ภาพอนาคต ‘วิ่งเลียบผา’ การระบาดระลอกใหม่ 'โควิด-19'
มองภาพอนาคตประเทศไทย แนวทางการรับมือหลังวิกฤตโควิด-19 กับเส้นทาง 4 แบบที่อาจต้องเผชิญ แม้ขณะนี้ยังต้องเจอกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่ทำให้ประเทศเสมือนวิ่งเลียบผา แล้วไทยควรเดินไปทางไหนหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลายลง?
สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ในตอนนี้ ทำให้เราคนไทยคงต้องยกการ์ดขึ้นสูงอีกครั้ง เราต้องประเมินสถานการณ์และร่วมกันป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เลวร้ายลงไป จนเกินจะรับมือไหวทั้งทางด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจ
ผลงาน “มองภาพอนาคตประเทศไทย แนวทางการรับมือหลังวิกฤตโควิด-19” ที่ทางสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) ร่วมกันดำเนินการศึกษาและจัดทำตั้งแต่ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ช่วงแรก ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับรางวัลผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่นตอบรับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) และการปรับตัวอันเนื่องมาจากภาวะวิกฤติโควิด-19
ผลการศึกษานี้เป็นการศึกษาและวิเคราะห์ภาพอนาคตประเทศไทย ที่มีโอกาสเกิดขึ้นหลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 และข้อเสนอแนะแนวทางการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศหลังสถานการณ์คลี่คลาย เพื่อรองรับภาพอนาคตที่อาจเป็นไปได้
หากเปรียบเทียบภาพอนาคตประเทศเป็นเสมือนการเดินทางแล้ว เส้นทางต่างๆ ที่ประเทศไทยอาจต้องเผชิญบนเส้นทางสายโควิดนี้ มี 4 เส้นทาง คือ
• ซิ่งทางด่วน (Rosy Scenario) ประเทศไทยสามารถควบคุมโรคได้เบ็ดเสร็จและเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
ลากเกียร์ต่ำ (Slow but Sure) ประเทศไทยควบคุมโรคระบาดได้เบ็ดเสร็จ แต่ระบบเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว ภาพรวมประเทศเดินหน้าได้เรื่อยๆ อย่างช้าๆ ด้านสุขภาพค้นพบวัคซีนและยารักษาโรคได้ผล
• วิ่งเลียบผา (Risky Business) ประเทศไทยยังมีการระบาดซ้ำ แต่เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้ ภาคส่วนต่างๆ เคลื่อนตัวไปได้แต่ยังอยู่บนความเสี่ยง ทำให้ธุรกิจและประชาชนต้องใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง
• หลงป่า ติดหล่ม (Doomsday Scenario) เป็นภาพอนาคตที่เลวร้ายที่สุด ประเทศยังมีการระบาดซ้ำในขณะที่เศรษฐกิจหดตัว ทุกอย่างในประเทศหยุดชะงัก ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน
(ดาวน์โหลดหนังสือ “มองภาพอนาคตประเทศไทย แนวทางการรับมือหลังวิกฤติโควิด-19” ได้ที่ www.nxpo.or.th/th/report/6300/)
สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในปัจจุบัน สอดคล้องกับการวิเคราะห์ฉากทัศน์ (Scenarios) ของประเทศไทยหลังวิกฤติโควิด-19 ในรูปแบบ “วิ่งเลียบผา (Risky Business)” คือด้านสุขภาพยังไม่สามารถควบคุมโรค ขาดแคลนผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้มาตรฐานด้านสุขอนามัย ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างทั่วถึง
ด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจฟื้นตัวด้วยการใช้จ่ายภายในประเทศ ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวด้วยการบริโภคสินค้าบริการและการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยมีแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรมต่างๆ รวมถึงได้รับการลงทุนจากภาครัฐเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพ
นอกจากนี้ในด้านสังคม เกิดการระบาดซ้ำจากนอกประเทศ คือคนไทยยังรักษามาตรการเว้นระยะห่าง ส่วนภาวะภายนอกประเทศยังคงมีการระบาด ทำให้เกิดการระบาดซ้ำจากกลุ่มคนลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายหรือนักท่องเที่ยว ด้านการศึกษา ผสมผสานการเรียน-การสอนแบบออนไลน์และออฟไลน์ คือการเรียนการสอนมีทั้งแบบออนไลน์และเข้าชั้นเรียน โดยมีหลักสูตรออนไลน์จากต่างประเทศที่น่าเชื่อถือ สามารถนำมาเทียบหน่วยกิตในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยได้
แม้ว่า ณ ขณะนี้จะมีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นแต่ก็ยังพอจะเดินหน้าไปได้ ทุกอย่างยังไม่ถึงขั้นหยุดชะงัก สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการในตอนนี้มีอย่างน้อย 3 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่
1.ปรับตัว บรรเทาผลกระทบและช่วยในการปรับตัว ช่วยเหลือเยียวยา เพิ่มสภาพคล่อง และให้เงินช่วยเหลืออย่างตรงจุดเป็นสิ่งจำเป็นและเร่งด่วน ณ เวลานี้ พร้อมๆ กันนั้นเราต้องสนับสนุนการจ้างงาน สร้างงานใหม่ให้ผู้ได้รับผลกระทบ อาทิ จับคู่เมืองปลอดภัยเพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างกัน (Travel Bubble) ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย และสุขอนามัย กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) กระตุ้นระบบเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น เพื่อประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว สามารถพึ่งพาตัวเองได้
2.เปลี่ยนแปลง ยกระดับทักษะแรงงานและพัฒนาทุนมนุษย์ ยกระดับทักษะแรงงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด (Reskill & Upskill) ส่งเสริมการพัฒนาทักษะที่ตอบโจทย์อนาคต (Future Skill) พัฒนาความเป็นผู้ประกอบการในสาขาต่างๆ อาทิ Smart Farmer, Startup ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ วิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
3.เปลี่ยนผ่านธุรกิจและกิจกรรมสู่โลกดิจิทัล (Digital Transformation) พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลและกิจกรรมออนไลน์สำหรับภาคธุรกิจต่างๆ ส่งเสริมให้เกิดแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ เชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภคโดยตรง ส่งเสริมระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่านเทคโนโลยี ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลด้วยการสนับสนุนอย่างทั่วถึง สนับสนุนอุปกรณ์การศึกษาออนไลน์ เพิ่มทักษะด้านดิจิทัลให้ประชาชน
การมองภาพอนาคตหรือคิดแบบ Strategic Foresight ทำให้เราเห็นได้ว่ายังมีภาพอนาคตที่เลวร้ายที่สุด แบบภาพอนาคต “หลงป่า ติดหล่ม” (Doomsday Scenario) ซึ่งเป็นภาพอนาคตที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะหากเป็นเช่นนั้นประเทศจะเกิดการระบาดซ้ำในขณะที่เศรษฐกิจจะยิ่งหดตัว ทุกอย่างในประเทศหยุดชะงัก ทำให้อาจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนานมาก
วิ่งเลียบผา ภายใต้การระบาดระลอกใหม่ถึงจะเสี่ยงแต่ก็ยังพอเดินทางไปกันได้ เราคงไม่อยากให้ประเทศเดินทางไปถึงเส้นทางที่ต้อง หลงป่า ติดหล่ม ฉะนั้น อย่ารอช้าที่จะปรับตัว เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่าน