'เอกชน' เร่งจัดหา 'วัคซีนโควิด' ฟื้นเศรษฐกิจ

'เอกชน' เร่งจัดหา 'วัคซีนโควิด' ฟื้นเศรษฐกิจ

วัคซีนโควิด 19 ซึ่งถือเป็นความหวังของประเทศ รวมถึงภาคเอกชนในการฟื้นธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ที่ผ่านมา จึงมีความพยายามในการหารือเพื่อให้เอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนโดยจัดตั้ง คณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนโควิด 19

หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้ง ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษาศูนย์ ศบค. เป็นประธานคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรค โควิด-19 พร้อมคณะทำงานรวม 18 คน มีหน้าที่ในการจัดหาวัคซีนเพื่อใช้ในโรงพยาบาลของรัฐและ "เอกชน" และดำเนินการอื่น ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย โดยมีการประชุมในครั้งแรกในวันที่ 20 เม.ย 64 ที่ผ่านมา

ถัดมาวันที่ 21 เม.ย 64 นายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า คณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งประกอบด้วย คณะแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน นำโดย นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร ได้รายงานว่า “จากการหารือทุกฝ่าย ได้ข้อยุติว่า ประเทศไทยจะจัดหาวัคซีนอีก 2-3 ยี่ห้อเพิ่มเติมอีกประมาณ 35 ล้านโดส นอกเหนือจากที่ดำเนินการไว้แล้วประมาณ 65 ล้านโดส

โดยในจำนวน 35 ล้านโดส ภาคเอกชนนำโดยสภาหอการค้าไทย ก็จะช่วยรัฐบาลจัดหาให้กับพนักงานลูกจ้างเองด้วย ประมาณ 10-15 ล้านโดส ซึ่งก็จะช่วยลดงบประมาณของรัฐบาลลงไปอีก กระบวนการต่อไปให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการโดยเร่งด่วนและเป็นไปตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้วางแผนการกระจายและฉีดวัคซีนที่จัดหามาทั้งหมด ให้เสร็จสิ้นภายใน ธันวาคม 2564 นี้ #รวมไทยสร้างชาติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : นายกฯเผยจัดหาวัคซีนทางเลือก35 ล้านโดส 2-3ยี่ห้อสั่งฉีดให้เสร็จธ.ค.นี้

“นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช” ที่ปรึกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และกรรมการผู้จัดการ รพ.เมดพาร์ค กล่าวว่าภาคเอกชนใที่ต้องการวัคซีน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเอกชนที่อยากได้วัคซีนมาฉีดเพื่อฟื้นอุตสาหกรรม อยากให้ฟื้นกระบวนการผลิต เนื่องจากผลิตไม่ได้ บริการไม่ได้ ดังนั้น อุตสาหกรรมจึงต้องการฉีดให้คนงาน เพื่อให้อุตสาหกรรมเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งจะไปใช้วัคซีนในไกด์ไลน์ของรัฐบาลไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทางเลือกของเขา คือ จัดหาวัคซีนตัวใหม่ ที่สามารถซื้อได้ก่อนโดยรัฐหรือเอกชน แต่หากเป็นจังหวัด ยังมีเหตุผลพอ เช่น การที่ภาครัฐจัดสรรวัคซีนไปภูเก็ตเพื่อเปิดเมืองท่องเที่ยว

ทั้งนี้ กระบวนการที่ "เอกชน" จะได้วัคซีน คือ ต้องไม่กระทบไกด์ไลน์การฉีดปกติของรัฐ เนื่องจากภาครัฐ มีแนวทางและไทม์ไลน์ในการฉีด เช่น ซิโนแวค หรือ แอสตร้าเซนเนก้า ให้ประชาชนอยู่แล้ว จะไปดึงเอาส่วนนั้นมาไม่ได้ หรือ หากใช้วัคซีนเดียวกับรัฐมี ต้องไปต่อท้ายคิวเพื่อจัดซื้อ ซึ่งอาจใช้เวลานาน

กลุ่มที่สอง คือ โรงพยาบาลเอกชน หรือบริษัทยา ที่ต้องการนำเข้าวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนทั่วไป บริการโดยเก็บเงิน ซึ่งต้องเป็นวัคซีนไม่ซ้ำรัฐบาล ดังนั้น เอกชนต้องค้นหาวัคซีน เพื่อให้มีของเร็ว เอกชนมีจุดได้เปรียบคือ มีความยืดหยุ่น จำนวนเท่าไหร่ก็เอา ดังนั้น อาจต้องมีขอบเขตว่าตัวไหนให้เอกชนทำ หรือตัวไหนให้รัฐทำจะได้คุยกันก่อน อาจจะต้องให้รัฐช่วยปลดล็อค ในการขึ้นทะเบียน อย. ให้นำเข้าได้ แต่หากบริษัทฯ ไม่ยอมขายโดยตรงให้ภาคเอกชน รัฐอาจต้องช่วยโดยให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้นำเข้า

สำหรับคำถามที่ว่า หากเอกชนนำเข้าวัคซีน แล้วผู้ฉีดมีผลข้างเคียงรุนแรงใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ นพ.พงษ์พัฒน์ อธิบายว่า หากมีผลข้างเคียงจากการใช้วัคซีน ในกรณีที่เป็นวัคซีนที่รัฐซื้อและมีนโยบายฉีด เช่น ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า รัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบ ในส่วนของเอกชนหากรับมา มีการพูดคุยว่าจะอยู่ในรูปแบบการซื้อประกัน โดยผู้ที่จะมาฉีดอาจจะต้องมีการซื้อประกันด้วยตัวเอง อาจจะเป็นประกันที่มาพร้อมวัคซีน หรือ ประกันในประเทศไทย คาดว่าค่าประกันจะอยู่ที่ราว 1 เหรียญสหรัฐ หรือราว 30 บาท ซึ่งมองว่าไม่น่าแพง เนื่องจากอัตราการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงไม่สูงประมาณหนึ่งต่อหลายแสนราย การฉีดวัคซีนคราวนี้เอกชนไม่ได้คิดว่าเป็นธุรกิจหรือกำไร แต่ทำให้ประเทศกลับสู่ปกติโดยเร็ว ดังนั้น ไม่สามารถขายแพงได้

“จากข้อเสนอดังกล่าว รัฐเห็นด้วย ไม่อยากให้มีเรื่องราว หรือเรื่องฟ้องร้องไปมา เพราะมองว่าทุกฝ่ายไม่ได้มีเจตนาร้าย ทุกคนอยากให้ประเทศกลับมาปกติ ขณะที่ผลข้างเคียงเป็นสิ่งที่รับรู้มาก่อนหน้านี้ เพราะวัคซีนที่ฉีดถือว่ายังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่มีการนำมาใช้ในกรณีฉุกเฉิน ฉีดดีกว่าไม่ฉีด สามารถป้องกันโรคได้ และทำให้การติดเชื้อลดลง”

นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่ภาคเอกชนช่วยเร่งการฉีดวัคซีนคู่กับภาครัฐ ทำให้คนที่ยังไม่ได้ฉีดก็มาฉีดกับเอกชนได้ ทำให้กระบวนการฉีดเร็วขึ้น ประเทศสงบ วันนี้ทุกคนมีเจตนาดีกับประเทศ และมวลมนุษยชาติ ไม่มีใครอยากหากำไรเกินควรกับสถานการณ์เพราะอยากให้โรคสงบลงโดยเร็ว เพื่อให้การทำมาหากินกลับคืนสู่ปกติสำคัญมากกว่า และถือเป็นทางออกประชาชน ทางออกประเทศ ใครต้องการเดินทางไปต่างประเทศ สามารถฉีดก่อนได้ และวัคซีนเหล่านี้ อนาคตอาจจะเป็นวัคซีนปกติ ที่ต้องฉีดทุกปี เหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่

161901424069

สำหรับข้อมูลการฉีดวัคซีนล่าสุด ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 20 เมษายน 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 712,610 ราย วันที่ 20 เมษายน 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 33,122 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 13,279 ราย

ขณะที่ วัคซีนที่เข้ามาแล้ว ในเดือน ก.พ. จำนวน 317,000 โดส แบ่งเป็น ซิโนแวค 2 แสนโดส แอสตราเซนเนก้า 117,000 โดส มี.ค. ซิโนแวคเข้ามา 8 แสนโดส เม.ย. ซิโนแวค เข้ามาอีก 1 ล้านโดส รวมทั้งหมดที่เข้ามาขณะนี้ 2,117,000 โดส โดยทางรัฐบาล ได้จัดแผนในการแจกจ่าย ไปยังพื้นที่ต่างๆ เพิ่มเติมมากขึ้น เร่งรัดการฉีดให้มากยิ่งขึ้น พร้อมหารือโรงพยาบาลเอกชนในการฉีดอย่างไรให้รวดเร็วขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ระบุว่า นอกจากนั้น ยังมีวัคซีนที่จะเข้ามา 24 เม.ย. นี้ วัคซีนซิโนแวค จะเข้ามาอีก 5 แสนโดส พ.ค. ซิโนแวค เข้ามาอีก 1 ล้านโดส แต่ต้องรอนโยบายของรัฐบาลจีนด้วยเพราะการนำออกมาจากประเทศจีนต้องขออนุมัติทางรัฐบาลซึ่งเราก็มีการหารือกันเป็นประจำอยู่แล้ว ในส่วนของวัคซีนแอสตราเซเนกร้า ที่ผลิตในประเทศไทย จะเริ่มทยอยส่งตั้งแต่เดือนมิ.ย. ประมาณ 4-6 ล้านโดส และเพิ่มจำนวนตั้งแต่ก.ค.ไปถึงสิ้นปีจะครบ 61 ล้านโดส เพราะฉะนั้นเมื่อบวกในส่วนที่กำลังจัดหาเพิ่มเติม คือ วัคซีนทางเลือกก็น่าจะเพียงพอ

“ทั้งนี้  ขณะนี้สถาบันวัคซีนกำลังเจรจากับบริษัทไฟเซอร์ และมีความเป็นไปได้ที่จะ ส่งมอบในเดือนก.ค.นี้ ถึงสิ้นปี ปริมาณ 5-10 ล้านโดส แต่ระหว่างนี้อยู่ระหว่างการรอใบเสนอราคาและเงื่อนไขอยู่ นอกจากนั้น ยังมีวัคซีนอีกหลายยี่ห้อด้วยกัน ตนก็ไม่อยากพูดล่วงหน้า เพราะอยู่ในขั้นตอนการติดต่ออยู่ รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ” นายกรัฐมนตรี กล่าว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง