ทำความรู้จัก 'พลุตะไล' จุดเพื่อศพ อาจเพิ่มอีกศพ
"พลุตะไล" คืออะไร? เหตุใดต้องจุดในงานศพ มาทำความรู้จักก่อนจุด ก่อนขาย ก่อนเล่นดอกไม้ไฟ สิ่งที่ผู้ประกอบการ ผู้เล่นต้องรู้!
ขอแสดงความเสียใจกับครอบครับสวัสดี ที่สูญเสีย "น้องมิ้นท์" หรือด.ญ.ณัฐชา สวัสดี อายุ 10 ปี นักเรียนชั้น ป.3 โรงเรียนอาจวิทยาคาร ต.ตะคุ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ถูก "พลุตะไล" ที่จุดในงานเผาศพพุ่งตกลงมาใส่ศีรษะ และเสียชีวิตลงแล้วที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เมื่อคืนวันที่ 13 เม.ย. เวลา 19.45 น. ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีม
- มาทำความรู้จัก "พลุตะไล" การเล่นดอกไม้ไฟ
การเล่นดอกไม้ไฟ หรือพลุ มีมาตั้งแต่พุทธศักราช 2520 เป็นปีที่จังหวัดสุโขทัยเริ่มต้นฟื้นฟูประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ โดยความคิดริเริ่มของนายนิคม มูสิกะคามะ โดยพิจารณาจากหลักฐานสำคัญคือข้อความที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า
"…เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง เทียรย่อมคนเสียดกัน เข้ามาดูท่านเผาเทียน ท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดังจักแตก …"
โดยการเล่นไฟ จะหมายถึง การจุดดอกไม้ไฟมีสีสันต่าง ๆ อย่างที่เรียกว่า พลุ ไฟพะเนียง ไฟลูกหนู ระทาดอกไม้ ฯลฯ
การเล่นดอกไม้ไฟโบราณ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ดอกไม้เพลิง เป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งที่ต้องรวมช่างจากสาขาวิชาหลายแขนงมาทำงานร่วมกัน เช่น ช่างไม้ ช่างวาดเขียน ช่างแกะสลัก ช่างผู้ผสมเชื้อเพลิง หรือที่เรียกว่า ดินดำต้องเป็นช่างผู้มีความชำนาญและประสบการณ์สูง ส่วนประกอบสำคัญและเคล็ดลับในการประดิษฐ์ดอกไม้เพลิงโบราณให้มีเสียง แสงสีสวยงาม แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนไทยแต่โบราณที่ได้ค้นคิดเกี่ยวกับวิทยาการแขนงนี้ไว้ด้วยความฉลาดหลักแหลมยิ่ง ปัจจุบันมีผู้สืบทอดประดิษฐ์ดอกไม้เพลิงโบราณประเภท พลุ ตะไล ไฟพะเนียงที่จังหวัดสุโขทัยหลายท่ี
- "พลุตะไล"คืออะไร? ทำไมต้องจุดในงานศพ หรืองานอื่นๆ
สำหรับ "พลุตะไล" เป็นดอกไม้ไฟชนิดหนึ่ง มีปีกเป็นวงกลม ทําด้วยกระบอกไม้ไผ่บรรจุดินปืนที่ทําด้วยดินประสิวกับถ่านไม้และตอกให้แน่น มีรูชนวนสําหรับจุด
ขั้นตอนการปล่อยและจุด "พลุตะไล" สามารถกระทำได้ในงานพระราชทานเพลิงศพ หรืองานฌาปนกิจศพ ตามประเพณีความเชื่อ โดยได้รับอนุญาตจากนายอำเภอท้องที่ ขนาดไม่เกิน 8 นิ้ว แต่ละสถานที่จุดได้ไม่เกิน 12 ตัวต่อวัน
ส่วนการจุดและปล่อยพลุ ห้ามมิให้ผู้ใดจุดและปล่อย หรือกระทำการอย่างใด เพื่อให้พลุ หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นสู่อากาศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากนายอำเภอท้องที่ ยกเว้นการจุดพลุในงานที่จังหวัด และอำเภอ เป็นผู้จัดให้มีขึ้นแต่ไม่รวมถึง ส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้มีขึ้นเอง
ทำการจุดและปล่อยในงานรัฐพิธี หรืองานพิธีสำคัญอื่นๆ ของทางราชการ เทศกาลวันลอยกระทง ช่วงเวลา 08.00 – 24.00 น. เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 31 ธันวาคม ถึงเวลา 01.00 น. ของวันที่1มกราคม ซึ่งเป็นเวลาเฉลิมฉลองคาบเกี่ยว
- ต้องรู้ "พลุตะไล"ที่ได้รับอนุญาต มีลักษณะดังนี้
พลุที่อนุญาต ต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 4 นิ้ว จำนวน 100 นัด ต่อ 1 สถานที่ใน 1 วัน สถานที่จุดและปล่อยไม่อยู่บริเวณสถานีบริการน้ำมัน โรงพยาบาล และบริเวณใกล้เคียงในระยะ 800 เมตร
ผู้ใดกระทำการจุดและปล่อย "พลุตะไล" โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายอำเภอท้องที่ หรือกระทำการนอกสถานที่ที่ได้รับอนุญาตไว้ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ บริเวณใกล้เคียงสนามบินนานาชาติระยอง – อู่ตะเภา ในท้องที่ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง ตำบลบางเสร่ตำบลพลูตาหลวง ตำบลสัตหีบ เป็นเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ ห้ามมิให้มีการจุด หรือปล่อย หรือกระทำการใดเพื่อให้ "พลุตะไล"ขึ้นไปสู่อากาศ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- รู้จักกฎหมาย "พลุ ดอกไม้ไฟ"
สำหรับ กฎหมายเกี่ยวกับพลุและดอกไม้ไฟ ซึ่งปรากฎตาม พระราชบัญญัติพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มีความผิดเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายดอกไม้เพลิงตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน
หมวด 3 ดอกไม้เพลิง
มาตรา 47 ห้ามมิให้ผู้ใดทำ สั่ง นำเข้า หรือค้าซึ่งดอกไม้เพลิงเว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่
มาตรา 48 ในการทำ สั่ง นำเข้า หรือค้าดอกไม้เพลิงให้นำ มาตรา 16 มาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 19 มาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 มาตรา 31 มาตรา 35 และมาตรา 37 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 49 โดยอนุมัติของรัฐมนตรี นายทะเบียนท้องที่อาจกำหนดเงื่อนไขลงในใบอนุญาตว่าด้วยการเก็บรักษาดอกไม้เพลิงก็ได้ตามสมควร
มาตรา 50 ใบอนุญาตที่ออกให้ตามความในหมวดนี้มีอายุใช้ได้หนึ่งปีนับแต่วันออก
มาตรา 51 ถ้าปรากฎว่าที่เก็บ ทำ หรือค้าดอกไม้เพลิง อาจเป็นอันตรายแก่ประชาชน เพื่อปลอดภัยนายทะเบียนท้องที่จะสั่งให้ผู้ได้รับอนุญาตจัดการตามความจำเป็นหรือจะย้ายสถานที่นั้นเสียก็ได้
- บทลงโทษที่ผู้เล่น "พลุตะไล"ดอกไม้ไฟต้องระวัง!
หมวด 6 บทกำหนดโทษ
มาตรา 77(1) ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 47 หรือมาตรา 52 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนท้องที่ตามมาตรา 51 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 84(8) ผู้ใดฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติเกี่ยวกับดอกไม้เพลิงตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง หรือวรรคสาม มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 35 มาตรา 37 วรรคสอง หรือฝ่าฝืนเงื่อนไขตามมาตรา 27 หรือมาตรา 29 ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 48 หรือมาตรา 49 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 25มาตรา 26 มาตรา 27มาตรา 28 กำหนดพื้นที่ที่ไม่สมควรให้มีการเล่นดอกไม้เพลิง เนื่องจากจะเป็นอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน กรณีเกิดอุบัติภัยขึ้นไม่ว่าจะเป็นเพลิงไหม้ หรือการระเบิดของดอกไม้เพลิงโดยประมาทและขาดความระมัดระวังจนเกิดอันตรายต่อประชาชนแล้ว จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 อาจต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี นอกจากนี้ หากผู้ใดทำให้เกิดเสียงโดยไม่มีเหตุอันสมควรจนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท ตามมาตรา 370
แนวทางปฏิบัติของร้านค้าที่จะจำหน่าย
ร้านค้าที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการซื้อขายพลุและ"ดอกไม้ไฟ"จำเป็นต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 อย่างเคร่งครัดคือ
- ร้านค้าที่มีพลุหรือดอกไม้เพลิงไว้เพื่อเก็บและจำหน่ายในร้านค้า ต้องมีน้ำหนักรวมของดินปืนหรือสารระเบิดโดยไม่รวมวัสดุห่อหุ้มไม่เกิน…50..กิโลกรัม
- ต้องมีที่เก็บเป็นสัดส่วนโดยมีชั้นเก็บเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นมีช่องให้อากาศสามารถถ่ายเทได้ดี ห้ามวางดอกไม้เพลิงทับหรือซ้อนกันจำนวนมาก
- ต้องไม่วางดอกไม้เพลิงปะปนกับสินค้าอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่ง่ายต่อการติดไฟ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด/ก๊าซ/ไม้ขีดไฟ/เป็นต้น
4.ต้องจัดให้มีอุปกรณ์ดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพและให้มีจำนวนตามที่นายทะเบียนกำหนด
ร้านค้าดอกไม้เพลิงสามารถจำหน่ายได้เฉพาะภายในเวลา 06.00 – 18.00 น. และจะต้องจำหน่ายในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
หากร้านค้าใดไม่ปฏิบัติตามนี้ นายทะเบียนท้องที่จะพิจารณาเกี่ยวกับการขอต่อใบอนุญาตในปีต่อไป สำหรับร้านค้าซึ่งจำหน่ายโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่สำคัญหากผู้ที่ซื้อไปเล่นนำไปก่อเหตุตามความผิดทางอาญา เช่นไปทำให้บ้านใครเกิดเพลิงไหม้ ไปทำให้ใครได้รับอันตรายทางร่างกาย ฯลฯ คุณผู้เล่นก็ต้องรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้นนั้น ทั้งทางแพ่งและอาญาเลยนะครับ
สิ่งที่ผู้เล่น "พลุตะไล"ดอกไม้ไฟต้องระวัง
สำหรับ "ผู้เล่นพลุ"และดอกไม้ไฟก็ต้องระมัดระวังไม่ให้การเล่นของคุณเป็นความผิดทางอาญาตามมา เพราะนอกจากจะต้องรับผิดทางอาญาถึงขั้นจำคุกแล้ว หากเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ก็อาจถูกลงโทษถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตเลยทีเดียว นอกจากนี้คุณยังต้องชดใช้ค่าเสียหายในทางละเมิดอีกชั้นด้วย และหากเศษของพลุหรือดอกไม้ไฟทำให้ทางสาธารณะหรือสถานที่สกปรก คุณก็ต้องรับโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535