โพลล์ ชี้ ‘ผู้มีโรคประจำตัว-ผู้สูงอายุ-เด็ก’ เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงติดโควิด 19

โพลล์ ชี้ ‘ผู้มีโรคประจำตัว-ผู้สูงอายุ-เด็ก’ เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงติดโควิด 19

กรม อ. เผยผลโพล ชี้ ‘ผู้มีโรคประจำตัว - ผู้สูงอายุ - เด็ก’ เป็นกลุ่มเสี่ยงเฝ้าระวังการติดเชื้อ แนะคุมเข้มป้องกันโควิด-19 ในครอบครัว

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ผลสำรวจอนามัยโพลต่อประเด็นความกังวลของประชาชนต่อการติดเชื้อโควิด-19 ในครอบครัว ระหว่างวันที่ 22 – 26 เมษายน 2564 พบว่า ครอบครัวร้อยละ 55.2 มีกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังจากการติดเชื้อโควิด-19 ในจำนวนนี้เป็นครอบครัวที่มีผู้ป่วยเป็นโรคประจำตัว ร้อยละ 66.3 เป็นครอบครัวที่มีผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 61 และเป็นครอบครัวที่มีเด็กเล็ก 0-5 ปี ร้อยละ 36.2 โดยข้อมูลกรมอนามัยที่ผ่านมาพบว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้สูงอายุในช่วงสถานการณ์  โควิด-19 คิดเป็นร้อยละ 53 และเสียชีวิตมากที่สุดในช่วงอายุ 60–69 ปี ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มีโรคประจำตัว โดยพบป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 36 รองมาคือโรคเบาหวาน ร้อยละ 28 และโรคไต ร้อยละ 18 สำหรับกลุ่มเด็กพบว่า ตั้งแต่มีการระบาดโควิดระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน มีเด็กปฐมวัย แรกเกิดถึง 6 ปี ติดเชื้อโควิด 592 ราย ส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับครอบครัว ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิด และยังพบอีกว่าร้อยละ 60 ของผู้ติดเชื้อในกลุ่มเด็ก เกิดขึ้นในช่วงการระบาดระลอก 3 พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงเด็กควรสร้างสุขอนามัยที่ดีด้วยการล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนสัมผัสกับเด็กสวมหน้ากากป้องกัน หากผู้เลี้ยงเด็กมีอาการ  ไม่สบาย หรือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ให้งดเข้าใกล้ทารกหรือ หอมแก้มเด็ก

          

 นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ผลการสำรวจอนามัยโพลยังพบอีกว่า ประชาชนร้อยละ 56.3 จะรู้สึกกังวลมากหากพบว่ามีคนในชุมชนหรือเพื่อนบ้านติดเชื้อโควิด-19 โดยเรื่องที่กังวลมากที่สุดหากมีคนในบ้านมีประวัติสัมผัสเสี่ยงสูงคือ กังวลว่าตนเองและคนในครอบครัวจะติดเชื้อตาม ร้อยละ 66.0 รองลงมาคือ หากผู้สูงอายุในบ้านติดเชื้อจะป่วยและมีอาการรุนแรง ร้อยละ 12.5 และกังวลว่าเด็กหรือผู้สูงอายุจะไม่มีคนดูแล ร้อยละ 7.0 ดังนั้น หากพบตนเองเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงหรือเป็นผู้แยกกักตัว และอาศัยอยู่ภายในบ้านร่วมกับผู้มีโรคประจำตัวผู้สูงอายุ และเด็ก เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อจากตนเองไปสู่บุคคลอื่นควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้ 

1) หยุดงาน หยุดเรียน ไม่ออกไปนอกบ้านหรือที่พักอาศัย ไม่เดินทางไปที่ชุมชนหรือที่สาธารณะอย่างน้อย 14 วัน นับแต่วันที่เดินทางจากพื้นที่ระบาด หรือวันสุดท้ายที่สัมผัสผู้ป่วย  

2) หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดบุคคลอื่น โดยเฉพาะในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศ ต้องสวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างกันไม่น้อยกว่า เมตร ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยมีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ และเด็กในบ้านโดยเด็ดขาด 

3) สังเกตอาการตัวเองและวัดไข้ทุกวัน หากมีไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการผิดปกติ  ทางผิวหนัง ไอ หรืออาการทางระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ให้รีบไปพบแพทย์  

4) ในแต่ละวันให้รวบรวมขยะ หน้ากากอนามัยไว้ในถุง ก่อนทิ้งให้ใส่น้ำยาฟอกขาว ฝา ก่อนใส่ถุงอีกชั้น ปิดปากถุงให้สนิท

 5) กินอาหาร ที่มีประโยชน์ ปรุงสุก สะอาด พักผ่อนให้เพียงพอ

และ 6) แยกห้องนอน การใช้ห้องน้ำ ห้องส้วมออกจากผู้อื่น พร้อมทั้งแยกอุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัว และแยกการกินอาหาร แต่หากไม่สามารถแยกห้องได้ ให้ผู้อื่นใช้ห้องน้ำก่อน ส่วนผู้แยกกักตัวใช้เป็นคนสุดท้าย พร้อมทำความสะอาดให้เรียบร้อย เปิดประตูหน้าต่าง เพื่อให้มีการระบายอากาศ  สู่ภายนอกเป็นระยะ และปิดประตูด้านที่เชื่อมต่อกับคนอื่นภายในบ้านจะเปิดได้เมื่อจำเป็นเท่านั้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว