ชุดตรวจโควิด-19 COXY-AMP แม่นยำ ไว ได้ปริมาณเยอะ
การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นวิกฤตที่ทั่วโลกต้องประสบพบเจอแต่ในวิกฤตมีโอกาส โดยเฉพาะนักวิจัยของไทย
สถานการณ์โรคโควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้นักวิจัยทั้งในส่วนของภาครัฐ มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานเอกชนมีความตื่นตัวในการคิดค้น ผลิต "นวัตกรรมเครื่องมือทางการแพทย์" มากขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการนำเข้า"อุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์"จำนวนมาก โดยนำเข้าปีละ 70,000 ล้านบาท ขณะที่การเติบโตปี 2564-2565 คาดว่ามูลค่าการจําหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะเติบโตเฉลี่ย 6.5% ต่อปี ส่วนมูลค่าการส่งออกจะเฉลี่ยที่ 5.0% ต่อปี ซึ่งไทยมีศักยภาพทั้งด้านบุคลากร นักวิจัย องค์ความรู้ในการคิดค้นเครื่องมืทางการแพทย์ แต่ด้วยข้อจำกัดทั้ง เรื่องของเทคโนโลยีขั้นสูง และการลงทุนต่างๆ ส่งผลให้นักวิจัยไทยมุ่งผลิตเครื่องมือทางการแพทย์เบื้องต้น หรือเครื่องมือแพทย์ฉุกเฉินมากกว่า หรือเป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนเท่านั้น
วรรณสิกา เกียรติปฐมชัย นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพและการตรวจวัด ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่าด้วยวิกฤตการณ์โรคโควิด-19 ที่มีการระบาดทั่วโลก ส่งผลให้นักวิจัยไม่สามารถนิ่งเฉยได้ เพราะเรามีองค์ความรู้ มีเทคโนโลยีต้องช่วยกันคิดค้นนวัตกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ที่มาช่วยบุคลากร ทางการแพทย์ ในการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยโควิด-19 รวมถึงต้องช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ในการนำเข้าเครื่องมือเหล่านี้จาต่างประเทศด้วย เพราะต้องยอมรับว่า ประเทศไทยถึงจะมีบุคลากรที่มีองค์ความรู้ สร้างคิค้นนวัตกรรมทางการแพทย์ได้ แต่ยังมีไม่มากพอ ส่วนหนึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
"ทางทีมวิจัยเห็นว่าชุดตรวจโควิด-19 เทคนิค RT-PCR เป็นเทคนิคที่มีความถูกต้อง แม่นยำ ประสิทธิภาพสูง แต่มีราคาสูงและส่วนหนึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งยังไม่สามารถนำไปใช้ตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วและปริมาณมากได้ จึงได้คิดค้น ชุดตรวจโควิด-19 แบบเร็ว อ่านผลง่ายและแม่นยำในขั้นตอนเดียว หรือ COVID-19 Colorimetric Detection Kit (COXY-AMP) "วรรณสิกา กล่าว
โดยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว คือการเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมของเชื้อโรคอย่างจำเพาะเจาะจง ภายใต้อุณหภูมิที่คงที่ โดยใช้อุณหภูมิเดียว 60-65 องศาเซลเซียล และสามารถตรวจได้ง่าย เพราะเป็นการดูความเข้มข้นของสารละลายที่เกิดขึ้น ซึ่งใช้สีในการดู ไม่ใช่เพียงความขุ่นเท่านั้น โดยถ้าไม่ติดเชื้อจะเป็นสีม่วง แต่ถ้าติดเชื้อจะเปลี่ยนจากสีม่วงเป็นสีเหลือง สะดวกต่อการใช้ตรวจ
ปัจจุบัน COXY-AMP ประกอบด้วย 2 ชุด คือ 1. COXY-AMP ชุดตรวจโรคโควิด-19 ซึ่งใช้ตรวจหาสารพันธุกรรมชนิด RNA ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) แต่ด้วยปัจจุบันวิธีการสกัด RNA จากคนไข้ทำได้หลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีจะให้คุณภาพและปริมาณของ RNA ที่แตกต่างกัน ทีมวิจัยจึงพัฒนาชุดตรวจที่ 2. COXY-AMP Internal Control เป็นชุดตรวจที่ใช้ประเมินคุณภาพของ RNA ที่นำมาทดสอบว่ามีคุณภาพและปริมาณที่ดีพอหรือยัง เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่แม่นยำ
ส่วนวิธีการทำงาน ทั้ง 2 ชุดตรวจ มีผู้ใช้ใส่สารพันธุกรรม RNA ที่สกัดได้ในหลอดปฏิกิริยาทดสอบ และนำไปบ่มที่อุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 75 นาที จากนั้นสีของสารในหลอดปฏิกิริยาจะเปลี่ยนอัตโนมัติ โดย COXY-AMP ชุดตรวจโรคโควิด-19 จะเปลี่ยนจากสีม่วงเป็นสีเหลือง แสดงว่ามีการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2
