ใช้ 'กัญชง' อย่างไร ให้ถูกกฏหมาย
หลังจากมีการอนุญาตให้นำกัญชงใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ตั้งแต่ 30 ธ.ค. 63 และมีผลตามประกาศ 29 ม.ค. 64 โดย อย. ให้เอกชนลงทะเบียนขอปลูกกัญชงเพื่อธุรกิจได้ ส่วนประเภทเครื่องดื่ม อาหารอาหารเสริม เครื่องสำอาง ฯลฯ จะมีการทยอยออกกฏหมายรองรับภายหลัง
“ภญ.สุภัทรา บุญเสริม” รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า กัญชง กับ กัญชา มาจากพืชตระกูลเดียวกัน แต่ตามกฎหมาย จะแยกกัญชง กับ กัญชา ตามค่า THC ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เมา หลอน หากเกิน 1 เป็นกัญชา และน้อยกว่า 1 เป็นกัญชง แต่ทั้ง 2 ยังเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ดังนั้น ต้องมาขออนุญาตจาก อย. และมีกฎหมายปลดล็อคอีก เพราะแต่ละส่วนของกัญชา กัญชง มี THC ไม่เท่ากัน
“เนื่องจาก กัญชา THC สูง จึงอนุญาตให้ใช้เฉพาะทางการแพทย์และการศึกษาวิจัย ดังนั้น คนที่ขออนุญาต จึงเป็นหน่วยงานรัฐและวิสาหกิจชุมชน แต่กัญชง ได้เปิดให้เกษตรกร บุคคลธรรมดา นิติบุคคล มาขออนุญาตปลูกได้ พอปลูกแล้วก็ต้องมีกฏหมายปลดล็อคเพราะแต่ละส่วนของกัญชากัญชง THC ไม่เท่ากัน”
ส่วนที่มี THC สูงที่สุด คือ ช่อดอก ดังนั้น เมื่อปลูกกัญชา ส่วนที่ยังเป็นยาเสพติด คือ ช่อดอก และเมล็ดกัญชา ซึ่งสามารถส่งไปในส่วนของทางการแพทย์ ขณะที่ ใบ กิ่ง ก้าน ราก สาร THC ต่ำ ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ สามารถขายใบ กิ่ง ก้าน ราก ไปยังบุคคลทั่วไปได้
ส่วนกัญชง พอปลูกแล้วที่เป็นยาเสพติด คือ ช่อดอก ส่วนที่ไม่เป็นยาเสพติด คือ ส่วนเมล็ดกัญชง กิ่ง ก้าน ราก ใบ ไม่เป็นยาเสพติดเช่นกัน ขณะที่บุคคลธรรมดา ไปรับซื้อใบกัญชา กัญชง ที่ไม่เป็นยาเสพติดมาประกอบอาหารในบ้าน ทำได้เลย เพราะไม่ได้เป็นยาเสพติดแล้ว ดังนั้น ตอนนี้หากรับใบกัญชา กัญชง จากสถานที่ปลูกที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง มาประกอบอาหารในร้าน หรือมาปรุงอาหารในร้านอาหารที่ไม่ต้องขอเลขอย. ทำได้เลยเพราะไม่ใช่ยาเสพติด
“แต่หากนำใบกัญชง กัญชา ไปทำผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ต้องขอเลข อย. เช่น ทำยาหม่อง ทำลูกประคบ หรือเครื่องสำอาง ฯลฯ ต้องไปขอเลข อย. ส่วนชาชงกินที่บ้านได้ แต่หากจะทำชาจากใบกัญชาเพื่อขาย ต้องขออนุญาต”
ภญ.สุภัทรา กล่าวต่อไปว่า การขออนุญาตปลูกไม่ยาก แต่ขอให้คิดว่าปลูกพันธุ์ไหน เพราะกัญชงมีหลายพันธุ์ พันธุ์ที่ปลูกเอาช่อดอกไปสกัด CBD , พันธุ์ที่ปลูกเอาเมล็ดไปสกัดน้ำมัน , ปลูกเอาลำต้นไปทำเส้นใยเครื่องนุ่งห่ม เพราะฉะนั้น ต้องคิดก่อนว่าจะปลูกพันธุ์ไหน ใครเป็นคนรับซื้อ สิ่งสำคัญในการอนุญาตของอย. คือ แผนการปลูก ปลูกลอยๆ ขายไม่ออก ไม่ให้ เพราะฉะนั้น การวางแผนการปลูกสำคัญ ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การนำเข้าเมล็ดพันธุ์ การปลูก การสกัด ต้องขออนุญาตกับอย.ทุกสเต็ป เพื่อให้ติดตามได้ว่าเมล็ดพันธุ์มาจากผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าหรือไม่ เข้าโรงสกัดที่รับวัตถุดิบที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ จะใช้การติดตามตลอดทุกเส้นทาง
“เรื่องการขออนุญาตปลูกกัญชง ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย ต้องอาศัยความตั้งใจจริง แต่หากขออนุญาตครั้งหนึ่งผ่าน ครั้งต่อไปจะง่ายแล้ว”
- กลิ่นเทอร์ปีน (Terpene)ในอาหาร
สำหรับกลิ่นเทอร์ปีน (Terpene) มาจากหลายแหล่ง เช่น กลิ่นสังเคราะห์ กลิ่นที่สกัดมาจากพืชหลากหลาย ทั้งกัญชา กัญชง และพืชอื่นๆ ทั้งนี้ กฎหมาย อย. ให้ใช้กลิ่นทอร์ปีนทั้งสังเคราะห์และจากธรรมชาติในอาหารได้ ภญ.สุภัทรา กล่าวต่อไปว่า แต่ตอนนี้ทุกคนอยากจะเอารูปใบกัญชา กัญชง ไปแปะอยู่ที่ขวดผลิตภัณฑ์ โดยที่ไม่ได้ใส่กัญชากัญชง แต่ใส่แค่กลิ่นเทอปีน จะทำได้หรือไม่ ?
“อย. จะอนุญาตด้วยข้อเท็จจริงทางกฎหมาย หากใช้เธอปีนกลิ่นสังเคราะห์ ไม่สามารถใส่รูปใบกัญชากัญชงในผลิตภัณฑ์ได้ ต้องมีเอกสารยืนยันว่ากลิ่นมาจากกัญชาและกัญชงจริงไม่ใช่กลิ่นสังเคราะห์ นอกจากนี้ ต้องระบุว่ากลิ่นมาจากใบกัญชา กัญชง เพื่อไม่ให้คนซื้อเข้าใจผิดว่าผสม CBD แต่ความจริงผสมแค่กลิ่นเทอร์ปีนเท่านั้นเพื่อแต่งกลิ่น”
ขณะเดียวกัน พบว่าที่ผ่านมา เมื่อมีข่าวแผนปลูกกัญชง กัญชา ทำให้หุ้นบางบริษัทพุ่งสูง ภญ.สุภัทรา อธิบายว่า เชนของกัญชงยาว ตั้งแต่นำเข้าเมล็ดพันธุ์ ปลูก สกัด จนกระทั่งเอาสารสกัดไปทำสินค้า ตอนนี้หุ้นบริษัทต่างๆ คือ ปลายน้ำ กฏหมายเพิ่งอนุญาตเมื่อ 29 มกราคม ที่ผ่านมา และบล็อกไม่ให้นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เพื่อต้องการส่งเสริมการปลูกเกษตรกรในประเทศ เพราะฉะนั้น ถามว่าตอนนี้ผลผลิตของกัญชง ที่ปลูก ไปทำผลิตภัณฑ์ยังไม่มีเพราะเพิ่งอนุญาตเมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา
“ทุกคนนับหนึ่งหมด อย. มีหน้าที่แมชชิ่ง คนที่ได้รับอนุญาตปลูก กับโรงสกัด คนสนใจเรื่องนี้เยอะมาก วันหนึ่งมีคนมาปรึกษากับอย. 2,000 -3,000 คน ซึ่งโรงสกัดก็มี 2 แบบ คือ โรงสกัดที่รับช่อดอกไปสกัด CBD และ โรงสกัดที่รับเมล็ดกัญชงไปทำน้ำมัน แต่เทคโนโลยีการสกัด CBD สูงกว่า ใช้เงินลงทุนมากกว่า ตอนนี้ หากมองเชนของกัญชง และดูว่าตนเองถนัดตรงไหน สนใจตรงไหน ถนัดปลูกก็ขออนุญาตปลูก ถนัดทั้งสองอย่าง ก็ขออนุญาตทั้งสองอย่าง หากจะรอสารสกัดไปทำสินค้า ก็เตรียมทำ R&D ซึ่งกฎหมายที่จะเอาส่วนต่างๆ ของกัญชา กัญชงไปทำสินค้า อย. ก็เปิดขึ้นเรื่อยๆ เช่น ใส่ CBD ในเครื่องดื่ม อาหาร อาหารเสริม เครื่องสำอาง ฯลฯ”
- กัญชง กัญชา พืชเศรษฐกิจไทย
รองเลขา อย. กล่าวว่า จากความเห็นส่วนตัวกัญชง กัญชา สามารถเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยได้ เพราะประเทศไทย สภาพอากาศเหมาะสำหรับการปลูก ไม่หนาวเหมือนยุโปร ค่าใช้จ่ายในการปลูกน้อย และกฎหมายเปิดมากกว่าประเทศอื่นในแถบเอเชีย เพราะฉะนั้น ตอนนี้นักลงทุนจากต่างประเทศ สนใจให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางปลูก สกัด ทั้ง CBD และ THC ในอนาคต เพราะจะขายให้กับประเทศต่างๆ ในเอเชีย
“เทรนด์กัญชา กัญชา ในเมืองไทย ตอนนี้กระแสของสินค้าปลายน้ำแรง อย่างน้อยๆ 5-6 ปี จะยังคงอยู่ ส่วนการส่งออก ต้องดูศักยภาพของไทยว่าสามารถผลิตได้ตามความต้องการของตลาดหรือไม่”
- เมล็ดพันธุ์ปลูกต้องถูกกฏหมาย
ทั้งนี้ อย.เตือน ประชาชนอย่าตกเป็นเหยื่อ หลังพบคนหลอกขาย “เมล็ดพันธุ์กัญชง” และสาร CBD ระวังเสียเงินแล้วแต่ขออนุญาตไม่ได้ ย้ำผู้ขออนุญาตปลูกกัญชงต้องใช้เมล็ดพันธุ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น แนะตรวจสอบผู้ได้รับอนุญาตจากเว็บไซต์ อย.
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า หลังจากกฎกระทรวงกัญชงมีผลใช้บังคับปรากฏว่า มีผู้สนใจต้องการขออนุญาตเป็นจำนวนมาก ทั้งต้นน้ำเพื่อปลูกกัญชง กลางน้ำเพื่อสกัดสารสกัดจากกัญชง และปลายน้ำเพื่อนำผลผลิตไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทำให้มีคนฉวยโอกาสหลอกขายเมล็ดพันธุ์กัญชงและสาร CBD มีการตั้งราคาขายสูงมากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ
เนื่องจากกฎกระทรวงกัญชงเพิ่งเปิดให้ยื่นขออนุญาตเมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีสารสกัด CBDจาก “กัญชง” จำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจ และขอย้ำว่า ผู้ขออนุญาตต้องใช้เมล็ดพันธุ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งขณะนี้หากเป็นเมล็ดพันธุ์ในประเทศจะมาจากหน่วยงานรัฐ เช่น สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)หรือโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นต้น และหากเป็นเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศจะมาจากผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น