'นอนไม่หลับ' ทำสุขภาพแย่ แนะ 10 วิธีช่วยให้หลับเพียงพอ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยประชาชนที่มีปัญหาการนอนไม่หลับ นอนหลับไม่เพียงพอ มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ โรคประจำตัว เพิ่มโอกาสเสี่ยงเกิดอุบัติบนท้องถนน แนะหลัก 10 วิธีช่วยให้หลับเพียงพอ และ มีคุณภาพ สร้างสุขอนามัยที่ดีในการนอน
สมาคมการแพทย์เพื่อการนอนหลับโลก ได้กำหนดให้วันศุกร์ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมทุกปี เป็นวันนอนหลับโลก (World Sleep Day) ซึ่งในปี 2564 นี้ กำหนดคำขวัญ “Regular Sleep Healthy Future” เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับการนอนหลับ และประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการนอน และเป็นโอกาสที่จะเผยแพร่ความรู้และพยายามส่งเสริมสุขภาพด้วยการนอน โดยปีนี้สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กรมอนามัย จัดงานวันนอนหลับโลกในประเทศไทย ภายใต้คำขวัญที่ว่า “หลับตื่นให้เป็นเวลา สุขภาพดีกว่าในอนาคต” เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงการนอนหลับที่เพียงพอและสุขอนามัยการนอนที่ดีทุกช่วงวัย พร้อมแนะหลัก 10 วิธีช่วยให้หลับเพียงพอ
นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า เนื่องจากการนอนหลับไม่เพียงพอ อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ โรคประจำตัว ภาวะภูมิต้านทานต่ำ และเพิ่มโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งพบว่าคนไทยร้อยละ 30 มีปัญหานอนไม่หลับช่วงกลางคืนหรือหลับไม่เพียงพอแบบไม่มีคุณภาพ และร้อยละ 10 ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีปัญหาการนอนไม่หลับเรื้อรัง โดยร่วมกันจัดทำคู่มือการนอนหลับเพื่อสุขภาพที่ดีสำหรับประชาชนทุกกลุ่มวัย ส่งเสริมให้มีสุขอนามัยการนอนหลับที่ดี มีระยะเวลาในการนอนที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย ได้แก่ เด็กก่อนวัยเรียนอายุ 3–5 ปี ควรมีระยะเวลาในการนอน 11-13 ชั่วโมง เด็กวัยเรียนอายุ 5-10 ปี ควรมีระยะเวลาในการนอน 10-11 ชั่วโมง วัยรุ่นอายุ 10–17 ปี ควรมีระยะเวลาในการนอน 8.5-9.5 ชั่วโมง วัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุควรมีระยะเวลาในการนอน 7-9 ชั่วโมง
- 10 วิธีช่วยให้หลับเพียงพอ
สำหรับวิธีการที่ช่วยให้หลับเพียงพอและสุขอนามัยที่ดีในการนอนหลับ (Sleep hygiene) สามารถปฏิบัติได้ตามหลัก 10 ประการ ดังนี้ 1) รับแสงแดดให้เพียงพอในตอนเช้าอย่างน้อย 30 นาที 2) นอนงีบในเวลากลางวัน ไม่ควรเกิน 30 นาที 3) ออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอ 4) หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน หรืออาหารมื้อหนักอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน 5) หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน 6) เข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน
7) ห้องนอนมีอุณหภูมิที่เหมาะสม เตียงที่นอนต้องสบาย 8) ผ่อนคลาย ไม่วิตกกังวลก่อนนอน 9) ใช้ห้องนอนเพื่อนอนเท่านั้น และ 10) หากนอนไม่หลับภายใน 30 นาที ให้อ่านหนังสือหรือฟังเพลงเบา ๆ ทั้งนี้ กรมอนามัยและสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทยจะร่วมมือกันส่งเสริมให้คนไทย ทุกกลุ่มวัยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพเรื่องการนอนหลับ ปฏิบัติตามสุขอนามัยการนอนหลับที่ดี 10 ประการ เพื่อแก้ปัญหาการนอนไม่เพียงพอและนอนไม่มีคุณภาพของคนไทย ให้มีสุขภาพที่ดีทุกกลุ่มวัยต่อไป