1 ปี ‘ม็อบเด็กลงถนน’ ช่วยฟังเสียงหนูบ้าง?
ลองฟังเสียงเด็กๆ และเยาวชน ที่ออกมาเรียกร้องบนถนน เพื่ออนาคตของพวกเขา และลองสดับฟังผู้ใหญ่ที่หวังดีต่อเด็ก แล้วในความเห็นที่แตกต่าง จะมีเรื่องไหนที่พูดคุยกันได้บ้าง
“เหตุผลที่เราออกมา เริ่มจากระบบการศึกษาไม่ตอบโจทย์กับการดำเนินชีวิตในอนาคตของเรา ไม่ได้ถูกสอนให้คิด ให้วิเคราะห์ เอาชุดข้อมูลมาโยนให้เราจำ ซึ่งไม่สามารถใช้ได้ในชีวิตจริง เมื่อโตขึ้น มีการลิดรอนสิทธิ มีการละเมิดมากมาย ทำให้เราอยู่เฉยต่อไปไม่ได้
ตั้งแต่เราอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย ตัวตนของเราและความสดใสค่อยๆ หายไป เรียนจบก็พบกับความว่างเปล่า สังคมมีแต่ซากปรักหักพัง เรารู้สึกว่าต้องเปลี่ยนวงจรนี้ สร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา ปรับเปลี่ยนสังคมให้เหมาะกับการใช้ชีวิต การเปลี่ยนแปลงของโลก” ธญานี เจริญกูล ตัวแทนเยาวชน กล่าวในงานเสวนา ‘เมื่อผีเสื้อตัวน้อยขยับปีก:สิทธิเด็ก ความหวัง ความฝัน ผลกระทบ เมื่อเด็กต้องการมีส่วนร่วมทางสังคม’ ที่ Amnesty International Thailand เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2564 ณ LidoConnect
- ครอบครัวแตกแยก
"ทุกเคสที่ติดต่อเข้ามา เป็นเรื่องความเห็นต่างในครอบครัว เด็กหลายคนบอกว่า พี่ช่วยคุยกับพ่อแม่หนูหน่อย หนูไม่สามารถคุยกับเขาได้ เพื่อนหนูพูดเหมือนกันเลย ในบ้านไม่สามารถคุยได้ คุยคือทะเลาะ โดนทำร้าย โดนไล่ออกจากบ้าน เด็กคนหนึ่งโดนพ่อเอาหมวกกันน็อคฟาด แล้วไล่ออกจากบ้าน" จินดา ชัยพล ผู้จัดการมูลนิธิสายเด็ก (Childline Thailand เบอร์โทร1387 ) เล่าถึงปัญหาครอบครัว
ตลอด 24 ชั่วโมงพวกเขาทำงานเรื่องเด็กในทุกช่องทางออนไลน์ ปกติได้รับการติดต่อปีละ 10,000 กว่าครั้ง แต่ปีที่แล้วเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 กว่าครั้ง เด็กส่วนใหญ่มีปัญหากับครอบครัว รู้สึกว่าที่บ้านและโรงเรียนไม่ปลอดภัย
จินดา เล่าว่า มีเคสหนึ่งบอกว่า "อยากออกจากบ้านแล้ว อยู่ไม่ไหวแล้ว ทะเลาะเรื่องการเมืองทุกวัน เราเสนอว่าไปอยู่บ้านพักเด็กไหม (หน่วยงานรัฐ เขาก็ไม่ไป) เด็กตัดสายเลย ถ้าครอบครัวไม่ปลอดภัยแล้ว ก็ยากแล้ว มีเคสหนึ่งน้องโดนมาตรา 112 อยู่ระหว่างรอขึ้นศาล โทรมาบอกว่าอยากฆ่าตัวตาย สู้ต่อไม่ไหวแล้ว น้องให้เบอร์คุณแม่มา เราโทรไปคุยได้รับความร่วมมือที่ดี ตอนนี้น้องอยู่ในการดูแลของจิตแพทย์"
- ปัญหาเดิมๆ ที่ไม่เคยถูกแก้ไข
ตัวแทนผู้ปกครอง บอกว่า ปัญหาระบบการศึกษาในอดีตไม่แตกต่างจากปัจจุบัน ซึ่งในอดีตไม่มีช่องทางสื่อสาร
"เราได้แต่เก็บความเจ็บปวดไว้กับตัวเอง จนลืมความรู้สึก แต่วันนี้โลกเปลี่ยน เด็กสื่อสารถึงความเจ็บปวด สะท้อนปัญหาออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ เรียนรู้ว่า ประเทศอื่นเขาเรียนอะไรกัน เริ่มตั้งคำถาม ปัญหาเหล่านี้สะสมมาหลายสิบปี ตอนนี้เด็กรุ่นลูกรุ่นหลานเริ่มขยับแล้ว แต่ผู้ใหญ่มักฟังเพื่อประณามเขา ทำไมถึงคิดแบบนี้ ใครหลอกหรือเปล่า ทำให้ปัญหาใหญ่มากขึ้น เราควรมีพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้พูดคุย เพื่อวางอนาคตของเขา" ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ แสดงความคิดเห็น
ขณะที่ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงไม่ใช่ทางออก
"เป็นเรื่องน่าเศร้ามาก หนึ่งปีผ่านไป โรงเรียน, พ่อแม่, สื่อ, รัฐบาล, ระบบตุลาการ, ตำรวจ, ทหาร ไม่ใช่ไม่ได้ยิน สิ่งที่เขาพูด ไม่ได้ถูกนับในกระบวนการสร้างนโยบายของรัฐไทยเลย ตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา กรอบคิดแบบเดิมที่ใช้มาร้อยปี มองคนรุ่นนี้เป็นภัยคุกคาม มองพวกเขาเป็นผู้ต้องหา ไม่ได้มองเป็นเยาวชนด้วยซ้ำ นี่เป็นการพูดที่ยากที่สุดของดิฉัน เราไม่ได้ยินเสียงเขาจริง ๆ เหรอ
เราเคยฝันอยากเห็นคนไทยสปีชี่ส์ใหม่ตั้งคำถาม สร้างสิ่งใหม่ ๆ นำเราไปสู่ประเทศไทย 4.0 แต่พอเขาพูดขึ้น ขอให้นายกรัฐมนตรีลาออก, แก้รัฐธรรมนูญ ฯลฯ ก็ถูกตัดสินทันทีว่า เป็นภัยคุกคาม ถ้าเราฟังจริง ๆ เขาสู้เพื่อปฏิรูปการศึกษา, ปฏิรูปกองทัพ, ปฏิรูประบบราชการ, ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม, ต่อสู้ทุนผูกขาดที่เอารัดเอาเปรียบ, เรียกร้องการจัดสรรงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ สิ่งที่เขาพูด เป็นสิ่งที่เสื้อแดง,เสื้อเหลือง, คน Gen X, Gen Y, Gen Z พูดกันมา 30 ปี เราไม่เคยปฏิรูปสำเร็จ เขาเรียกร้องสิ่งที่เราเคยเรียกร้อง"
- แง่มุมกฎหมาย
คุณากร มั่นนทีรัย ทนายความ เครือข่ายเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ความเห็นในแง่กฎหมายว่า ไทยเป็นภาคีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งเรื่องอนุสัญญาสิทธิเด็ก อนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง สิทธิการเมือง เมื่อไทยให้สัตยาบันแล้วก็ต้องทำให้ได้ตามสัญญา ออกพระราชบัญญัติสอดคล้องกับสิ่งที่ได้ทำสัญญาไว้ทั้งหมด แต่พอปฏิบัติจริง กลับมีปัญหา
"เยาวชนมีเจตนาสุจริตไปร่วมแสดงออกลงถนน มีสิทธิโดนตำรวจจับ ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชุมนุมโดยไม่ได้แจ้ง ถ้าเด็กผิดจริงก็จับไปสถานีตำรวจ แต่นี่จับไปกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาคหนึ่งธัญบุรี ปทุมธานี เด็กขอโทรหาผู้ปกครอง ก็โทรไม่ได้ โทรศัพท์ถูกยึด พักหลังเริ่มแรงขึ้น กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากับพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวบอกไว้ว่า คนอายุต่ำกว่า 18 เวลาถูกจับ ห้ามพันธนาการ แต่นี่ กุญแจมือ, โซ่ตรวน
ขณะนี้อำนาจหลายอย่างถูกรวมไว้ด้วยกัน ทุกอย่างมาจากก้อนเดียวกัน ไม่สามารถบาลานซ์คัดค้านได้ จริง ๆ แล้วไม่ว่าเด็กเยาวชนหรือผู้ใหญ่ ถูกจับปุ๊บ มีสิทธิขอติดต่อผู้ปกครองหรือทนายความได้ทันที แต่นี่จับปุ๊บ ยึดโทรศัพท์ ไม่ให้คุย แล้วจับไปไกล ๆ ข้ามคืนไป 1-2 วันแล้วค่อยว่า เคสล่าสุด ผมไปนั่งรอที่โรงพยาบาลทั้งวัน ตำรวจไม่ให้พบ ห้องที่รักษานอกจากถูกพันธนาการแล้ว ยังเป็นที่คุมขังมีกรงเหล็กเรียบร้อย
จำนวนคดีจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน เคสเด็กและเยาวชน 18 ปีที่ถูกดำเนินคดีมี 23 ราย 26 คดี ถ้านับเคสทั้งหมด 400-500 คดี แนวโน้มการจับเพิ่มมากขึ้น แต่ก่อนครั้งหนึ่ง 4-5 คน กลายเป็นครั้งละ 10-20 คน ช่วงมีนาคมนี้ มีจำนวน 38 คนในคืนเดียว แล้วมีแนวโน้มใช้กำลังจับกุมมากขึ้น"
- ทางออกของปัญหา
ในมุมของผู้ปกครองมองว่า เราต้องเคารพความคิดเห็นและการตัดสินใจของเด็กด้วยเช่นเดียวกัน ดร.มานะ แนะทางออกว่า
"หลาย ๆ อย่างที่ลูกคิด ลูกทำ ไม่ใช่ว่าผมเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราเคารพความคิดเห็นการตัดสินใจของเขา พ่อแม่หลายครอบครัว เลือกใช้วิธีปกป้องลูกแตกต่างกัน บางคนใช้การตี การบังคับ การไล่ออกจากบ้าน ไม่ใช่ไม่รัก แต่เป็นวิธีการเดียวที่ทำให้ลูกปลอดภัยไม่ไปชุมนุม
โรงเรียนก็ใช้วิธีการเดียวกัน ใช้กฎระเบียบให้เด็กอยู่ในกรอบ ในระดับประเทศก็ใช้วิธีการเดียวกัน ใช้ความรุนแรง จับกุม สิ่งที่รัฐ, โรงเรียน, พ่อแม่ผู้ปกครองใช้ความรุนแรงแทนความรักเพราะว่าหลาย ๆ คนเติบโตมาแบบนั้น" ดร.มานะ เล่าและบอกว่า การใช้ความรุนแรงทำให้เด็กก้าวร้าวมากขึ้น เราจำเป็นต้องใช้ความรัก ความเข้าใจ คุยกับเขา
