ผู้ป่วยโควิด กักตัวอยู่บ้านได้
สถานการณ์โควิด-19 ยังคงไม่ทุเลา ทำให้วันนี้รัฐเร่งออกมาตรการหลายด้าน ทั้งแผนแพ็คเกจเยียวยา จัดหาวัคซีนเพิ่ม รวมถึงเตรียมแผนสถานที่ให้ผู้ติดเชื้อ เพราะคงไม่มีใครอยากเห็นภาพที่คนป่วยต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ที่อาจทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าหลักพัน
สถานการณ์โควิด-19 ณ วันที่ 20 เม.ย.2564 ยอดผู้ติดเชื้อใหม่อยู่ที่ 1,443 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 4 ราย ภาพรวมถือว่าสถานการณ์ทรงตัว ยอดผู้ติดเชื้อทะลุหลักพัน เป็นวันที่ห้าติดต่อกัน ตัวเลขดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 45,185 ราย เสียชีวิตสะสม 108 ราย หายป่วยแล้ว 28,958 ราย อย่างไรก็ดี เพื่อความปลอดภัย ทุกฝ่ายยังต้องช่วยกันทำให้อัตราการแพร่ระบาดระลอกใหม่ หรือนับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา จะไม่เพิ่มขึ้นจากหลักพันเป็นหลักหมื่นรายต่อวัน
เมื่อวานนี้ (20 เม.ย.) มีการประชุมรับมือสถานการณ์โควิด ทั้งด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจหลายเวที ได้แก่ การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เวทีนายกรัฐมนตรีกับภาคเอกชน รวมถึงการประชุมของคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ชุดที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานฯ เป็นความกระตือรือร้น และมีความร่วมมือทุกภาคส่วนเป็นครั้งแรกหลังจากประเทศไทยเจอโควิดระลอกที่ 3 เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เห็นได้ว่ามีการทำงานเชิงรุกมากขึ้น
ครม.เมื่อวานนี้ มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการเราชนะ โดยขยายระยะเวลาใช้จ่ายได้ไม่เกินวันที่ 31 พ.ค. เป็นใช้จ่ายได้ไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย.2564 พร้อมขยายกลุ่มเป้าหมายและกรอบวงเงินของเป็นไม่เกิน 243,242 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3,042 ล้านบาท ยังมีแผนออกแพ็คเกจเยียวยาเพิ่มเติมในเดือนหน้า ได้แก่ คนละครึ่งเฟส 3 นายกรัฐมนตรียังเปิดเผยด้วยว่ามีความพยายามเจรจากับบริษัทวัคซีนไฟเซอร์และรายอื่นๆ เพื่อให้มีจำนวนที่เพียงพอ คาดว่าจะสำเร็จตามเป้าหมาย 61 ล้านโดส ไม่เกินสิ้นปี
ขณะที่คณะทำงานชุด นพ.ปิยะสกล ประกาศเดินหน้าเต็มที่ในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม จะมีทีมงานภาคธุรกิจจากสภาหอการค้าร่วมกับโรงพยาบาลเอกชน จัดหาวัคซีนให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม เบื้องต้นจำนวน 1 ล้านโดส ความเคลื่อนไหวในความพยายามเยียวยาเศรษฐกิจเพิ่มเติม กับการหาวัคซีนเพิ่ม เพื่อกระจายและฉีดให้ได้มากที่สุดในเวลาเร็วที่สุด คือการตอบโจทย์ที่คนไทยอยากเห็น หากเป็นไปได้ต้องมีการสื่อสารออกไปยังสาธารณะ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง จะทำให้ประชาชนไม่แตกตื่นจนเกินไป
ยังมีประเด็นเรื่องเตียงที่ถกเถียงกันมากขณะนี้ ระเบียบและข้อกฎหมายว่าด้วยสถานที่ให้ผู้ป่วยพักรักษาตัวภายหลังตรวจพบติดเชื้อ จำเป็นต้องอยู่ที่โรงพยาบาลเท่านั้นหรือไม่ เรื่องนี้กรมการแพทย์ พร้อมดำเนินการให้ความเหมาะสมหรือตามสถานการณ์การแพร่ระบาด มีการเตรียมปรับแผนให้ใช้ได้ทันทีสำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ ดังนั้นผู้ป่วยสามารถกักตัวอยู่ที่บ้านได้ แต่กรมการแพทย์ยืนยันว่าตอนนี้เตียงไม่ได้ขาดแคลน เชื่อว่าไม่มีใครอยากเห็นภาพที่คนป่วยต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน เพราะนั่นหมายถึงยอดผู้ติดเชื้อ เพิ่มขึ้นมากกว่าหลักพัน