ใกล้หรือยัง!! 'ล็อกดาวน์' กทม.เตียง บุคลากร พอจริงหรือ?

ใกล้หรือยัง!!  'ล็อกดาวน์' กทม.เตียง บุคลากร พอจริงหรือ?

ถึงเวลา “ล็อกดาวน์” กทม.แล้วหรือยัง? คำถามที่ค้างคาใจหลายๆ คน หลังจากที่หลายหน่วยงาน ทั้งโรงพยาบาล และภาคเอกชน ขอให้รัฐบาล ประกาศล็อกดาวน์ หรือเคอร์ฟิว พื้นที่สีแดง

กรุงเทพมหานคร หรือ "กทม." ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ “รพ.ในกทม.” เริ่มออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่าเตียงในโรงพยาบาล เตียงในหอผู้ป่วยวิกฤติ "ไอซียู" ยา และอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ บุคลากรทางการแพทย์ รองรับไม่เพียงพอ เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นผู้ป่วยอาการหนัก

สถานการณ์เตียงของประเทศข้อมูล ณ วันที่ 26 เมษายน 2564 เวลา 16.30 น. ทั้ง 13 เขตสุขภาพ มีเตียงทั้งหมด 44,560 เตียง ครองเตียง 21,695 เตียง เตียงว่าง 22,865 เตียง โดยเฉพาะเขตสุขภาพที่ 13 คือกรุงเทพมหานคร มีเตียง 12,679 เตียง ผู้ป่วยครองเตียง 7,959 เตียง มีเตียงว่าง 4,720 เตียง ซึ่งเป็นเตียงของโรงพยาบาลภาครัฐทุกสังกัด และเอกชนซึ่งมีเตียงมากที่สุด

กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบจัดแบ่งเตียง ได้มอบหมายให้โรงเรียนแพทย์ดำเนินการจัดสรรการแบ่งเตียงในพื้นที่ กทม.เป็น 6 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 รพ.ทั้งหมดในส่วนกลาง ได้แก่ เขตดุสิต พญาไท ราชเทวี พระนคร ป้อมปรามศัตรูพ่าย สัมพันธ์วงศ์ ประเวศ สะพานสูง โดยมีรพ.พระมงกุฎเกล้าและรพ.ราชวิถี เป็นหัวหน้าโซน 2.โซนใต้ ได้แก่ เขตสวนหลวง วัฒนา คลองเตย สาทร บางรัก ปทุมวัน บางคอแหลม ยานนาวา บางนา โดยมีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นหัวหน้าโซน

3.โซนเหนือ ได้แก่ เขตจตุจักร ลาดพร้าว บางซื่อ โดยมี โรงพยาบาลธรรมศาสตร์และโรงพยาบาลภูมิพล เป็นหัวหน้าโซน 4.โซนตะวันออก ได้แก่ เขตบึงกุ่ม คันนายาว มีนบุรี ลาดกระบัง โดยมีโรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นหัวหน้าโซน 5.โซนโรงพยาบาลศิริราช ได้แก่ เขตทวีวัฒนา บางพลัด บางกอกใหญ่ ธนบุรี จอมทอง คลองสาน โดยมีโรงพยาบาลศิริราชเป็นหัวหน้าโซน 6.โซนวชิรพยาบาล ได้แก่ เขตบางขุนเทียน บางบอน ราษฎร์บูรณะ หนองแขม บางแค ภาษีเจริญ มีโรงพยาบาลวชิรพยาบาลเป็นหัวหน้าโซน

  • "เตียง ไอซียู หมอ" กทม.และปริมณฑลสุดอั้นควร "ล็อกดาวน์"

เมื่อ สัดส่วนผู้ป่วยความรุนแรงมีเพิ่มขึ้น โดยมีผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบ ใช้เครื่องช่วยหายใจ มีปริมาณเพิ่มขึ้น เริ่มส่งผลให้มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าที่ รพ.ศิริราช มีผู้ป่วย 1 ใน 4 ที่เข้ามารักษาในรพ.ศิริราช มีภาวะปอดอักเสบเรียบร้อยแล้ว และมีจำนวนคนไข้ที่ต้องใส่ท่อหายใจมีการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในรพ.ศิริราช แต่เกิดขึ้นในรพ.ทั่วประเทศ

เมื่อมีผู้ป่วยหนักเพิ่มมากขึ้น ความต้องการในหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU) เพิ่มมากขึ้น จนอาจเกิดเหตุการณ์เตียงในหอผู้ป่วยวิกฤตไม่เพียงพอกับความต้องการ จนนำไปสู่การเสียชีวิตมากขึ้น ตอนนี้ ทรัพยากร รพ.ในกรุงเทพฯ เริ่มไม่เพียงพอกับความต้องการ เช่น บุคลากรด้านสุขภาพ อุปกรณ์/ครุภัณฑ์ทางการแพทย์บางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดูแลผู้ป่วยหนัก ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

161962005033

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์  รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในส่วนของ"ไอซียู"ใน"กทม.และปริมณฑล" พูดจริงๆ คือ ถึงจุดตรึง ไม่มีช่องพอจะเหลือให้ผู้ป่วยรายใหม่ จึงต้องบริหารจัดการเตียงด้วยการสำรองเตียง โดยจะนำผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องอยู่"ไอซียู"ให้ถอยมาอยู่หอผู้ป่วยสามัญมากขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยจำเป็นจริงๆมาอยู่ใน "กทม.และปริมณฑล"จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อง"ไอซียู" สามารถปรับหอผู้ป่วยภายในให้คล้าย"ไอซียู"ได้ และเอาผู้ป่วยที่ไม่ได้จำเป็นอยู่ความดันลบออกมาอยู่หอผู้ป่วยสามัญก่อน

เพราะจะหวังพึ่งในส่วนของจังหวัดใกล้เคียงก็ดูท่าจะไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วย "โควิด-19" จากกรุงเทพฯ แล้ว อย่าง จ.นนทบุรี มียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นวันละ 100 กว่ารายต่อวัน จนทำให้กลายเป็นพื้นที่สีแดงเข้มและอยู่ในอันดับ 3 ของประเทศที่มีผู้ป่วยติดเชื้อรายวัน  สุจินต์ ไชยชุมศักดิ์  ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี  ออกมา่ประกาศว่าทีมแพทย์ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดประเมินกันวันต่อวัน อาจจะมีล็อกดาวน์จังหวัด เนื่องจากเป็นห่วงผู้ป่วยวิกฤต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: เตรียมเป้า 'จัดหาเตียง' ช่วย 'ผู้ติดเชื้อโควิด-19'ให้เร็วที่สุด

                     ผู้ติดเชื้อวันนี้ ปัจจัยเสี่ยง'โควิด19'เปลี่ยน

                    ชัวร์หรือไม่? 'วัคซีนโควิด 19' ยิ่งฉีดเร็ว ฉีดมากควบคุมโรคได้

  • รพ.รัฐ-เอกชน รพ.สนาม เตียงมีจำกัด รอตัดสิน"ล็อกดาวน์"กทม.

ส่วน จ.สมุทรปราการ ได้ปรับหอพักนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีสมุทรปราการ เป็นหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ "โควิด- 19"  ขนาด 800 เตียง และเตรียมหอประชุมเป็นโรงพยาบาลสนาม ขนาด 120 เตียงรองรับผู้ป่วยในจังหวัด และรับส่งต่อจากกทม.-ปริมณฑล เพราะขณะนี้เตียงในรพ.ต่างๆ กทม.เริ่มรองรับไม่เพียงพอแล้ว

ขณะที่ จ.ปทุมธานี ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ออกคำสั่งปิดสถานที่ชั่วคราวและกำหนดมาตรการควบคุมป้องกันโรคเพิ่มเติม ป้องกันการเเพร่ระบาด"โควิด- 19" 

จ.ชลบุรี ที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ออกคำสั่ง ปิดสถานที่ชั่วคราวเช่นเดียวกัน และมีปัญหาเรื่องของเตียงไม่พอ

ข้อมูลเมื่อวันที่  26 เมษายน กรุงเทพมหานคร มีเตียง 12,679 เตียง ผู้ป่วยครองเตียง 7,959 เตียง มีเตียงว่าง 4,720 เตียง ซึ่งเป็นเตียงของโรงพยาบาลภาครัฐทุกสังกัด และเอกชนซึ่งมีเตียงมากที่สุด ทว่าจำนวนผู้ป่วย"โควิด- 19 เพิ่มขึ้นทุกวัน แม้ว่าประชาชนดูแลสุขภาพของตนเอง ปฎิบัติตามมาตรการของสธ.อย่างเข้มข้น

แต่ด้วยการแพร่ระบาดของโรคที่รวดเร็วและรุนแรง และการไปในพื้นที่ไม่ควรไป ทำกิจกรรมไม่ควรทำของคนกลุ่มหนึ่ง ตอนนี้เพียงออกนอกบ้านครั้งเดียวอาจจะกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงก็เป็นได้ ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่ต้อง ล็อกดาวน์ กทม.และพื้นที่สีแดง คำตอบอยู่ที่คณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19(ศบค.)ซึ่งจะประชุมกันวันนี้