ส่วน COXY-AMP Internal Control จะเปลี่ยนจากสีม่วงเป็นสีเขียว หมายถึงสารพันธุกรรม RNA ที่นำมาทดสอบนั้นมีคุณภาพดีเพียงพอ“หากนำเทคโนโลยี COXY-AMP มาเปรียบเทียบกับ RT-PCR จะพบว่า COXY-AMP มีต้นทุนในการตรวจคัดกรองเพียง 300 บาทต่อตัวอย่าง
ขณะที่ RT-qPCR มีต้นทุนสูงกือบ 1,000 บาท นั่นเท่ากับ COXY-AMP มีราคาถูกกว่าถึง 3 เท่า หากแต่ว่าความเป็นจริงราคาตรวจโรคโควิด-19 ด้วย RT-PCR ในประเทศไทยนั้น มีราคาสูงถึง 5,000 บาทต่อตัวอย่าง ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงมาก
นอกจากนี้ COXY-AMP ยังใช้อุปกรณ์ในการตรวจคือกล่องให้ความร้อนซึ่งมีราคาเพียง 10,000 บาท ถูกกว่าRT-PCR ถึง 100 เท่า เพราะเครื่องตรวจ RT-PCR มีราคาตั้งแต่ 600,000-1,000,000 บาท COXY-AMP ไม่เพียงมีต้นทุนที่ถูกกว่า แต่ยังมีประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 อย่างมาก โดยจากการทดสอบชุดตรวจนี้กับตัวอย่างเริ่มต้น 146 ตัวอย่าง พบว่ามีความไว(sensitivity)เป็น 92% ความจำเพาะ(specificity)100 % และความถูกต้อง (accuracy) 97% อีกทั้งยังสามารถแสดงผลได้ภายใน 75 นาที ซึ่งเร็วกว่า RT-PCR ถึง 2 เท่า
วรรณสิกา กล่าวต่อว่า ชุดตรวจ COXY-AMP ซึ่งเทคนิค AMP จะต่างจากเทคนิคเดิม มีความแม่นยำ ตรวจไว และราคาถูกกว่า 3 เท่า และสามารถการคัดกรองได้จำนวนมากๆ อย่าง กรณีสมุทรสาคร หรือพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุด ก็สามารถเข้าไปตรวจได้ทันที และช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่รัฐบาลได้ถึง 3 เท่า โดยปัจจุบันได้มีการทดสอบกับโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน และได้ขอขึ้นทะเบียนกับสำนักคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แล้ว คาดว่าจะได้รับการรับรองสิ้นเดือนม.ค.นี้
สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นได้ว่าจริงๆ แล้วคนไทยเก่งมาก ทั้งแพทย์ และนักวิจัย หรือภาคส่วนต่างๆ ที่ได้มีการคิดค้น เทคโนโลยีเกี่ยวกับโควิด-19 มากมาย และทำให้เห็นความตื่นตัวของประเทศไทยในการสนับสนุนการผลิตนวัตกรรม เครื่องมือทางการแพทย์มากขึ้น
"ที่ผ่านมาแม้จะเป็นการสนับสนุน แต่ยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากเมื่อผลิตออกมาส่วนหนึ่งแพทย์ไทย โรงพยาบาลไทยเองก็ไม่ใช่ ทั้งที่เครื่องมือแพทย์ทุกชิ้นก่อนจะวางจำหน่าย หรือผลิตออกมาได้นั้นต้องผ่านการรับรองจากอย. หรือมาตรฐานระดับสากล ดังนั้น อยากให้แพทย์ไทย โรงพยาบาลไทย ทดลองใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ผลิตโดยคนไทยก่อนอย่าพึ่งตัดสินหรือฟันธงว่าสู้ต่างชาติไม่ได้ หลายชิ้นมีประสิทธิภาพมากและช่วยประหยัดการนำเข้าได้มาก อยากให้ทดลองใช้ก่อน เช่นเดียวกับนักวิจัย อยากให้มุ่งมั่นตั้งใจผลิต และผู้บริหารต้องช่วยผลักดันทั้งเรื่องทุนวิจัย และการส่งเสริมด้านอื่นๆ ร่วมด้วย" วรรณสิกา กล่าว
ขณะนี้ ได้มีการส่งชุดตรวจโควิด-19 แบบเร็ว อ่านผลง่ายและแม่นยำในขั้นตอนเดียว หรือ COVID-19 Colorimetric Detection Kit (COXY-AMP) เข้าประกวดโครงการ “Rapid COVID Testing” ของมูลนิธิ X-Prize (ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลก ดำเนินการระดมทุนแบบ Crowd Funding เพื่อแก้ปัญหาระดับโลกในมิติต่างๆ) และได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งใน 20 ผลงานเพื่อทดสอบแข่งขันในรอบสุดท้าย (Finalists) จาก 702 ผลงานที่ส่งเข้าแข่งขันเบื้องต้นจากทั่วโลก ซึ่งหากติด 1 ใน ผลงาน โดยจะประกาศผลในเดือนก.พ.2564นี้ จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 5 แสนเหรียญสหรัฐ เพื่อให้นำไปใช้ผลิตและขยายผลชุดตรวจไปทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม หากได้รับรางวัลเพื่อนำเงินมาต่อยอดในการผลิตและขยายผลชุดตรวจ อีกทั้งได้รับรองมาตรฐานจากสหรัฐอเมริกาแล้ว หรือได้รับการรับรองจากอย.ในปลายเดือนม.ค.นี้ ทางทีมวิจัยจะเดินหน้าผลิตชุดตรวจประมาณ 10,000 เทสต่อเดือนและจะขยายผลให้มากกว่านี้ เพื่อช่วยค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 และลดการนำเข้าชุดตรวจจากต่างประเทศ