สุดทางรบ ! กับการเกิดขึ้นของ ‘สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์’

สุดทางรบ ! กับการเกิดขึ้นของ ‘สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์’

เจาะลึกเส้นทางสู่สันติภาพของมนุษยชาติ จากความพยายามนานเกือบศตวรรษสู่การเกิดขึ้นของ “สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์” Treaty on the Prohibition of Nuclear Weapons (TPNW) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 มกราคม 2021

ภาพความโหดร้ายที่ฮิโรชิมะและนางาซากิหลังจากถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณูคือประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งอันน่าเศร้าสลดของโลก สะท้อนว่าสงครามที่มีแต่การนองเลือดและสูญเสียไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด นำมาสู่ความพยายาม “ปลดอาวุธนิวเคลียร์” ออกจากเส้นทางความขัดแย้งที่พร้อมจะปะทุและทำลายล้างได้ทุกเมื่อ

ความพยายามตลอดหลายสิบปีที่แทบจะเป็นเพียงแสงสว่างอันริบหรี่ ลุกโชนเป็นกองไฟแห่งความหวังที่มวลมนุษยชาติจะได้อยู่ร่วมกันอย่าง "สันติสุข" เพราะในวันที่ 22 มกราคม 2021 นี้ สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Prohibition of Nuclear Weapons (TPNW) จะมีผลบังคับใช้ เพื่อสร้างบรรทัดฐานการกำจัดอาวุธ “นิวเคลียร์” ได้อย่างเป็นทางการ

จุดประกายและคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) จะพาไปเจาะลึกในข้อสงสัยว่า หน้าตาของโลกใหม่ (ถ้า) ไร้อาวุธนิวเคลียร์นั้นจะเป็นอย่างไร?

161111960433

  • อะไรคือสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์

ความน่าสะพรึงกลัวของอาวุธ “นิวเคลียร์” เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก แต่มีหลายคนหลายองค์กรพยายามผลักดันให้เกิดบางสิ่งบางอย่างเพื่อควบคุมไม่ให้ “นิวเคลียร์” ถูกใช้เพื่อทำลายล้างชีวิตมนุษย์อีกต่อไป จนกระทั่ง “สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์” ก่อตัวขึ้น สนธิสัญญาฉบับนี้เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับแรกเกี่ยวกับการห้ามอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมาย โดยการห้ามพัฒนา ทดลอง ผลิต จัดเก็บในคลัง ติดตั้ง ถ่ายโอน ใช้ หรือขู่ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงสนับสนุนหรือส่งเสริมกิจกรรมใดๆ ข้างต้น ซึ่งสนธิสัญญาฯ จะมีผลบังคับใช้เมื่อมีรัฐภาคียื่นสัตยาบันสารครบ 50 ประเทศ

และแล้วการต่อสู้ผ่านสนธิสัญญาฉบับนี้ก็สมบูรณ์เมื่อประเทศฮอนดูรัสได้ตัดสินใจยื่นสัตยาบันเป็นประเทศที่ 50 เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ทำให้สนธิสัญญาเริ่มมีการนับถอยหลังเพื่อบังคับใช้ภายใน 90 วัน หมายความว่าตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2021 จะมีผลบังคับใช้

สำหรับรายชื่อประเทศภาคีที่ร่วมลงชื่อให้สัตยาบันใน “สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์” รวม 50 ประเทศ ได้แก่ แอนติกาและบาร์บูดา, ออสเตรีย, บังกลาเทศ, เบลีซ, โบลิเวีย, หมู่เกาะคุ๊ก, คอสตาริกา, คิวบา, โดมินิกัน, เอกวาดอร์, เอลซัลวาดอร์, ฟิจิ, แกมเบีย, กายอานา, นครรัฐวาติกัน, ฮอนดูรัส, ไอร์แลนด์, จาไมกา, คาซัคสถาน, คิริบาตี, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, เลโซโท, มาเลเซีย, มัลดีฟส์, มอลตา, เม็กซิโก, นามิเบีย, นาอูรู, นิวซีแลนด์, นิการากัว, ไนจีเรีย, นีอูเอ, ปาเลา, ปาเลสไตน์, ปานามา, ปารากวัย, เซนต์คิตส์และเนวิส, เซนต์ลูเซีย, เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์, ซามัว, ซานมารีโน, แอฟริกาใต้, ไทย, ตรินิแดดและโตเบโก, ตูวาลู, อุรุกวัย, วานูอาตู, เวเนซุเอลา, เวียดนาม และ ฮอนดูรัส

นอกจากนี้ยังมีประเทศล่าสุดที่เข้าร่วมภาคีคือประเทศเบนิน เป็นลำดับที่ 51 ด้วย

ซึ่งประเทศไทยคือหนึ่งในสามประเทศที่ให้สัตยาบันในสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์โดยได้ลงนามในวันแรกร่วมกับนครรัฐวาติกันและกายอานาตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2017

ข้อมูลจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ระบุว่า แม้จำนวนรัฐที่ให้สัตยาบัน (หมายถึงให้การยืนยันว่าประสงค์จะให้สนธิสัญญานั้นมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายในประเทศ) จะมีเพียง 51 ประเทศ แต่ยังมีอีก 35 ประเทศ ที่ลงนามในสนธิสัญญาฯ ซึ่งแม้ว่าข้อกำหนดของสนธิสัญญาจะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าสนธิสัญญานี้ ได้รับผลตอบรับที่ดี และคาดว่าจะมีภาคีเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

161111960443

  • ประเทศไร้นิวเคลียร์ ใครได้ ใครเสีย

แม้ว่าในบรรดา 51 ประเทศที่ให้สัตยาบันในสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์จะไม่มีประเทศใดเลยที่มีนิวเคลียร์ในครอบครอง ทว่าผลที่ตามมาของสนธิสัญญาฯ ก็ยังเป็นความหวังที่ดี เพราะ “สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์” สร้างบรรทัดฐานร่วมกันว่า การใช้อาวุธที่ว่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้ ดังนั้น จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อกดดันให้รัฐที่มีอาวุธ “นิวเคลียร์” ในครอบครองเริ่มหันมามองถึงความชอบธรรมในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ โดยอาจเริ่มลดหรือกำจัดอาวุธต่อไปในอนาคต

สนธิสัญญาดังกล่าวยังมีส่วนช่วยสนับสนุนสนธิสัญญาก่อนหน้า คือ "สนธิสัญญาห้ามการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์" Nuclear Non-Proliferation Treaty (NPT) ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญสามอย่าง คือ การไม่ส่งต่อความรู้เรื่องนิวเคลียร์ให้รัฐอื่น, การสนับสนุนการปลดอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศที่มีนิวเคลียร์ในครอบครอง และการสนับสนุนการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ สนธิสัญญาที่ว่านี้มีรัฐผู้ลงนามมากถึง 189 ประเทศ

ความพยายามที่จะส่งเสริมให้ทุกชาติหันมาปลดอาวุธนิวเคลียร์อาจเห็นผลไม่ได้ในวันนี้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสนธิสัญญาที่ว่าไม่มีความสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศคาซัคสถานที่เคยมีอาวุธนิวเคลียร์มาก่อนแต่ก็ได้ปลดอาวุธตัวเองมาแล้วตั้งแต่ปี 1995 และยังเข้ามาเป็นภาคีสัตยาบันอนุสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์เป็นชาติที่ 26 ในขณะที่อิหร่านซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เคยมีข้อพิพาทพัวพันเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ก็ลงมติเห็นชอบสนธิสัญญาตัวนี้ในที่ประชุมของสหประชาชาติซึ่งเคยจัดขึ้นในนิวยอร์กเมื่อปี 2017

อาจกล่าวได้ว่า สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์เป็นก้าวเล็กๆ ในความพยายามที่ยิ่งใหญ่สำหรับมนุษยชาติในรุ่นต่อไปที่จะได้ใช้ชีวิตในโลกที่ไร้ซึ่งภัยจากอาวุธนิวเคลียร์

และเมื่อสนธิสัญญามีผลบังคับใช้ อาจมีข้อสงสัยว่า อาวุธ “นิวเคลียร์” จะเป็นสิ่งผิดกฎหมายในทันทีหรือไม่ คำตอบคือ เมื่อปี 1996 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ได้ให้ความเห็นในเรื่องความชอบธรรมในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ไว้ว่า “การใช้หรือขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อการรุกรานเป็นการขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศที่ปรับใช้ในการขัดกันทางอาวุธ และหลักการของกฎหมายมนุษยธรรม แต่หากการใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้นเป็นการตอบโต้ซึ่งไปตามหลักการกฎหมายมนุษยธรรมและไม่ขัดกับข้อผูกมัดทางสนธิสัญญาระหว่างประเทศของรัฐนั้น ก็อาจไม่ถือว่าขัดกับหลักกฎหมาย”

จึงน่าสนใจว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปี 1996 กล่าวถึงประเด็นความชอบธรรมในการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องตัวเองหรือเพื่อความอยู่รอดของชาติว่า “ชี้ชัดไม่ได้ถึงความชอบธรรมหรือความผิด”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในทางกฎหมาย การขู่ว่าจะใช้หรือการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อรุกราน โดยทางหลักการแล้วมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นความผิดภายใต้กฎหมายอาญาระหว่างประเทศ อย่างน้อยที่สุดก็ภายใต้เขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ในฐานความผิดของการรุกราน และเป็นการขัดกับหลักของสหประชาชาติในเรื่องการรักษาธำรงไว้ซึ่งสันติภาพของประชาคมโลก

หมายความว่า แนวคิดของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อปี 1996 อาจไม่สะท้อนแนวคิดต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ในปัจจุบัน เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศและความตื่นตัวจากหลายภาคส่วนมีการยอมรับถึงผลกระทบของอาวุธนิวเคลียร์มากขึ้น กระทั่งมีการยอมรับสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ Treaty on the Prohibition of Nuclear Weapons (TPNW) ในปี 2020 (แม้จะมีหลายรัฐที่ไม่ยอมรับสนธิสัญญานี้ก็ตาม)

แน่นอนว่าประเทศที่ให้สัตยาบันในสนธิสัญญานี้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย การพัฒนา ทดลอง ผลิต จัดเก็บในคลัง ติดตั้ง ถ่ายโอน ใช้ หรือขู่ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์จะถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายทันทีเมื่อสนธิสัญญาบังคับใช้

161111960540

สัญญาณแห่งสันติภาพจากอาวุธ “นิวเคลียร์” จากการเกิดขึ้นของ “สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์” นั้นเป็นรูปธรรมที่สุดคือ บรรดาชาติที่ให้สัตยาบันจะต้องทำลายอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง หรือมีข้อผูกมัดที่ต้องทำลายอาวุธนิวเคลียร์ตามกรอบเวลาที่กำหนด

โดยที่ในระยะแรก ประเทศที่เข้าร่วมสนธิสัญญาฉบับนี้จะมีเวลา 30 วันเพื่อประกาศอย่างเป็นทางการว่า พวกเขามีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองหรือไม่ ถ้ามี ประเทศเหล่านี้จะต้องทำลายอาวุธนิวเคลียร์ตาม “ข้อผูกมัดตามกฎหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด” และจะต้องยกเลิกโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และดำเนินวิธีการเหล่านี้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยไม่หวนกลับมาได้อีก

แม้ประเทศมหาอำนาจหลายประเทศจะไม่เข้าร่วมสัตยาบันนี้ แต่ 51 ประเทศ ก็เป็นจำนวนไม่น้อยเมื่อเทียบกับความหวังที่จะทำให้โลกนี้ไม่มีใครใช้ “นิวเคลียร์” เพื่อคุกคามใคร