สธ.เตรียมระบบฉีดวัคซีนโควิด-19 รับ “ซิโนแวค” ล็อตแรก 2 แสนโดส
สธ. ทดสอบระบบการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 8 ขั้นตอน ณ รพ.ราชวิถี เตรียมรับวัคซีนซิโนแวค ล็อตแรก 2 แสนโดส ที่จะมาถึงในวันที่ 24 ก.พ. นี้ สร้างความมั่นใจในระบบบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย เปิดช่องทาง Line Official Account “หมอพร้อม”
วานนี้ (16 ก.พ. 64) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวขณะลงพื้นที่ทดสอบระบบการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ณ รพ.ราชวิถี ว่า วัคซีนถือว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค ช่วยลดอาการป่วยรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิต จากการตรวจเยี่ยมการทดสอบระบบการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ รพ.ราชวิถี ที่เป็นหนึ่งใน รพ.ขนาดใหญ่ของกรมการแพทย์ ได้มีการทดสอบระบบการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งทำข้อมูลผู้ลงทะเบียน และทำความเข้าใจกับทุกภาคีเครือข่าย
สิ่งสำคัญ คือ การรวบรวมข้อมูล การลงทะเบียน ผู้ที่สมัครใจฉีด ต้องเป็นข้อมูลที่ถูกบันทึกเพื่อการตรวจสอบตั้งแต่ก่อนฉีดและหลังฉีดว่า มีผลกระทบกับร่างกายหรือไม่อย่างไร และรายละเอียดต่างๆ ในการวางแผนและเตรียมความพร้อมร่วมกัน เพื่อความปลอดภัยของผู้ฉีดวัคซีน โดยการกระจายวัคซีน 2 แสนโดสแรก ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกระจายวัคซีนกำหนดว่าจะไปสู่พื้นที่ไหนกลุ่มใด คาดจะฉีดได้ต้นเดือนมีนาคม
โดย 8 ขั้นตอน ในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้แก่ “ขั้นตอนที่ 1” ลงทะเบียน (ทำบัตร) เพื่อยืนยันตัวตน “ขั้นตอนที่ 2” ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต “ขั้นตอนที่ 3” คัดกรอง ซักประวัติ และลงนามใบยินยอมการรับวัคซีน “ขั้นตอนที่ 4” รอฉีดวัคซีน “ขั้นตอนที่ 5” เข้ารับการฉีดวัคซีน จากนั้น
“ขั้นตอนที่ 6” จะให้ผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนทุกรายนั่งพักรอสังเกตอาการจนครบ 30 นาที โดยได้จัดให้มีพื้นที่ปฐมพยาบาล แพทย์ พยาบาล และอุปกรณ์ช่วยชีวิตสำหรับการดูแลผู้ที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดวัคซีน และมีการแนะนำวิธีการใช้ Line Official Account “หมอพร้อม” เพื่อติดตามอาการหลังการฉีดวัคซีน 1 วัน 7 วัน 30 วัน และรับการแจ้งเตือนเพื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 รวมถึงผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ครบทั้ง 2 เข็ม จะได้รับใบยืนยันการฉีดวัคซีน COVID-19 ทาง Line Official Account “หมอพร้อม” อีกด้วย
“ขั้นตอนที่ 7” จุดตรวจสอบก่อนกลับบ้าน เจ้าหน้าที่จะสอบถามอาการ ให้คำแนะนำ และออกใบนัดการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 และ “ขั้นตอนที่ 8” จะมีการแสดงผล Dash Board จาก Line Official Account “หมอพร้อม” แสดงการประเมินผลความครอบคลุมทุกกระบวนการการบริการ การติดตามอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนที่เกิดขึ้น
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อว่า ระบบบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ รพ.ราชวิถี เป็นแนวทางที่แต่ละ รพ.สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละที่ ซึ่งการให้บริการ ฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นความร่วมมือระหว่างกรมการแพทย์ กทม. รพ.เอกชน Uhosnet รพ.สังกัดกระทรวงกลาโหม และรพ.ตำรวจ อย่างไรก็ตาม วัคซีนโควิด-19 ที่จะมีการฉีดในครั้งนี้ ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายสำหรับกลุ่มเสี่ยงในระยะแรก ได้แก่ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน
2.บุคคลที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหอบหืดที่ควบคุมได้ไม่ดี โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังที่อยู่ระยะ 5 ขึ้นไป (ไตวายเรื้อรัง)โรคหลอดเลือดสมองโรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ในระหว่างเคมีบำบัด รังสีบำบัดและภูมิคุ้มกันบำบัด โรคเบาหวาน และ โรคอ้วน ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร และ 3.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค COVID-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย
