‘เมื่อความเงียบกู่ก้อง’  ศิลปะสะท้อนความในใจเด็ก

‘เมื่อความเงียบกู่ก้อง’   ศิลปะสะท้อนความในใจเด็ก

เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้แสดงออกผ่านงานศิลปะ เพื่อสื่อสารความในใจ โดยไม่มีกรอบใดๆ แต่มีความหมายในการบอกเล่า เพื่อทำให้ผู้ใหญ่เข้าใจเด็กมากขึ้น

      “เด็กคนหนึ่งเกิดมา เสียงของเขาไม่ได้ดัง การเปิดพื้นที่จะทำให้เขาได้มีเสียงมากขึ้น การแสดงออก หรือข้อความเล็กๆ กลายเป็นกระบอกเสียงที่ใหญ่ขึ้น จากเด็ก 1-2 คนขยายเป็นร้อยคน เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้เรียนรู้ พอปลอดภัยแล้ว เขาก็จะตั้งคำถามอะไรก็ได้ เพราะเด็กเกิดมาพร้อมกับคำถาม เราให้พื้่นที่ตอบสนองการเรียนรู้แก่เขา พอเป็นศิลปะ มันไม่มีข้อจำกัดใดๆ ที่จะสื่อสาร ไม่ว่าเรื่องเพศ เรื่องความสัมพันธ์ของพ่อแม่ หรือเรื่องระบบอะไรต่างๆ ก็ตาม รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์ นักพัฒนาสื่อสำหรับเด็ก และผู้ก่อตั้งกลุ่มหิ่งห้อยน้อย กล่าวในงานเปิดนิทรรศการศิลปะ Silent voices matter เมื่อความเงียบกู่ก้อง... เพราะทุกเสียงของเด็กมีความหมาย เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2564 ณ ลิโด้ คอนเนค สยามสแควร์

161724392932

นอกจากนี้เธอบอกว่า 

เด็กเดี๋ยวนี้ไม่ได้แค่อ่านนิทานหรือดูการ์ตูน มีเด็กจำนวนมากเข้าถึงอินเตอร์เน็ตโดยไม่มีใครดูแล เรื่องของเด็กที่เรารับฟังมาในแพลตฟอร์มหิ่งห้อยน้อยร้อยกว่าเรื่องมีหลายมิติ เช่น เรื่องแบ็คกราวน์อัตลักษณ์ของเขาที่มีเรื่องราวทับซ้อนลงไปลึกๆ ทำให้เราเห็นถึงความหลากหลายของปัญหาเด็ก เด็กจะสื่อสารออกมายังไงให้ปลอดภัย ทำยังไงให้เขากล้าพูด จึงกลายเป็นนิทรรศการนี้ขึ้นมา

161724390922

       เป็นมุมมองที่เด็กสะท้อนออกมาและสื่อสารไปยังสังคมด้วย สิ่งที่เด็กตอนนี้กำลังเจอ บางทีมันก็สะเทือนใจ เราจะช่วยสนับสนุนเด็กคนหนึ่งให้เขาเติบโตได้ยังไงบ้าง โดยใช้พื้นที่ที่ปลอดภัย ด้วยสื่อศิลปะ งานนิทรรศการนี้คือ การเปิดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออกถึงสิ่งที่อยู่ข้างในของเขาออกมา

 

  • ความหลากหลายของศิลปะ

นอกจากศิลปะที่เด็กถ่ายทอดออกมาแล้ว ยังมีนักวาดภาพประกอบสำหรับเด็กและศิลปินอิสระมานำเสนองานร่วมด้วย แวววิสาข์ ณ สงขลา ศิลปินอิสระ พูดถึงสิ่งที่ตัวเองได้ประสบมาในวัยเด็ก แล้วนำมาถ่ายทอดเป็นงานศิลปะในครั้งนี้ว่า

