ชี้เป้า'เมนูกัญชา' สายเขียว รักสุขภาพต้องไม่พลาด
หลังจาก "กัญชา" ได้ปลดล็อกนำส่วนใบมาใช้ประกอบอาหารได้ วันนี้หลากหลายร้านอาหารและคาเฟ่ ได้มีการเปิดตัว "เมนูกัญชา" ที่เหมาะกับสายเขียว คนรักสุขภาพให้ได้ไปลิ้มลอง
เรียกได้ว่า “เมนูกัญชา”ทำให้สถานประกอบการ "ร้านอาหาร"กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจาก"กระทรวงสาธารณสุข"ประกาศให้ใช้ส่วน "ใบของกัญชา"มาประกอบอาหารได้
ร้านอาหารสายคาเฟ่ สายชาบู สายอาหารอีสาน สานเส้น สายข้าวสายแกง สายอาหารไทย หรือสายอาหารฝรั่ง ฯลฯ ล้วนนำ "กัญชา"มาเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบอาหารทั้งสิ้น เพื่อ ดึงดูดผู้บริโภค
- "เมนูกัญชา"ทั้งอาหารเครื่องดื่ม ปลอดภัยตามมาตรฐาน
เริ่มด้วย มาชิมกัญ จากอภัยภูเบศร เดย์ สปา โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้เปิดให้บริการอาหารและเครื่องดื่มจากกัญชา ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2564 หลังจากได้พัฒนาเมนูที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างดีมาก โดยมีทั้ง“เมนูอาหาร”และ "เมนูเครื่องดื่ม" ทุกเมนูสร้างสรรค์บนพื้นฐานความปลอดภัยตามหลักฐานเชิงประจักษ์ เนื่องจาก "กัญชา"ส่วนใบ ลำต้น กิ่งก้าน ราก ที่นำมาพัฒนาไม่ได้อยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ สามารถติดตามได้ที่ เพจเฟสบุ๊ค อภัยภูเบศร เดย์ สปา
ต่อด้วย ร้านเขียวไข่กา Kiew Kai Kaเจ้าแห่งสายเขียว ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งแพม อำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นแหล่งผลิต"กัญชา"คุณภาพที่ใช้ทั้งการแพทย์และเพื่อการบริโภค ปลูก"กัญชา"แบบออร์แกนิคในโรงเรือนมีการควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอนด้วยหลักวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้านทำให้"กัญชา"จากแหล่งนี้เป็นกัญชาที่ปลอดสารเคมีและมีคุณภาพสูงด้วยการใส่ใจในทุกขั้นตอน และเป็น "ใบกัญชา"สดใหม่คุณภาพดีเหมาะกับการนำมาปรุงอาหารให้แก่ลูกค้าทานได้
พลอยใส จรดล เชฟร้านอาหารเขียวไข่กา กล่าวว่าร้านเขียวไข่กา ได้พัฒนาเมนู ยิ้มหวาน ซึ่งเป็นสูตรอาหารที่นำส่วนผสมของ "ใบกัญชา"มาใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้ผู้รับประทานอาหารได้ประโยชน์คุณค่าทางอาหารครบถ้วน เป็นทางเลือกใหม่ให้ผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันมียอดสั่งซื้ออาหารที่มีส่วนผสมของ"กัญชา"มากขึ้น ทำให้มีลูกค้ามากขึ้น
- ต้องลอง"เมนูกัญชา" ธุรกิจร้านอาหาร&คาเฟ่
ดังนั้น หากภาครัฐมีการส่งเสริมให้สถานประกอบการร้านอาหาร และจัดหาแหล่งวัตถุดิบอย่างกัญชา กัญชง เพื่อนำมาประกอบอาหาร เชื่อว่าจะช่วยทำให้ธุรกิจร้านอาหารไทยเติบโตได้