“การบริหารจัดการระบบในเขตกทม. เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการโรคติดต่อกทม. โดยมีผู้ว่าฯ เป็นประธาน ทั้งนี้ เนื่องจาก รพ.ในกทม. มีหลายสังกัด กรมการแพทย์ จึงทำหน้าที่รับประสานกับ สธ. รวบรวมจำนวนประชาชนที่จะฉีดวัคซีนจาก รพ. ต่างๆ ทั้ง 7 กลุ่มโรคและจำนวนบุคลากรทั้งหมด ส่งให้กับ สธ. เบื้องต้นบุคลากรหน้างานมีราว 32,000 คน (เฉพาะในกทม.) ส่วนผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค อยู่ระหว่างรวบรวม หลังจากที่พูดคุยกันคร่าวๆ อาจจะฉีดในเขตที่เสี่ยงก่อน เพราะ 2 แสนโดสแรก กทม. น่าจะได้มาประมาณ 4 – 8 หมื่นโดส โดยคาดว่าใช้เวลาในการฉีดทั้งหมดราว 40 นาที”
“ในส่วนของต่างจังหวัด สาธารณสุขจังหวัดจะต้องรวบรวมจาก รพ.จังหวัด รพ.ทั่วไป รพ.ชุมชน และรพสต. ว่าใครที่มีสิทธิ์ฉีด ทั้งนี้ วัคซีนของซิโนแวค ในล็อตแรก เนื่องจากหลักการใช้ในคนที่อายุ 18 – 59 ปี ดังนั้น 60 ปีขึ้นไปยังไม่ครอบคลุม ทุก รพ.ในต่างจังหวัดจะต้องรวมประชากรที่ตัวเองดูแล ซึ่งต่างจังหวัดค่อนข้างง่ายเพราะส่วนใหญ่อยู่ในระบบ 30 บาท” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
ทั้งนี้ รพ.ราชวิถี ซึ่งได้เตรียมพร้อมสำหรับการให้บริการฉีดวัคซีน COVID-19 ตั้งแต่ มีนาคม 2564 เป็นต้นไป นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ความพร้อมของระบบลงทะเบียนจะเชื่อมโยงไปยังส่วนกลางของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อย รพ.จะมีการเตรียมผู้ป่วย เช็กสุขภาพ ความเสี่ยง หากมีความพร้อม กระบวนการฉีดจะดำเนินการเหมือนทุกวัคซีน ฉีดโดยพยาบาลที่มีความชำนาญ ซึ่งการฉีดวัคซีนโควิด-19 เหมือนกับการฉีดวัคซีนทั่วไป สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือจุดพักคอยดูอาการ 30 นาที เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ที่ฉีดไม่มีโรคแทรกซ้อนอย่างเร่งด่วน โดยจุดพักอยู่ติดกับห้องฉุกเฉิน มีความปลอดภัยมาก ก่อนกลับบ้านจะมีการให้ความรู้และนัดหมายครั้งต่อไป หากมีความผิดปกติสามารถรายงานผ่านระบบหมอพร้อมได้ทันที
“ตามมาตรฐานทั่วไปฉีดได้วันละประมาณ 500 ราย ขณะเดียวกัน ทางกรมการแพทย์และกทม. มีการวางแผนเตรียมสถานที่ที่สามารถฉีดได้หลายพันคนต่อวัน ซึ่งมีรถพยาบาลและทีมซัพพอร์ต เป็นจุดที่เดินทางสะดวก อาจจะเป็นศูนย์การค้า สนามกีฬา ฯลฯ เป็นการฉีดทั้งใน รพ. และ นอกสถานที่ตามเวลาที่นัดหมาย ทุกโรงพยาบาลในประเทศไทยสามารถฉีดได้ตามปกติ เพราะมีการเตรียมความพร้อม ขอย้ำว่าต้องมีการลงทะเบียนเพื่อให้ผู้รับบริการได้รับประโยชน์สูงสุด ตรงเวลานัดหมาย ไม่ต้องเสียเวลา แต่หากไม่ได้ลงทะเบียน จะมีเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือในการลงทะเบียนระบบหมอพร้อมให้ ซึ่งหากฉีดเข็มแรกแล้ว เข็มที่สองควรจะเป็นวัคซีนชนิดเดียวกันและ รพ.เดียวกัน โดยวัคซีนแต่ละชนิดมีระยะเวลาในการฉีดเข็มที่ 2 แตกต่างกันไป เช่น 8 – 12 สัปดาห์"
“จากการสำรวจเจ้าหน้าที่ใน รพ.ราชวิถี มีอยู่ราว 4,000 กว่าคน มีความสมัครใจฉีด 3,000 กว่าคน ยกเว้นกลุ่มที่ไม่ได้อยู่หน้างานและอายุน้อย ยังไม่จำเป็น ซึ่งทาง รพ. ได้ระดมพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน หรือ IC nurse อย่างน้อย 30 คน สำหรับปฏิบัติงานในการฉีด ขณะเดียวกัน จากการสำรวจผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค พบว่ามีอยู่หลักแสนรายส่งให้กระทรวงสาธารณสุข โดยคนไข้ ไม่จำเป็นต้องมาฉีดที่ รพ.ราชวิถีที่เดียว สามารถลงทะเบียนในระบบ และไปฉีดในสถานบริการใกล้บ้านรวมถึงที่ต่างจังหวัดได้” ผอ.รพ.ราชวิถี กล่าว
ทั้งนี้ ผลข้างเคียงหรือปฏิกิริยาภายหลังได้รับการฉีดวัคซีน มักมีอาการไม่รุนแรงและหายไปได้เองใน 1–2 วัน เช่น ปวด บวม แดง ร้อน คัน บริเวณที่ฉีด หรืออาจมีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่น ไม่สบายตัว ปวดเมื่อยตามตัวเล็กน้อย อ่อนเพลีย เป็นต้น แต่ก็อาจเกิดผลข้างเคียงที่อาการรุนแรงได้ เช่น ไข้สูง หนาวสั่น อาเจียนรุนแรง แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ใจสั่น หน้าบวม คอบวม บวมทั่วร่างกาย ผื่นลมพิษ ผื่นทั้งตัว ตุ่มน้ำพอง วิงเวียนอ่อนแรง ผิวหนังลอก ปวดข้อหรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อรุนแรง