 “งานศิลปะที่นำมาเสนอเป็นแนวดิจิตอลเพนท์ติ้ง เพราะง่ายต่อการแชร์ให้ไวรัลในโลกโซเชียลได้ มีทั้งหมด 2 เซ็ท เซ็ทแรก ตั้งคำถามเกี่ยวกับกรอบอำนาจนิยมที่ครอบเรา ตอนที่เราเป็นเด็ก เราไม่มีสิทธิ์มีเสียง เราเกิดมาพร้อมกับเพศสภาพ ที่เขาบอกว่าเด็กผู้หญิงใช้สีชมพู เด็กผู้ชายใช้สีฟ้า และมีค่านิยมต่างๆ นานาถูกจัดวางมาให้เรา เช่น ผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว ผู้ชายต้องอดทนไม่ร้องไห้

161724419376

เซ็ทที่สอง พูดเรื่องกระเป๋านักเรียนที่มีน้ำหนักเกิน ทำให้เด็กมีปัญหาเรื่องสุขภาพและการเจริญเติบโต สะท้อนถึงระบบการจัดการของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเรา ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กโดยตรง พอเด็กสุขภาพไม่ดี ไม่เติบโตไปตามเกณฑ์ ก็ส่งผลกับการเรียนและเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย และเป็นประสบการณ์ตรงด้วย ตอนเด็กๆ มีปัญหาแบกกระเป๋าน้ำหนักมาก กล้ามเนื้ออักเสบ ตึงบ่า” 

161724480963

ทางด้าน พัชรา พันธุ์ธนากุล นักวาดภาพประกอบสำหรับเด็ก บอกว่า สื่อที่ดีควรตั้งคำถามให้กับเด็ก

หนังสือแบบเรียนบ้านเราจะมีตัวละครที่ถูกตีตราว่า เป็นเด็กใจแตก เป็นเด็กเลว เราจึงทำงานงานศิลปะนี้ออกมาให้เห็นว่า คนเรามีทั้งด้านดีและไม่ดี ให้คนที่มาดูได้ตั้งคำถาม และสื่อถึงความเป็นมนุษย์

ประเด็นที่สอง อยากสื่อสารเรื่องการศึกษา เราต้องตระหนักในการทำสื่อสำหรับเด็กได้แล้ว เราต้องการให้เยาวชนเติบโตไปกับสื่อแบบไหน สื่อที่ชักจูงเขาไปด้านเดียวโดยไม่ได้ตั้งคำถามเลย หรือว่าสื่อที่ตั้งคำถามแล้วให้เด็กได้รู้จักคิด ผลกระทบของแบบเรียนและการผลิตภาพจำแบบนั้นส่งผลกระทบกับเด็กว่า ความเป็นคนดีต้องเป็นแค่แบบนี้หรือ”

161724428158

 

  • ศิลปะช่วยเด็กอย่างไร

ขณะที่ แวววิสาข์ เล่าว่า ตัวเองก็เกือบจะไม่ได้เป็นอย่างทุกวันนี้ ถ้าไม่มีความมั่นใจในตัวเองมากพอ

เราจะฟังเสียงเขาก่อน แล้วเอาศิลปะของเราเป็นเครื่องมือในการพูดถึงปัญหาแทนเขา ระหว่างที่ทำ เราก็คิดได้ว่าตอนเป็นเด็ก เราแทบจะทิ้่งความฝัน ทิ้งตัวตน ทิ้งสิ่งที่เราอยากทำ เปลี่ยนไปทำตามกรอบที่ผู้ใหญ่บอกว่าดี เป็นเด็กดี กระเป๋าหนักเราก็ทน เด็กมีปัญหาแต่ไม่รู้จะพูดกับใคร หรือมีความกลัวว่าพูดไปแล้วจะโดนตัดสินว่า มีความคิดที่แปลกออกไปจากขนบที่มันครอบอยู่ ถ้าเขาไม่คิดแบบนี้ หรือไม่เป็นไปตามนี้ เขาจะไม่ดี เช่น ถ้าหนูเป็น LGBT ผู้ใหญ่จะบอกว่าหนูผิดเพศ งานศิลปะของเราไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิด แค่ตั้งคำถามและบอกว่ามีสิ่งนี้เกิดขึ้นนะ คุณคิดยังไง