"เด็กเองก็ต้องใจเย็น ผู้ใหญ่ก็ต้องถอยมานิดหนึ่ง อย่ารีบตัดสินว่าลูกโดนหลอก มีใครยุแหย่ให้คิดแบบนี้ ด้วยความคิดว่าเด็กคิดไม่เป็น วันนี้โลกการเรียนรู้มีเยอะมาก จนเราไม่รู้ว่าเด็กโดนหลอกหรือผู้ใหญ่โดนหลอกกันแน่
หลาย ๆ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เด็กตั้งคำถามขึ้นมา เขาไปสืบค้นมา ถ้าเราเปิดพื้นที่ทำความเข้าใจ จะทำให้เด็กเติบโตมีความคิดมากขึ้น เมื่อวัยรุ่นถูกใช้ความรุนแรง ไล่ออกจากบ้าน เขาก็ออกเลย เรากำลังผลักเด็กไปเจออะไรก็ไม่รู้"
ทางด้านเด็กเองก็มีความคิดว่า ต้องพูดคุยกันแบบดี ๆ ธญานี แสดงความคิดเห็นว่า
"สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นและจำเป็นมาก ๆ คือการพูดคุย มองให้ทะลุเปลือก อัตตา อารมณ์ วิธีการสื่อสารที่ไม่ถูกใจกัน จุดยืนทางการเมืองที่ต่างกัน ให้มองไปถึงเนื้อความที่อีกฝ่ายตั้งใจ อยากให้เข้าใจกัน แล้วหาทางออกร่วมกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างมีเหตุผล"
ผศ.ดร.กนกรัตน์ กล่าวเพิ่มว่า นี่คือจุดเริ่มต้นในสังคมที่ต้องเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย ความขัดแย้งของเสื้อเหลืองเสื้อแดงก็มีปรากฏการณ์คล้ายๆ กัน
"ผ่านไป 8 ปี แต่ละครอบครัวก็หาจุดสมดุลที่จะอยู่ร่วมกันได้ ดิฉันกับคุณพ่อก็ทะเลาะกัน จนต้องไปพบจิตแพทย์ ความรักที่เราเคยมีต่อกันในวัยเด็ก เรายืนคนละข้าง แต่เราจะไม่ชี้หน้าด่าว่าถูกใครล้างสมองมา เราผ่านจุดนั้นมาแล้ว
เราไม่สามารถเปลี่ยนคนที่โตมาจนอายุ 50-60 ปี ผ่านชุดประสบการณ์แบบหนึ่งให้มาเห็นด้วยกับเราในทันที และเขาจะมีปฏิกิริยาที่รุนแรงมาก ถ้าเราพยายามท้าทาย รู้ว่าคนรุ่นใหม่ยากที่จะเข้าใจคนรุ่นเก่า แต่ยังไงก็อย่าฆ่าตัวตาย มันไม่ใช่ทางออก
ถ้าเราเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเราจะเข้าใจกัน อย่าออกจากบ้านถ้าอยู่ไม่ได้จริงๆ ก็มีพี่ Hotlineสายเด็ก แต่ต้องยอมรับว่าไม่มีใครช่วยเราได้นอกจากตัวเราเอง ท้ายที่สุดเขาก็เป็นเพียงผู้รับฟังเราค่ะ"
ส่วนคุณากร ทนายความ มองว่า การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทุกด้านเป็นสิ่งที่จำเป็น
“สิ่งที่ผู้ใหญ่ตามเราไม่ทันคือโซเชียลมีเดีย ผู้ใหญ่ยังดูโทรทัศน์อยู่ แต่สิ่งที่เราทำ มันไม่ได้ออกโทรทัศน์ ในเมื่อข้อมูลข่าวสารยังรับไม่เท่ากันเลย ผมอยากเสนอว่า ถ้าเป็นไปได้ การชุมนุมอยากให้สร้างสรรค์ที่สุด คำด่าทอตัดทิ้งให้มากที่สุด วิพากษ์วิจารณ์ที่มันสวยงาม มันจะไม่มีใครมาว่าเราได้ เพราะสื่อก็จะไม่รู้จะเอาอะไรมาออก"