“การนำกัญชา กัญชงมาปรุงอาหาร ต้องมีการศึกษารายละเอียด และเข้าใจถึงประโยชน์และโทษของกัญชาและกัญชง เพราะการนำกัญชามาใช้ปรุงอาหาร ต้องมีการควบคุมปริมาณ ใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากกัญชามีเพียงส่วนใบเท่านั้นที่นำมาปรุงอาหารได้ แต่ต้องทานในปริมาณไม่เกิน 5-8 ใบต่อวัน อีกทั้งต้องเป็นกัญชา กัญชงที่มีการปลูกถูกต้องตามกฎหมาย และมีคุณภาพ มีความปลอดภัยตั้งแต่กระบวนการปลูกไปจนถึงการนำมาใช้ เพื่อให้กัญชาเป็นอาหารที่ใช้รักษา ดูแลสุขภาพร่วมด้วย” เชฟพลอยใส จากร้านเขียวไข่กา กล่าว
เช่นเดียวกับ "Black Canyon" แบล็คแคนยอน ร้านอาหารที่หลายคนคุ้นเคยในประเภท เบเกอร์รี่ อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งแต่ละเมนูได้นำใบกัญชาจากวิสาหกิจชุมชนฯบ้านทุ่งแพมเช่นกัน
มาต่อด้วยสายคาเฟ่ "สวนกู เดอะคาเฟ่" หรือ คาเฟ่กัญชา แห่งแรกในจังหวัดนนทบุรี นอกจากโดดเด่นด้วยธรรมชาติสไตล์ท้องร่องสวน ย่านบางกร่าง จังหวัดนนทบุรี แล้ว หลังจากมีการประกาศปลดล็อกกัญชา ทางร้านได้นำใบกัญชามาปรุงในเมนูทั้งคาวหวาน และ เครื่องดื่ม
บิน-ธนิพัทธ์ ธรเลิศพิมล เจ้าของ สวนกู เดอะคาเฟ่ กล่าวว่าการนำ "กัญชา" มาเป็นส่วนผสมของเมนู อาหารและเครื่องดื่ม ทำให้คาเฟ่มีความคึกคักมากขึ้น ผู้คนให้ความสนใจและมีส่วนทำให้ยอดรายได้เพิ่มสูงขึ้นด้วย
- รู้ก่อนกิน "เมนูกัญชา" ข้อแนะนำกินอย่างไร?ให้ปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม แม้ "กัญชา" จะนำมาเป็นอาหารได้หลายเมนู แต่ กัญชาไม่ใช่ทุกคนสามารถกินได้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมากำชับถึงการนำใบกัญชามาใช้ประกอบอาหาร โดยต้องใช้ในปริมาณที่น้อย ไม่ควรทานเกิน 5-8 ใบต่อวัน
ทั้งนี้ ผู้บริโภคบางกลุ่ม เช่น เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ผู้ที่มีปัญหาตับและไตบกพร่อง ผู้ป่วยที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือดวาร์ฟาริน ผู้ป่วยที่ใช้ยาซึ่งมีผลต่อระบบประสาท ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือดควรระมัดระวังในการรับประทาน
ส่วนผู้ที่ไม่ได้เข้าข่ายก็ควรบริโภคในปริมาณน้อยๆ เช่นกัน โดยแนะนำให้บริโภคไม่เกินวันละ 5 ใบ เพราะหากรับประทานมากกว่า 5 ใบ อาจส่งผลให้เกิดอาการใจสั่น (หัวใจเต้นเร็ว), ปากแห้ง คอแห้ง ง่วงนอน มึนงง วิงเวียน และปวดหัวได้
สำหรับผลข้างเคียงจากการกินอาหารที่มีส่วนผสมของ"กัญชา"เข้าไป จะต้องสังเกตอาการหลังจากรับประทานไปแล้วประมาณ 30-60 นาที แต่อาการจะเด่นชัดขึ้นเมื่อผ่านไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง – 3 ชั่วโมง ซึ่งเพจ สมุนไพรอภัยภูเบศร แนะนำว่าไม่ควรเริ่มต้นรับประมาณในปริมาณที่มาก และควรรอดูผลหลังจากบริโภคไปแล้วภายใน 2 ชั่วโมง ซึ่งกัญชายังคงอยู่ในร่างกายได้นาน 6-12 ชั่วโมง แต่อาจจะอยู่ในร่างกายได้นานกว่านั้นหากรับประทานบ่อยๆ
นอกจากนั้น ในการนำมาปรุงอาหาร ไม่ควร ไม่ควรทานใบกัญชาแก่ เนื่องจากมี THC สูงกว่าใบอ่อนหลีกเลี่ยงการปรุงอาหารด้วยความร้อนมากๆ เพราะจะทำเพิ่มค่า THC มากยิ่งขึ้น ไม่ควรทานกัญชา พร้อมกับอาหารไขมัน เนื่องจากจะเพิ่มการดูดซึม และไม่ควรทานเมนูกัญชาปริมาณมากๆ ในครั้งเดียว และควรระวังเรื่องการขับขี่ยานพาหนะ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 'กัญชา' กิน ดื่ม อย่างไรให้ปลอดภัย