'ประกันสังคม' ช่วยผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่โดนพิษ 'โควิด-19' ยังไงบ้าง?
เช็คลิสต์ "ประกันสังคม" ให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตน มาตรา 33 ยังไงบ้าง? ทั้งในกรณีทั่วๆ ไป และกรณีสุดวิสัยอย่าง ผู้ได้รับผลกระทบจาก "โควิด-19" จนต้อง "ตกงาน" กะทันหันแทบไม่ทันตั้งตัว
เมื่อประเทศไทยต้องเผชิญกับการระบาด "โควิด-19" ระลอกใหม่ ทำให้ภาคธุรกิจน้อยใหญ่ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ไม่ใช่แค่นายจ้าง แต่ลูกจ้างหรือพนักงานก็โดนพิษโควิดไปตามๆ กัน โดยเฉพาะพนักงานผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่เข้าระบบ "ประกันสังคม" ก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยไปกว่าใคร แต่กลับได้รับการ "เยียวยาโควิด" ค่อนข้างน้อยกว่ากลุ่มอื่น อย่างโครงการ "เราชนะ" กลุ่มมาตรา 33 ก็หมดสิทธิไปอีก
แล้วแบบนี้.. "ประกันสังคม" จะมีส่วนช่วยเหลือผู้ประกันตนกลุ่มนี้ยังไงบ้าง? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ชวนมาหาคำตอบไปด้วยกัน
- กรณีทั่วไป "ประกันสังคม" ช่วยเหลือผู้ประกันตนยังไงบ้าง?
ประกันสังคม คือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่มีรายได้ และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อรับผิดชอบเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์ ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล และมีการทดแทนรายได้ โดยทั่วไปหากเป็นผู้ประกันตน ม.33 จะต้องจ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคมจำนวน 5% ของเงินเดือน ทุกเดือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ประกันสังคม ม.33 ม.39 ม.40 ต่างกันยังไง 'โควิดรอบใหม่' ได้ 'เยียวยา' อะไรบ้าง?
- 'ประกันสังคมมาตรา 33' ลดเงินสมทบเหลือ 75 บาท 2 เดือน ครม.อนุมัติแล้ว
- 'ประกันสังคม มาตรา 33' อดเงิน 'เราชนะ' ตกลงได้เยียวยา อะไรบ้าง?
คุณสมบัติ ผู้ประกันตนมาตรา 33
- พนักงานเอกชนทั่วไป
- ลูกจ้างที่ยังทำงานในสถานประกอบการที่มีนายจ้าง
เงินสมทบ
5% ของเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน
สำหรับในเคสทั่วๆ ไป หากผู้ประกันตนเกิดมีเหตุให้ "ตกงาน" หรือ "ว่างงาน" หรือเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ ชราภาพ ฯลฯ ทางสำนักงานประกันสังคมจะให้ความช่วยเหลือ ดังนี้
สิทธิประโยชน์
- ว่างงาน :
- ว่างงาน จากการถูกเลิกจ้าง ได้รับเงินชดเชย 50% ของเงินเดือน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน
- ว่างงาน จากการลาออก ได้รับเงินชดเชย 30% ของเงินเดือน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
- เมื่อลาออกจากงาน สามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อได้อีก 6 เดือน โดยมิต้องเสียค่าใช้จ่าย (กรณีเจ็บป่วย ประสบอันตราย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต)
- เจ็บป่วย : รับเงินชดเชยหยุดงาน 70% ของเงินเดือน ต้องมีใบรับรองแพทย์
- คลอดบุตร : เหมาจ่ายครั้งละ 13,000 บาท ได้เงินชดเชยหยุดงาน 50% ของเงินเดือน เป็นเวลา 90 วัน
- สงเคราะห์บุตร : เดือนละ 800 บาท ต่อเนื่องตั้งแต่ 0-6 ปี คราวละไม่เกิน 3 คน
- ทุพพลภาพ : รับเงินชดเชยหยุดงานเพิ่มเป็น 70% ของเงินเดือน ไม่น้อยกว่า 15 ปี
- ชราภาพ : รับเงินบำนาญชราภาพ 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน)
- เสียชีวิต : นายจ้างต้องจ่ายค่าทำศพให้ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
การสมัคร
นายจ้างดำเนินการให้
- กรณีเหตุสุดวิสัย "โควิด-19" ประกันสังคมช่วยเหลือยังไงบ้าง?
ผู้ที่อยู่ในประกันสังคมมาตรา 33 มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย "โควิด-19" ระลอกที่ 2 ซึ่งเงินเยียวยานี้จะจ่ายให้กับ "ลูกจ้าง" ที่อยู่ใน "ประกันสังคม มาตรา 33" ที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไข"
คือต้องเป็น "ลูกจ้าง" ที่ต้องหยุดงานกรณีกักตัวหรือราชการสั่งปิดสถานที่เนื่องจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน 50% ของค่าจ้างรายวัน โดยจะได้รับตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัวหรือเฝ้าระวัง หรือมีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าว (แล้วแต่กรณี) รวมกันไม่เกิน 90 วัน และถ้าเป็นการหยุดกิจการบางส่วนหรือทั้งหมด นายจ้างต้องจ่ายเงินให้กับลูกจ้างไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้าง ก่อนหยุดการจ้างเป็นการชั่วคราว
โดยคำว่า "เหตุสุดวิสัย" ที่ให้มีการ "จ่ายเงินทดแทนได้" หมายถึง ภัยที่เกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชนถึงขนาดที่ทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ หรือ นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ การกำหนดให้กรณีมีเหตุสุดวิสัยและหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตราย อันส่งผลให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น
- ขั้นตอนการขอรับเงินเยียวยา กรณีเหตุสุดวิสัยจาก "โควิด-19"
กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย "โควิด-19" ระลอกใหม่ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการที่ถูกสั่งปิดจากรัฐ จะต้องดำเนินการเพื่อขอรับ "เงินเยียวยา" กับ "นายจ้าง" ตามขั้นตอนเบื้องต้น ดังนี้
1. ลูกจ้างกรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7) แล้วส่งให้นายจ้าง พร้อมแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก
2. นายจ้างรวบรวมแบบคำขอ (สปส.2-01/7) จากลูกจ้างทุกคนที่ยื่น
3. นายจ้างบันทึกข้อมูลในระบบ e-service (www.sso.go.th) ใส่ข้อมูลลูกจ้างตามแบบคำขอ (สปส.2-01/7) แนบหนังสือรับรองการหยุดงานกรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว
4. นายจ้างนำส่งแบบคำขอ (สปส.2-01/7) ไปที่ สนง.ประกันสังคมในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ภายใน 3 วันทำการ
5. สนง.ประกันสังคม ได้รับข้อมูลพร้อมตรวจสอบให้ถูกต้องครบถ้วน จากนั้นจะทำการอนุมัติจ่ายรอบแรก เงินเข้าบัญชีภายใน 5 วันทำการ ส่วนที่เหลือโอนเข้าบัญชีทุกสิ้นเดือนจนครบ *กรณีเงินไม่เข้าบัญชี โทร.สายด่วน 1506
---------------------
อ้างอิง :
www.sso.go.th/ยื่นขอรับสิทธิกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย-โควิด-19