เรื่องควรรู้หลังติด ‘โควิด-19’ เตรียมตัวไป ‘โรงพยาบาลสนาม’ ยังไง?
ชวนรู้ขั้นตอนการปฏิบัติตัว หากพบว่าคุณติด "โควิด-19" ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร? และสิ่งของที่พกไป "โรงพยาบาลสนาม" มีอะไรบ้าง? เช็คที่นี่!
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ยังคงพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง วันนี้ (16 เม.ย) มีผู้ติดเชื้อใหม่จำนวน 1,583 ราย ยอดรวมผู้ติดเชื้อทั่วประเทศที่ยังคงรักษาตัวมีทั้งหมด 10,461 ราย ด้วยเหตุนี้เองทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอ จึงทำให้เกิด "โรงพยาบาลสนาม" และ "Hospitel" เพื่อส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 ให้มาอยู่ในพื้นที่ที่จัดไว้ให้โดยเฉพาะ
ประเด็น "โรงพยาบาลสนาม" ถูกพูดถึงในโซเชียลมีเดียบ่อยครั้ง ทั้งเรื่องการจัดการ ความเตรียมพร้อม โดยเบื้องต้น กทม.ได้จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามไว้ 4 แห่ง ประกอบด้วย
1.โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน รองรับได้ 500 เตียง
2.โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตทวีวัฒนา รองรับได้ 200 เตียง
3.สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา บางบอน เขตบางบอน รองรับได้ 200 เตียง
4.ศูนย์กีฬาบางกอกอารีนา เขตหนองจอก รองรับได้ 350 เตียง ซึ่งอยู่ระหว่างปรับปรุงสถานที่ นอกจากนี้จากได้จัดเตรียมสถานที่ต่างๆ ที่จะสามารถเป็นโรงพยาบาลสนามได้เพิ่มเติมด้วยหากมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น
- วิธีเตรียมตัวหลังรู้แน่ว่าตนเองติด "โควิด-19"
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่า เมื่อทราบผลว่าติดเชื้อโควิด-19 ควรตั้งสติ และปฏิบัติดังนี้
1. เตรียมเอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน เอกสารยืนยันผลตรวจโควิด
2. โทร 1330, 1668, 1669 เพื่อแจ้งเรื่องเข้ารับการรักษา แจ้งรายละเอียดและเบอร์โทรศัพท์ของตนให้หน่วยงานที่รับเรื่อง
3. งดออกจากที่พักหรือเดินทางข้ามจังหวัด (ฝ่าฝืนมีโทษผิดพ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 มาตรา 34)
4. หากมีไข้ให้รับประทานยาพาราเซตามอลและเช็ดตัวเพื่อลดไข้
5. สวมใส่แมสก์ตลอดเวลาและแยกของใช้ส่วนตัว
- สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมก่อนไป "โรงพยาบาลสนาม"
เมื่อได้รับการติดต่อ และเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลสนาม มีสิ่งของต้องเตรียมพร้อมเช่นกัน
ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Phu Pha Wuchcharapol ได้โพสต์รีวิวโรงพยาบาลสนาม จ.เชียงใหม่ หลังทราบผลว่าติดเชื้อโควิด-19 ต้องไปโรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ สำหรับรุ่นพี่ของค่ายกักกันที่มาก่อน 1 วัน อยากให้ทุกคนเตรียมของมาให้พร้อม สิ่งไหนคิดว่าจำเป็นให้นำติดตัวไปด้วย
1. ปลั๊กไฟ บางจุดไม่มีจริงๆ
2. ของใช้ส่วนตัว เช่น แปรงฟัน ยาสีฟัน ครีมอาบน้ำ แชมพู ครีมทาตัว ครีมทาหน้า แม้แต่ผ้าเช็ดตัว เตรียมตัวเหมือนไปเข้าค่ายพักแรม (ไดร์เป่าผมเพื่อนที่เป็นก็ยังเอามา) ใช้ของตัวเองดีที่สุดครับ
3. แบตสำรอง เผื่อฉุกเฉิน
4. ห้องน้ำเป็นแบบไม่มีสายฉีด เตรียมทิชชูเปียกมาเองก็จะดีมาก (ทิชชูตอนนี้มีบริจาคมาเยอะแล้วครับ)
5. อะไรที่คิดว่าแก้เหงาได้เอามาเหอะ เหงาจริงแบบเหงา
6. หมอน ผ้าห่ม ที่รองนอน (ถ้าคิดว่าตัวเองนอนอยากให้เอามา เพราะหมอนแข็ง ที่นอนแข็งใช้ได้)
7. ที่คาดปิดตาตอนนอน ก็น่าใช้ เพราะแสงเข้าตาตลอดเวลา
8. อาหารเสริม ไม่รู้ว่าช่วยอะไรอะ วิตามินซีแต่เอามาเหอะ อุ่นใจ
9. อยากกินน้ำอุ่นก็พกแก้วรักษาอุณหภูมิแบบพกพามา เพราะที่นี่ตอนนี้มีจุดเครื่องทำน้ำร้อน (มีแล้วแต่ก็น้อย แต่ก็ตอนนี้เหมือนมีหลายจุดแล้ว)
10. ถ้าคิดว่ากินอะไรยาก ขนมต่าง ๆ อาหารแบบพกพาง่าย อยากพกก็พกมา (ตอนนี้เห็นมีบริจาคมาเยอะครับ แต่ก็ไม่น่าพอ เพราะไม่ค่อยมีใครหยิบเป็นชิ้น เค้าหยิบกันเป็นแพ็ค หยิบกันเป็นกล่อง)
11. อย่าเตรียมชุดเยอะเหมือนเรา (ก็ สสจ.บอกว่า เตรียมมาเลยฟีลเข้าค่าย 14 วัน) ไม่ได้มาใส่โชว์หรอก ใส่ยูนิฟอร์มเหมือนกันหมด เตรียมชุดมาชุดกลับพอ
12. ชุดชั้นใน กางเกงในเตรียมมาให้พอ 14 ตัว เพราะที่นี่ไม่มีเครื่องซักผ้าให้นะ แนะนำสำหรับผู้ชายคือ กางเกงในกระดาษ ใส่แล้วทิ้งไปเลย ลดเชื้อโรคด้วย
13. ผ้าอนามัยสำหรับท่านสตรีทั้งหลาย
- ทำอะไรได้บ้างใน "โรงพยาบาลสนาม"
นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงผู้ที่อยู่ในโรงพยาบาลสนามมีพฤติกรรมจับกลุ่มทำกิจกรรมใกล้ชิด ไม่สวมหน้ากากอนามัย ควรจะมีข้อปฏิบัติอย่างไร? รวมกลุ่มได้หรือไม่?
เรื่องนี้แพทย์ระบุว่า เนื่องจากคนที่เข้าโรงพยาบาลสนาม เป็นการรวมคนที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นผู้ติดเชื้อแล้ว แม้ว่าคนจำนวนหนึ่งจะเข้าไปโดยไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงที่จะคลุกคลีเพื่อลดการฟุ้งกระจายของเชื้อ COVID-19
หากคลุกคลีมากเกินไปในระดับของปริมาณเชื้อต่างๆ ก็อาจจะทำให้เกิดการฟุ้งกระจายเพิ่มขึ้น จึงถือเป็นกิจกรรมที่ไม่สมควร และควรรักษาระยะห่าง ร่วมกับการสวมใส่หน้ากากอนามัย
----------------------------
ที่มา :
ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Phu Pha Wuchcharapol
กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข