สธ.ตอกไม่เป็นความจริง! 'วัคซีนโควิด19'ค้างสต็อค1ล้านโดส
สธ.ตอก“วัคซีนโควิด19”ค้างสต็อค 1 ล้านโดส ไม่เป็นความจริง มั่นใจฉีดได้เดือนละ 10 ล้านโดสตามแผนเป้าหมาย ขอประชาชนอย่าเชื่อคนพูดไร้ข้อมูลที่ถูกต้อง สร้างภาพลบระบบสาธารณสุข กระทบการควบคุมการระบาดอย่างมาก
เวลา 15.00 น. วันที่ 31 มี.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า สรุปการจัดสรรวัคซีนโควิด 19 ให้หน่วยบริการตั้งแต่ 28 ก.พ.-30 มี.ค.2564 วัคซีนซิโนแวค 190,720 โดสใน 13 จังหวัด และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 85,880 โดสใน 5 จังหวัด ส่วน การฉีดวัคซีนโควิด19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-30มี.ค.2564 สะสม180,477 โดส แยกเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 151,413 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 29,064 ราย จากยอดวัคซีนที่เข้ามาในรอบแรกราว 3 แสนโดส
“ถ้าดูแผนการกระจายวัคซีนโดยละเอียด จะเห็นว่าช่วงนี้วัคซีนทยอยมาในปริมาณไม่มาก ได้มาเท่าไหร่ก็มีการกระจายและฉีดได้ตามเป้าเต็มที่ กรณีที่มีข่าวปริมาณวัคซีนค้างสต็อค 1 ล้านโดสนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะวัคซีนล็อตล่าสุดที่เข้ามา 8 แสนโดสเพิ่งผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเพิ่งมีการกระจายออกไปและจะเริ่มฉีดในวันที่ 1 เม.ย.นี้”นพ.เฉวตสรรกล่าว
มั่นใจฉีดวัคซีนได้เดือนละ 10 ล้านโดส
นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีความไม่แน่ใจว่าจะฉีดวัคซีนโควิด19ให้ได้ตามเป้าหมายได้อย่างไรเดือนละ 10 ล้านโดส ขอเรียนว่าในระยะที่ 1 ช่วง 3 เดือน มี.ค.-พ.ค.2564 จำนวน 2 ล้านโดส และระยะที่ 2 ช่วง 7 เดือน มิ.ย.-ธ.ค. จำนวน 61 ล้านโดสนั้เน จะเห็นได้ว่าโรงพยาบาลรัฐและเอกชนประมาณ 1,000 แห่ง หากฉีดแห่งละ 500 โดสต่อวัน จำนวน 20 วันต่อเดือน ก็จะฉีดได้เฉลี่ย 10 ล้านโดสต่อเดือน เพราะฉะนั้น การคิดคำนวณนี้เป็นความมั่นใจว่าจะให้บริการได้ตามเป้าหมาย และถ้าปลอดภัยสูงมั่นใจดี การขยายไปบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)ก็เป็นอีกวิธีการอันที่จะเพิ่มจุดบริการให้ประชาชนมีความสะดวกในการเข้ารับบริการไม่ต้องเดินทางไกล
อย่าเชื่อคนพูดข้อมูลวัคซีนไม่ถูกต้อง
. “การคิดแผนวัคซีนของสะ.มีรายละเอียด ไม่ได้นั่งมโนคิดไป การที่มีข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบัน แล้วถูกเผยแพร่และถูกมองในภาพลบ ไม่มั่นใจในระบบสาธารณสุข จะเป็นปัญหาต่อการควบคุมการระบาดเป็นอย่างมาก เพราะวัคซีนเป็นเครื่องมือหลายประเทศ รอคอยคาดหวังให้ได้มา และแต่ละประเทศมีมาตรการจัดหามาให้ได้ เป็นผลมาจากการเจรจา ขอให้ประชาชนเชื่อถือข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่มีผู้รับรอง มีผู้ดูแลอย่างถูกต้อง อย่าเชื่อข้อมูลจากผู้ที่กล่าวด้วยวาจาหรือเข้าใจไม่ถูกต้อง ไม่ได้ศึกษาข้อมูลให้ดีเต็มที่ และพูดในเชิงลบไปเรื่อย”นพ.เฉวตสรรกล่าว
นพ.เฉวตสรร กล่าวด้วยว่า สรุปสถานการณ์โรคโควิด19ประเทศไทย พบในจ.สมุทรสาคร กทม.และปริมณฑล จากการตรวจคัดกรองผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และเฝ้าระวังเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ ตลาและชุมชนใกล้เคียง ชุมชนแรงงานต่างด้าว โรงงาน สถานประกอบการ ผับบาร์ ส่วนการพบบุคลากรในสถานที่กักกันทางเลือกติดเชื้อเชื่อมโยงกับผู้เดินทางเข้าประเทศ เน้นย้ำการกำกับติดตาม การปฏิบัติงานขงุคลากรของโรงแรม และรพ.คู่ปฏิบัติการ ตามมาตรฐานที่กำหนด โดยเฉพาะการใส่และถอดชุดPPE การเก็บขยะ และงดคลุกคลีกันของบุคลากรอย่างเคร่งครัด เพิ่มการฉีดวัคซีนโควิด-19ให้กับบุคลากรด้านหน้าของสถานที่กักกันและตรวจหาเชื้อเป็นระยะเพื่อเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง