบบของผลิตภัณฑ์ให้แนบชิดกับปากของสุนัขได้จริง เพราะหากหน้ากากติดขนบริเวณปากอาจทำให้ฝุ่นที่มีขนาดเล็กมากอย่าง PM 2.5 เล็ดลอดเข้ามาตามเส้นขนได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้หน้ากากป้องกัน PM 2.5 กับสุนัขอาจมีผลกระทบบางอย่างที่ทำให้ไม่ได้ผล เช่น สุนัขรู้สึกรำคาญและพยายามถอดหน้ากากนั้นอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากสุนัขไม่สามารถรับรู้ได้ว่าควรปรับการหายใจอย่างไรให้เหมาะสม ขณะเดียวกันการปิดบริเวณจมูกหรือปากของสุนัขอาจทำให้หายใจได้ลำบากกว่าปกติ ทำให้สุนัขหายใจถี่ขึ้น มีอาการตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา หรืออาจเกิดความเครียดสำหรับสุนัขบางตัวที่ไม่ชอบให้สวมใส่อะไรบนร่างกาย