"รพ.เอกชน" โฆษณาจอง "วัคซีนโควิด-19" ผิดกฎหมาย
เผย "วัคซีนโควิด-19" ฉีดเกิน 50% พบอาการไม่พึงประสงค์ 2ราย ตอนนี้หายดีแล้ว ด้าน กรมสบส.ออกสั่งระงับ "รพ.เอกชน" โฆษณาจองวัคซีนโควิด-19 ทุกช่องทาง ผิดกฎหมาย
ประเทศไทย ได้มีการฉีด "วัคซีนโควิด-19" ไปแล้วประมาณ 150,107 โดส( 28 ก.พ.-27 มี.ค.2564) ซึ่งขณะนี้ฉีดไปแล้วเกิน 50% โดยการให้บริการ 13 จังหวัดสามารถฉีดได้อย่างรวดเร็ว
- ฉีดวัคซีนเกิน 50% พบอาการไม่พึ่งประสงค์ 2 ราย
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีการฉีด "วัคซีนโควิด-19" ว่า สำหรับอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนนั้น มีคนได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง คือ มีผื่นขึ้น ความดันต่ำ ซึ่งได้รับการดูแลและหายดีแล้ว มีจำนวน 2 ราย โดยภาพรวมการรับ "วัคซีนโควิด-19" ทั้งสองยี่ห้อ คือ ซิโนแวค และแอสตราเซเนกาถือว่าปลอดภัย
สำหรับกรณีผู้ป่วยหญิงอายุ 29 ปี จ.ราชบุรี อาชีพขายอาหารทะเล ตลาดกิตติ เขตบางแค กทม. โดยรายนี้ได้รับวัคซีนโควิด ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่การระบาด กทม.ได้ให้วัคซีนในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งจากการสอบสวนโรคพบว่า รายนี้ก่อนฉีดวัคซีนเป็นแม่ค้าขายอาหารในตลาดดังกล่าว และได้รับการตรวจเชื้อเมื่อวันที่ 13 มี.ค.2564 ซึ่งตรวจไม่พบเชื้อ และขณะนั้นตลาดปิด โดยพักที่บ้านเป็นหลัก
จนมีการรับแจ้งว่ามีการฉีดวัคซีนจึงเข้ารับการฉีด กระทั่งวันที่ 20 มี.ค.2564 หลังจากฉีดวัคซีนไป 2 วัน ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรีตรวจพบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งยังไม่พบการติดเชื้อหญิงดังกล่าว ก็ได้เชิญไปกักตัวที่สถานกักกันของรัฐ
ทั้งนี้ มีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR จนพบเชื้อในวันที่ 26 มี.ค.2564 ซึ่งข้อมูลทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อปริมาณน้อย และไม่มีอาการ และเมื่อสอบทานระยะเวลา คาดว่าได้รับเชื้อก่อนฉีดวัคซีนวันที่ 18 มี.ค.2564 เพราะอยู่ในพื้นที่มีการระบาดของโรค
- ฉีด "วัคซีนโควิด-19" แล้วต้องสวมหน้ากากตลอด ป้องกันการรับเชื้อ
ดังนั้น แม้ว่ามีการฉีดวัคซีน และหากรับเชื้อมาก่อนก็สามารถตรวจพบบเชื้อได้ ซึ่งข้อมูลนี้สอดคล้องกับผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา โดย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก เคยให้ข้อมูลว่า วัคซีนที่ดีที่สุดป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเลย และรองลงมาคือ วัคซีนฉีดแล้ว ติดเชื้อได้ แต่ไม่เกิดอาการป่วย หรือติดเชื้อได้แต่เกิดอาการน้อยๆ ไม่รุนแรง ไม่เสียชีวิต สำหรับวัคซีนโควิด-19 ในท้องตลาด ณ เวลานี้ เป็นวัคซีนที่ติดเชื้อได้ เพียงแต่อาการไม่รุนแรง และป้องกันการเสียชีวิตเกือบ 100% จึงเป็นเหตุผลส่งเสริมกลุ่มเป้าหมายให้ฉีดวัคซีนทุกคน
“ทุกคนฉีดวัคซีนโควิด -19 จึงต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอด เพราะป้องกันการรับเชื้อเพิ่ม และป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น แม้รับวัคซีนแล้วก็ตาม แต่เมื่อรับวัคซีนแล้ว ต้องรอประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากรับวัคซีนเข็มที่ 2 เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันในระดับสูง”นพ.โสภณ กล่าว
- สบส.สั่งระงับ "รพ.เอกชน"โฆษณาจอง "วัคซีนโควิด-19"
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ "กรม สบส." กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ด้วยรัฐบาลตั้งเป้าให้ประชาชนทุกคนได้รับการฉีด "วัคซีนโควิด-19" ภายในปี พ.ศ.2564 เพื่อให้ประชาชนทุกคนใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข จึงอาจมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง สร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชนได้
"กรม สบส."ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของ "กรม สบส."เฝ้าระวังการโฆษณา หรือประกาศที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ประชาชนอย่างใกล้ชิด
โดยในช่วงวันที่ 25 มี.ค.2564 พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ตรวจพบการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลโดย "โรงพยาบาลเอกชน"แห่งหนึ่ง ในจังหวัดสมุทรสาคร ถึงบริการรับจองฉีดวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 จึงเร่งประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) สมุทรสาครตรวจสอบข้อมูลฯ
- ย้ำโฆษณาจอง "วัคซีนโควิด-19" ผิดกฎหมาย
โดยจากการตรวจสอบ เบื้องต้นพบว่า "โรงพยาบาลเอกชน"ดังกล่าว ไม่ได้มีการขออนุมัติโฆษณาจากผู้อนุญาต และการโฆษณาให้เข้าใจผิด จึงสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ประสานงานกับ สสจ.สมุทรสาคร แจ้งให้ "โรงพยาบาลเอกชน"ดังกล่าวระงับการโฆษณาแล้วในวันที่ 27 มีนาคม พร้อมกับนำเรื่องเข้าคณะกรรมการเปรียบเทียบคดี พิจารณาและดำเนินการทางกฏหมายต่อไป
ด้านทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี "กรม สบส." กล่าวต่อว่า "กรม สบส."ขอเน้นย้ำให้ "สถานพยาบาลเอกชน"ทุกแห่ง ศึกษาและปฏิบัติตามประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับ "สถานพยาบาล" อย่างเคร่งครัด โดยประกาศฯกำหนดให้การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆให้ประชาชนเห็น ได้ยิน หรือทราบ ข้อความ เสียง หรือภาพ เพื่อการโฆษณาหรือประกาศอันเป็นประโยชน์ทางการค้าของ "สถานพยาบาล" จะต้องขออนุมัติจากผู้อนุญาต คือ "กรม สบส." หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเสียก่อนจึงจะเผยแพร่ได้
การกำหนดให้ต้องขออนุมัติโฆษณาหรือประกาศที่เกี่ยวข้องกับ "สถานพยาบาล" ก่อนการเผยแพร่นั้นก็ถือว่าประโยชน์กับทั้งประชาชน และ "สถานพยาบาล" หากโฆษณาผ่านการอนุมัติแล้วประชาชนก็จะมีความมั่นใจในการบริการของ "สถานพยาบาล"ว่ามิได้มีการโอ้อวดเกินจริง หรือหลอกลวง และ "สถานพยาบาล"เองก็วางใจได้ว่าการโฆษณาหรือประกาศของตนนั้นถูกต้องตามกฎหมาย ปลอดปัญหาการฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่
อีกทั้ง วัคซีนเป็นยา โฆษณาต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงายคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งขณะนี้ทาง อย.ก็มีคำสั่งให้ระงับโฆษณาตามพระราชบัญญัติยาแล้วเช่นเดียวกัน ส่วนการโฆษณาสถานพยาบาลโดยไม่ขออนุมัตินั้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา
ทั้งนี้ หากประชาชนพบเบาะแสการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ของ "สถานพยาบาลเอกชน"ในเขตกรุงเทพฯ สามารถแจ้งได้ทางสายด่วน "กรม สบส." 1426 หรือหากอยู่ในส่วนภูมิภาคก็แจ้งได้ที่ สสจ.ในพื้นที่