161724432527

ทางด้าน พัชรา มองว่า แบบเรียนที่ใช้อยู่มีปัญหา เพราะไม่ได้สอนให้เด็กคิดเอง

ตั้งแต่มีแบบเรียนที่เขากำหนดให้เป็นเครื่องมือสร้างคนในชาติว่า คนดีต้องเป็นแบบนี้ บอกไปเรื่อยๆ แบบสำเร็จรูป เรารู้สึกว่า มันมีปัญหานะ ต้องเอาเรื่องนี้มาทำ ในแบบเรียนมีเยอะที่เขาพยายามปรับแต่งความคิดเรา ตอนเด็กๆ เราก็เรียนโดยไม่ได้ตั้งคำถาม เพราะระบบไม่ได้สอนให้เราตั้งคำถาม แต่พอเราโตขึ้นเริ่มคิดเองได้ ก็เห็นว่าเอ๊ะ อย่างนี้มันไม่ใช่แล้วนะ 

161724496920

ถ้าเราเอาแบบเรียนนี้ให้ลูกหลานเราเรียนต่อ แล้วเด็กไม่ได้ตั้งคำถาม คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากในยุคสมัยนี้ เพราะข้อมูลข่าวสารเยอะ ถ้าเด็กไม่ได้รับการฝึกในการคิด และตั้งคำถามจะลำบาก เพราะเวลาเสพสื่อ เขาจะคล้อยไปตามสื่อเลย ไม่ได้คิดว่า อันนี้มันดีหรือไม่ดี ซึ่งมันจำเป็นมากสำหรับเด็กในยุคต่อจากเราค่ะ เด็กในอนาคตควรจะได้รับสื่อที่ดี และมันทำให้เขาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ด้วย”

  • ศิลปะบอกอะไร

ในมุม พัชรา คิดว่า แบบเรียนเป็นสื่อที่สำคัญมาก เด็กในอนาคตควรจะได้รับสื่อที่ดี ทำให้เขาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี คำว่าสื่อไม่ว่า หนังสือ สิ่งพิมพ์ แบบเรียน คือตัวกำหนด และช่วยกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถาม

161724439375

ส่วน แวววิสาข์ ตั้งคำถามกับวัฒนธรรม สิ่งที่ครอบเรามาตั้งแต่เกิด เด็กมีอำนาจน้อย เขาไม่สามารถส่งเสียงเขาได้ 

"ถ้าเราช่วยกันรับฟังเขา สร้างพื้นที่ให้เขา ได้พูด ได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาอยากรู้ น่าจะทำให้เกิดไอเดียดีๆ ใหม่ๆ มากขึ้น ศิลปะควรทำให้คนรู้สึก ศิลปะควรทำให้คนตั้งคำถามด้วย จากการดูงานหรือเห็นงานอะไรก็ตาม

1617244420100

      รวงทัพพ์ ให้ความเห็นเพิ่มว่า อยากเป็นกำลังใจให้เด็ก เด็กไม่ได้มีแค่ด้านสว่างสดใส เด็กมีด้านมืดเหมือนพวกเรา

      "ก็หวังให้ผู้ใหญ่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก เหมือนพวกเราที่เหนื่อยก็ต้องพัก ทุกข์ก็ต้องบำบัด มันไม่เคยมีพื้นที่หรือสวัสดิการให้เด็กได้อยู่ตรงนั้นเลย เราบอกว่าเด็กโตขึ้นจะเป็นอนาคตของชาติ แต่มุมหนึ่งเด็กเจออะไรเยอะมาก แล้วจะโตเป็นอนาคตของชาติได้ยังไง เราอยากให้คนที่อยู่แวดล้อมเด็กได้เข้าใจว่า คุณมีความหมายมากๆ ที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งโตไปอย่างที่เขาอยากเป็น เสียงของเด็กมีความหมายมาก ถ้าคุณไม่ฟังเสียงเด็กเลย เขาก็จะไม่สื่อสารกับคุณ แล้วคุณจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีเด็กได้ยังไง เพราะคุณต้องพึ่งพาเขา” 

161724444374

.........................

นิทรรศการ Silent Voices Matter เมื่อความเงียบกู่ก้อง จัดแสดงระหว่างวันที่ 27 มีนาคม – 25 เมษายน 2564 ที่ชั้น 2 ลิโด้ คอนเนค สยามสแควร์