'วัคซีนโควิด19' ที่รัฐ-เอกชนอาจนำเข้าเพิ่ม
นายกรัฐมนตรีสั่งให้เพิ่มเป้าหมายการได้รับวัคซีนโควิด19 เป็น 70%ของประชากรในแผ่นดินไทย ทำให้ต้องจัดหาเพิ่มขึ้นอีก 35ล้านโดส จากเดิมมีอยู่แล้ว 65 ล้านโดส แบ่งเป็น"รัฐ"จัดหาให้ฟรีกับคนทั่วไป และ"เอกชน"จัดหาให้คนของเขาเอง ยี่ห้อใดจะเข้าวินในนามรัฐ-เอกชน?
"ทางเลือกของเอกชน คือ ต้องจัดหาวัคซีนตัวใหม่ ไม่ซ้ำรัฐบาล เพื่อให้มีของเร็ว หากใช้ตัวเดียวกัน ก็ต้องไปต่อท้ายคิวจัดซื้อ อาจนาน" นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช”ที่ปรึกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนกล่าว
ดังนั้น หากพิจารณาบนพื้นฐานที่ว่า เอกชน-รัฐจะไม่นำเข้าวัคซีนตัวเดียวกัน วัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้าจึงไม่ใช่ตัวเลือกของเอกชน
อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่จัดหาโดยรัฐและเอกชน อยู่บนเงื่อนไขเดียวกัน นั่นคือ "ต้องส่งมอบเข้ามาได้เร็วที่สุด" แต่สิ่งสำคัญ จะต้องนำเรื่อง "ประสิทธิภาพวัคซีน และความปลอดภัยมาเป็นปัจจัยนำ"
วัคซีนที่มีการกล่าวถึงจากทั้ง 2 ฝั่งขณะนี้มี 7 ตัว เช่นนั้นแล้วตัวที่มีโอกาสจะเข้าวินคือตัวไหน??
1.ไฟเซอร์/ไบออนเทค เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่กับการผลิตวัคซีนจึงยังไม่ทราบผลการใช้ในระยะยาว แต่ในการประสิทธิภาพป้องกันโควิดค่อนข้างสูงที่ 95 %ทั้งสายพันธุ์เดิมและอังกฤษ
ซึ่งตัวนี้รัฐเคยเจรจาเมื่อปี 2563 ได้รับคำตอบว่าจะส่งมอบให้ได้เร็วสุดไตรมาส3-4ปี 2564 นั่นอาจเพราะโดนประเทศมีรายได้สูง "เหมาเข่ง"ตั้งแต่ที่ยังวิจัยไม่สำเร็จ มียอดจองทั่วโลกเป็นอันดับ3 ที่ 1,220 ล้านโดส รองจากแอสตร้าเซนเนก้าและโนวาแวกซ์
อย่างไรก็ตาม การหารือกับผู้บริหารบริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข มีข้อมูลว่า จะจัดหาให้ไทยได้ราว 10 ล้านโดส โดยจะส่งมอบได้ภายในปี 2564 แต่ไม่สามารถระบุเดือนได้
ค่อนข้างชัดเจนว่า "วัคซีนไฟเซอร์" หากมีการนำเข้ามาในประเทศไทย จะดำเนินการโดยรัฐ แต่ไม่ได้นำมาฉีดให้คนทั่วไป แต่เพื่ออุดช่องโหว่ฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่น เพราะไฟเซอร์เพิ่งมีรายงานผลการฉีดให้ในกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไป มีประสิทธิภาพที่ดี ขณะที่วัคซีนตัวอื่นอนุญาตฉีดในคนอายุ 18 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น
2.โมเดอร์นา ที่เป็นชนิด mRNA ผลิตโดยอเมริกา มีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์ดั้งเดิมและอังกฤษที่ 95% มีวงในบอกว่าองค์การเภสัชกรรม(อภ.)อยู่ระหว่างเจรจา บริษัทแจ้งมีให้ได้ 5-10 ล้านโดส แต่จะทยอยส่งมอบให้ได้เริ่มตั้งแต่ก.ค.2564 เป็นต้นไป แต่ทั้งหมดยังไม่มีการยืนยันใดๆ
วัคซีนตัวนี้ น่าจะนำเข้ามาในโควต้าให้รพ.เอกชน เพราะข้อกำหนดขณะนี้ยังให้ฉีดในคนอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งวัคซีนฟรีภาครัฐมีวัคซีนแอสตร้าฯที่ฉีดในคนกลุ่มนี้อยู่แล้ว รพ.เอกชนจึงอาจพิจารณานำมาบริการให้คนที่พร้อม"จ่ายเงินเอง"
3.จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ใช้เทคโนโลยีไวรัล แว็กเตอร์ ผลิตโดย อเมริกา-อิสราเอล เป็น 1 ใน 3 ตัวที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับอย.ไทยแล้ว มีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์อังกฤษ อยู่ที่ 72% นอกจากนี้ ประสิทธิภาพร่อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ อยู่ที่ 57% ซึ่งเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก(WHO)ยอมรับ คือ 50% ขณะที่วัคซีนตัวอื่นๆนั้นยังไม่มีข้อมูลประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์ และฉีดเพียง 1 เข็ม ส่วนตังอื่นฉีด 2 เข็ม
การเจรจาก่อนหน้านี้บริษัทแจ้งว่า จะส่งมอบได้เร็วสุดในไตรมาส 4 ปี2564 ซึ่งอาจจะนานเกินไป รวมถึง ยังถูกระงับการใช้ชั่วคราวในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากกังวลเรื่อง ลิ่มเลือดอุดตัน
แต่กรณีการเกิดลิ่มเลือดนั่น รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า โอกาสเกิด 4 ในล้านก และเสียชีวิต 1 ในล้าน ขณะที่ติดโควิด19โอกาสเสียชีวิต 2 ใน100 อีกทั้ง ลิ่มเลือดเป็นโรคที่ประเทศไทยเจอน้อยกว่าฝรั่ง 5 เท่า
4.สปุตนิกวี ใช้เทคโนโลยีไวรัล แว็กเตอร์ ผลิตโดยรัสเซีย มีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์ดั้งเดิม 91.6% แต่สำหรับสายพันธุ์อังกฤษและแอฟริกานั้น ยังไม่มีข้อมูล
การเจรจาเดิมได้รับแจ้งว่าจะส่งมอบให้ได้ในสิ้นปี 2564 แต่หลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯประสานผ่านถึงประธานาธิลดีรัสเซียแล้ว ได้รับคำตอบว่า "ยินดีจะสนับสนุนวัคซีนให้ไทย"แล้วจะมีการร่นระยะเวลาส่งมอบได้เร็วขึ้นหรือไม่
และในทางวิชาการยังมีความเป็นห่วงต่อวัคซีนนี้ ในแง่ที่มีการใช้อะดิโนไวรัส ของคนมาเป็นไวรัสพาหะ ซึ่งในคนไทยอาจมีไวรัสนี้อยู่เดิมราว50-60%แล้ว จึงอาจทำให้วัคซีนไม่ได้ผลกับคนไทยหรือไม่
ต่างจากแอสตร้าเซนเนก้าที่ใช้อะดิโนไวรัสของลิง ซึ่งในคนไม่มีอยู่เดิมแน่นอน เมื่อนำมาขึ้นทะเบียนอย.ในไทยจะผ่านหรือไม่???
แต่วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันที่ใช้อะดิโนไวรัสคนเช่นเดียวกัน สามารถหาหลักฐานมาชี้แจงข้อสงสัยนี้ได้ จึงผ่านการอนุมัติจากอย. อยู่ที่ว่า "สปุตนิกวี"จะเคลียร์ประเด็นนี้ได้หรือไม่
ส่วนอีก 3 ตัวถูกเอ่ยชื้อขึ้นมาจากฝั่งเอกชน คือ
5.ซิโนฟาร์ม ใช้เทคโนโลยีชนิดเชื้อตายซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้มานานทั่วโลกในการผลิตวัคซีน เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดประจำทุกปี ผลิตโดยจีน มีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์ดั้งเดิม 79.34% แต่สายพันธุ์อังกฤษ และแอฟริกาใต้ ยังไม่มีข้อมูล หากนำมาใช้ในประเทศไทย ที่การระบาดขณะนี้เป็สายพันธุ์อังกฤษแล้วผลจะเป็นเช่นไร
โดยหอการค้าแห่งประเทศไทยระบุว่าสามารถเจรจามาได้ 10 ล้านโดสและพร้อมส่งมอบหลังมีการสั่งซื้อ 2 สัปดาห์ และทยอยส่งอีก 2-3 เดือนจนครบ
ฉะนั้น ค่อนข้างแน่ชัดว่าตัวนี้จะถูกนำเข้ามาในโควต้าเอกชนสัดส่วนที่หอการค้าฯจะนำไปฉีดให้กับแรงงานในบริษัทที่เป็นสมาชิกหอการค้าฯ
6.โควาซิน ชนิดเชื้อตาย ผลิตโดยอินเดีย มีประสิทธิภาพสายพันธุ์ดั้งเดิม 81.9% ส่วนสายพันธุ์อังกฤษและแอฟริกาใต้ยังไม่มีข้อมูล เป็นตัวที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของอย.ไทย
ทว่า หากอย.อนุมัติ อาจมีปัญหาเรื่องการส่งออกมายังไทย เนื่องจากขณะนี้อินเดียมีผู้ติดเชื้อรายวันสูงที่สุดในโลก วันละหลายแสนราย และรัฐบาลอินเดียได้สั่งระงับการส่งวัคซีนออกนอกประเทศ เพื่อใช้ภายในประเทศก่อน จนทำให้โครงการโคแวกซ์ขององค์การอนามัยโลกกระทบ เพราะใช้อินเดียเป็นฐานผลิตหนึ่งที่สำคัญ
และ7.คานซิโน เทคโนโลยีไวรัล แว็กเตอร์ ผลิตโดยจีน มีประสิทธิภาพสายพันธุ์ดั้งเดิม 65.7%.ส่วนสายพันธุ์อังกฤษและแอฟริกา ยังไม่มีข้อมูล เป็นวัคซีนที่ฉีดเพียง 1 เข็ม แต่อาจยังมีข้อสงสัยทางวิชาการเช่นเดียวกับสปุตนิกวี และยังไม่มีการพูดถึงการเจรจาเบื้องต้นทั้งรัฐและเอกชน
อย่างไรก็ตาม ในการนำเข้าสัดส่วนโควต้าของเอกชนนั้น ยังจะต้องดำเนินการโดยรัฐทั้งสิ้น เพราะวัคซีนโควิด19ยังใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินบริษัทผู้ผลิตยังต้องการขายให้รัฐหรือมีการเจรจาระดับรัฐต่อรัฐเท่านั้น
ณ ตอนนี้ ฝมีความเป็นไปได้สูงที่ในส่วนของรัฐจะนำเข้า"วัคซีนไฟเซอร์"มาให้ฟรีกับเด็กอายุ12 ปีขึ้นไป เพราะยังไม่มีวัคซีนตัวอื่นที่ตอบโจทย์กลุ่มนี้ ขณะที่เอกชนน่าจะนำเข้า "วัคซีนซิโนฟาร์ม"ในส่วนหอการค้าฯ และโมเดอร์นาในส่วนของรพ.เอกชน เพราะเป็นวัคซีนที่ส่งมอบได้เร็วที่สุด
ทั้งหมด เปลี่ยนแปลงได้เสมอ เพราะองค์ความรู้และเงื่อนไขเกี่ยวกับ"วัคซีนโควิด19"ยังเป็นไดนามิก