"ตะนาวศรีเทรล" สนามนักวิ่งเทรลไทยสู่เทรลโลก
การวิ่งเทรล (Trail Running) กำลังได้รับความนิยมจากทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย นักวิ่งที่ก้าวข้ามความท้าทายจากการวิ่งถนนต่างหันมาหาการวิ่งเทรล เสน่ห์อยู่ที่เส้นทางตามธรรมชาติ เมื่อเปลี่ยนสนามบรรยากาศก็เปลี่ยนตาม
สำหรับตะนาวศรีเทรล สนามนี้ไม่ได้ต่างแค่เสน่ห์แต่ยังมีสตอรี่และกำลังเชื่อมนักวิ่งไทยสู่เวทีเทรลโลก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 ธ.ค.ที่อุทยานธรรมชาติวิทยาตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ปีนี้เป็นปีที่ 6 ที่ผู้จัดบอกว่าสนามนี้เป็นสนามที่มี “วุฒิภาวะ”
พชรภรณ์ โป๊ะเงิน ตัวแทนคณะผู้จัดงาน ย้อนอดีตตะนาวศรีเทรลว่าได้ไอเดียมาจาก "งานวิ่งชมสวนมวลไม้ในวรรณคดี” ที่ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ที่เป็นกิจกรรมแบบครอสคันทรี วิ่งและขี่จักรยาน จากนั้นรีแบรนด์เป็นงานเขาประทับช้างเทรล ซึ่ง ดร.ณรงค์ เทียมเมฆ บุคลากรสำคัญของวงการวิ่งถนน/เทรล ช่วยชี้เป้าว่า เส้นทางศึกษาธรรมชาติของอุทยานธรรมชาติวิทยา ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี น่าจะมีศักยภาพทำเส้นทางวิ่งเทรลได้ ทีมงานที่เริ่มต้นจากอาสาสมัครจึงเริ่มลุยเพราะความชอบ ชนิดที่ต้องต้องถือขวานไปทำทางวิ่ง จนทุกวันนี้กลายเป็นเส้นทางดับไฟป่าไปแล้ว
“จริงๆ แล้วเส้นทางที่เราไปก็คือเส้นทางดับไฟป่านั่นแหละ แต่พอถึงฤดูฝนต้นไม้ก็ทับ พอถึงฤดูแล้งก็ไปกรุยทางกันอีก พอทำทางวิ่งกับทางดับไฟให้เป็นทางเดียวกันก็ไม่ต้องมากรุยกันทุกปี” พชรภรณ์กล่าว ซึ่งนี่เป็นที่มาของคำขวัญตะนาวศรีเทรล “ทางวิ่ง ทางกันไฟ ทางเดียวกัน” เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าไม่ต้องแผ้วถางทางแล้ว แค่นำอุปกรณ์ดับไฟป่าไปบนเส้นทางวิ่งก็ไปได้เร็วกว่ากันมาก
การแข่งขันปีนี้มีทั้งระยะทาง 10, 20, 30, 50, 70 และ 110 กิโลเมตร ผู้ร่วมแข่งขัน 3,800 คน ผู้จัดกล่าวว่า เป็นสนามที่มีวุฒิภาวะและพัฒนาการเชิงลึก “เน้นความปลอดภัยและเท่าเทียม” (Safe and Fare) ความปลอดภัย หมายถึง การไม่หูหนวกตาบอด มีระบสื่อสารและทีมงานวิเคราะห์การวิ่งเหมือนตาที่มองเห็นนักวิ่งทุกคนบนพื้นที่นับพันไร่ ความเท่าเทียม หมายถึง นักกีฬาทุกคนได้รับการดูแลเท่ากัน ไม่ใช่แค่คนเก่งๆ
“เมื่อก่อนตอนจัดวิ่ง เมื่อนักวิ่งออกตัวผู้จัดก็รู้สึกโล่งอก ค่อยมารับอีกทีตอนเข้าเส้นชัย ต่อมามีการติดตามตัวนักวิ่งได้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ใช้ ว.คอยสื่อสารว่า ที่ 1 ถึงไหนแล้ว คนสุดท้ายถึงไหนแล้ว รู้มากขึ้นว่าใครอยู่ในสนามแต่ไม่ได้เห็นด้วยตา” พชรภรณ์เล่าถึงพัฒนาการของตะนาวศรีเทรล ที่มาถึงจุดที่สามารถตามนักวิ่งทุกคนที่ออกจากสนามวิ่งผ่านป่าเขาได้ตลอดเวลา จนกว่าจะกลับเข้าเส้นชัย ด้วยเทคโนโลยีการติดตามตัวและกล้องวงจรปิด มีศูนย์บัญชาการเห็นภาพกราฟฟิกนักวิ่งทุกคนในสนาม
การมีพันธมิตรต่างชาติช่วยได้มากในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ การเป็นพันธมิตรกับ UTMB (Ultra Trail Du Mont Blanc) สนามวิ่งเทรลมงต์บลองค์ ที่ถือเป็นโอลิมปิกของการวิ่งเทรล ทำให้ได้ซอฟแวร์ที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลทุกด้านที่เกี่ยวกับการแข่งขันของนักวิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลด้านการให้ความช่วยเหลือนักวิ่ง จากเดิมที่ผู้จัดมีช่องทางการสื่อสารครอบคลุมเส้นทางวิ่ง 100% แล้วนั้น เทคโนโลยีนี้ยังสอนให้ใช้ประโยชน์จากช่องทางสื่อสารนั้นเพิ่มขึ้น เช่น ติดตามนักวิ่ง ประเมินนักวิ่งคนต่อคน ตลอดจนวางแผนวิเคราะห์และประเมินเวลาที่คาดว่านักวิ่งจะเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งได้อย่างแม่นยำ ทำให้มั่นใจได้มากขึ้นว่านักวิ่งทุกคนจะได้รับการดูแลและติดต่อได้ตลอดเวลาแม้อยู่บนภูเขา
เส้นทางสู่เวทีโลก
UTMB เป็นสนามสุดหฤโหดที่ความสูงกว่า 2,500 เมตร นักวิ่งต้องเจอสภาพอากาศหลากหลาย ต้องวิ่งทั้งกลางวันกลางคืน ลมแรง แดดร้อนเผาผิวหนังไหม้เกรียม รวมทั้งอากาศหนาวเหน็บถึงขั้นติดลบ ฝนตก หิมะตก แต่นักวิ่งมากมายใฝ่ฝันจะไปให้ถึงสนามนี้ สำหรับนักวิ่งชาวไทย พชรภรณ์อธิบายว่า นักวิ่งเทรลที่ต้องการไปวิ่ง UTMB ในปี 2565 จะต้องมีคะแนนสะสมที่เรียกว่า Running Stone บวกกับ ดวงในการจับฉลาก จึงจะสามารถไปได้ นักวิ่งที่ผ่านสนามที่ได้รับการรับรองอย่าง Thailand By UTMB จะมีทั้ง Running Stone และเพิ่มโอกาสในการจับฉลากมากกว่านักวิ่งที่ไม่ได้ผ่านสนามที่ได้รับการรับรอง ดังนั้น Thailand BY UTMB จึงเป็นสนามที่นักวิ่งหลายๆคนต้องการจะมา เพื่อเพิ่มโอกาสและได้ Running stone ไปสู่เวทีโลก
จากเหตุผลนี้จึงเกิดโครงการ Ultra Trail Thailand Series ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพิ่งแถลงข่าวไปเมื่อต้นเดือน ธ.ค. เป็นโครงการยกระดับคุณภาพสนามวิ่งเทรลของไทย โดยสนับสนุนให้สนามวิ่งเทรลของไทยที่มีอยู่แล้วเข้าร่วมซีรีย์ เและจะกลายเป็นสนามที่มีแต้มสะสมเรียกว่า “Ruby” (ทับทิมสยาม) โดย Ruby จะใช้เป็นคะแนนสะสมสำหรับนักวิ่งที่ต้องการสมัคร Thailand By UTMB นั่นเอง
Ultra Trail Thailand Series ประกอบด้วย 3 สนาม คือ ตะนาวศรีเทรล, Ultra Trail Phatthalung, Thailand By UTMB
"ด้วยโปรเจคนี้ Ultra Trail Thailand Series ก็เลยทำให้ ตะนาวศรีเทรล เป็น 1 ในสะพานที่เชื่อมต่อนักวิ่งเทรลไทย ไปยังสนามเทรลของโลกอย่าง UTMB ค่ะ" พชรภรณ์กล่าวและว่า แม้ตะนาวศรีเทรลริเริ่มจากภาคเอกชนไม่กี่คน แต่งานใหญ่ระดับนี้ดำเนินมาได้ด้วยดีต้องอาศัยภาครัฐนั่นคือ จ.ราชบุรีที่ได้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน
วิสาห์ พูลศิริรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีเล่าถึงบทบาทของภาครัฐว่า ราชบุรีมีกิจกรรมวิ่ง ปั่นจักรยาน กีฬากลางแจ้ง ปีละหลายสิบครั้ง ซึ่งทางจังหวัดก็ส่งเสริมเพราะ 1. การออกกำลังกายทำให้ประชาชนสุขภาพดี ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของภาครัฐ 2. ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ 3. อ.สวนผึ้งเป็นพื้นที่ธรรมชาติ อุทยานธรรมชาติวิทยาเป็นโครงการในพระราชดำริ เมื่อคนมาเห็นการรักษาธรรมชาติไว้ได้เป็นอย่างดีของอ.สวนผึ้งก็อยากมาอีก และบอกกันปากต่อปาก
“ช่วงสองปีที่ผ่านมาจังหวัดราชบุรีร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา สสส. มหาวิทยาลัยราชภัฏทำมาตรฐานการวิ่งของจังหวัดราชบุรีให้ได้ตามแนวที่กระทรวงการท่องเที่ยวและ สสส. วางไว้ เช่น กำหนดจุดให้น้ำ การจัดรถพยาบาล เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (เออีดี) ทีมกู้ชีพ จุดประสานงานกลางเพราะคนจัดวิ่งเยอะ ตั้งแต่รายการสมัครเล่น 200-300 คน ไปจนถึงหลักพันหลักหมื่นซึี่งมาตรฐานต่างกัน” รองผู้ว่าฯ เล่าถึงสิ่งที่จังหวัดทำ ยิ่งปีนี้มีโควิด-19 ระบาดยิ่งต้องดูแลเพิ่มขึ้น เริ่มต้นจากผู้จัดต้องประเมินนักวิ่งว่ามาจากจุดเสี่ยงหรือไม่
ส่วนความร่วมมือของภาคประชาชน รองผู้ว่าฯ กล่าวว่า ประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการแสดงในพิธีเปิดของนักเรียนโรงเรียนบ้านสวนผึ้ง ชาวบ้านในชุมชนร่วมบริการในจุดให้น้ำ/อาหารแก่นักวิ่ง โรงพยาบาลรัฐ/เอกชนในราชบุรีร่วมให้บริการทางการแพทย์ ทหารและตชด.ร่วมดูแลเส้นทางการวิ่ง