'ปัจจัยเสี่ยง-พื้นที่เสี่ยง' พบ 'ป่วยโควิด' มีโอกาสเสียชีวิต ได้
เฝ้าระวัง"ปัจจัยเสี่ยง-พื้นที่เสี่ยง" พบ "ป่วยโควิด-19" มีอาการกี่วัน...มีโอกาสจะ "เสียชีวิต"ได้ แนะสวมใส่หน้ากากตลอดเวลา เมื่อเวลาเปลี่ยน ความรู้โควิด-19 ก็เปลี่ยนไป
ทุกๆ วันที่มีการแถลงข่าวสถานการณ์ "โควิด-19"ในระลอกใหม่นี้ สิ่งหนึ่งที่ทุกคนติดตาม คือ จำนวนของผู้เสียชีวิตที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นตัวเลข 2 หลักตลอด ยิ่งกรณีล่าสุดการจากไปของ “น้าค่อม ชวนชื่น” และ ผู้ป่วยอีกรายหลายที่เสียชีวิตในบ้านในคอนโด” ก่อนจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ยิ่งส่งผลให้ทุกคนยิ่งเกิดความรู้สึกเสียใจ และหวั่นวิตกกังวลมากขึ้น
โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 ล่าสุด วันที่ 1 พ.ค. 64 สถานการณ์ยังหนักอยู่ หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่อีก 1,891 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมแล้วจนถึงวันนี้ 67,044 ราย อีกทั้งยีงมียอดผู้เสียชีวิตสูงอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 21 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 นั้นมียอดผู้เสียชีวิตสะสม 130 รายไปแล้ว ขณะที่ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 224 ราย
ด้วยจำนวนของผู้ป่วยอาการรุนแรงในระลอกนี้ ดูจะหนักกว่าที่ผ่านมา สถิติของผู้เสียชีวิตรายวันก็เพิ่มขึ้น ซึ่งจากการรายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ระลอกใหม่เมษายน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.- 1 พ.ค.2564 พบว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ยืนยันสะสม 38,181 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยจากระบบ 31,853 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 6,110 ราย จากต่างประเทศ 218 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตสะสม 130 ราย ร้อยละ 0.34 มีผู้ป่วยหายแล้ว 10,649 ราย
โดย ขณะนี้มีผู้ป่วยรักษาอยู่ 28,745 ราย แบ่งเป็นในโรงพยาบาล 20,775 ราย และในรพ.สนาม 7,970 ราย อาการหนัก 829 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 270 ราย
- สถิติ 4 วันย้อนหลัง "ป่วยโควิด-19" แล้ว "เสียชีวิต"
ทั้งนี้ เมื่อมาดูข้อมูลย้อนหลังไป 4วัน ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.2564 -1 พ.ค. 2564 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 61ราย สามารถสรุปปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค และปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด -19 รวมถึงระยะเวลาที่เมื่อทราบผลติดเชื้อโควิด-19 แล้วนั้น อีกกี่วันถึงจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
เริ่มจากวันที่ 28 เม.ย.2564 เสียชีวิต 15 ราย เป็นชาย 11 ราย หญิง 4ราย ค่ามัธยฐานของอายุ 61 ปี (35-88 ปี) จังหวัดผู้เสียชีวิต กทม.9 ราย เชียงใหม่ 2 ราย สมุทรปราการ 2 ราย ชลบุรี 1 ราย ระนอง 1 ราย ซึ่งปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง โรคปอดเรื้อรัง/หอบหืด โรคไตเรื้อรัง ไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะอ้วน สมองเสื่อม/อัลไซเมอร์ ปฎิเสธโรคประจำตัว
ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ "โควิด-19" คือ สัมผัสผู้ติดเชื้อในครอบครัว 10ราย สัมผัสผู้ติดเชื้อจากที่ทำงาน 2 ราย ไปสถานบันเทิง 1 ราย สัมผัสใกล้ชิดเพื่อนบ้านป่วย 1 ราย สัมผัสใกล้ชิดเพื่อนที่ฟิตเนส 1 ราย
ทั้งนี้ จากค่ามัธยฐานของระยะเวลา ตั้งแต่วันที่ทราบผลติดเชื้อ จนไปถึงวันเสียชีวิตนั้น พบว่า ในกลุ่มของผู้เสียชีวิต รายงานวันที่ 28 เม.ย.2564 ในช่วงระยะเวลา 7 วัน บางคน นานสุดถึง 15 วัน และ 9 ราย หรือ 60% จะใช้เวลาตั้งแต่ 7-15 วัน 2 ราย หรือ 13% เสียชีวิตก่อนทราบผลเชื้อ และ 2 ราย หรือ 13% เสียชีวิตวันเดียวกับวันที่ทราบผลติดเชื้อ
- กลุ่มเสี่ยงต้องระวัง! "ป่วยโควิด-19" มีโอกาส "เสียชีวิต"
ขณะที่วันที่ 29 เม.ย.2564 แม้จะมี "ผู้เสียชีวิต"ลดลง โดยมีผู้เสียชีวิต 11 ราย เป็นชาย 8 ราย หญิง 2 ราย ค่ามัธยฐานของอายุ 62 ปี (45-91 ปี) จังหวัด"ผู้เสียชีวิต" กทม.6 ราย นครสวรรค์1 ราย สมุทรปราการ 1 ราย ยโสธร 1 ราย อยุธยา 1 ราย ซึ่งปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะอ้วน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง โรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเตียง ปฎิเสธโรคประจำตัว/ไม่ทราบ
ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ "โควิด-19" คือ สัมผัสญาติติดเชื้อมาเยี่ยม 2 ราย ทานข้าวกับเพื่อนร่วมงานติดเชื้อ 2 ราย ผู้ป่วยติดเตียงมีผู้ดูแลติดเชื้อ1 ราย พนักงานร้านคาราโอเกะ 1 ราย ร่วมสัมมนากับผู้ติดเชื้อ 1 ราย และไม่สามารถระบุปัจจัยเสี่ยง 3 ราย
สำหรับค่ามัธยฐานของระยะเวลา ตั้งแต่วันที่ทราบผลติดเชื้อ จนไปถึงวันเสียชีวิตนั้น พบว่า ในกลุ่มของผู้เสียชีวิต ในช่วงระยะเวลาเพียง 3 วัน บางคน นานสุดถึง 15 วัน ก็ทำให้เสียชีวิตได้ และใน 5 ราย หรือ 50% จะใช้เวลาตั้งแต่ 6-16 วัน 2 ราย หรือ 20% เสียชีวิตก่อนทราบผลเชื้อ และ 1 ราย หรือ 10% เสียชีวิตวันเดียวกับวันที่ทราบผลติดเชื้อ
- "ป่วยโควิด-19" เพียง 3 วัน ก็อาจตายได้
มาถึงวันสุดท้ายของสิ้นเดือนเม.ย.2564 รายงานวันที่ 30 เม.ย.2564 พบว่ามีผู้เสียชีวิต 15 ราย เป็นชาย 9 ราย หญิง 6 ราย ค่ามัธยฐานของอายุ 75 ปี (29-93 ปี) จังหวัดผู้เสียชีวิต กทม. 9 ราย ชลบุรี พัทลุง สุราษฎร์ธานี นครปฐม ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดละ 1 ราย
ปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดสมอง อ้วน(BMI>30 kg/m2) โรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยติดบ้าน ปฎิเสธโรคประจำตัว/ไม่ทราบ
ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 คือ ใกล้ชิดสมาชิกครอบครัวที่ติดเชื้อ 6 ราย สัมผัสใกล้ชิดเพื่อน/เพื่อนร่วมงาน 2 ราย สัมผัสผู้ติดเชื้อในสถานบันเทิง 2 ราย สัมผัสผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่ติดเชื้อ 2 ราย ไม่ทราบประวัติเสี่ยง/สัมผัสผู้ติดเชื้อ 3 ราย
ขณะที่ค่ามัธยฐานระยะเวลา ตั้งแต่วันที่ทราบผลติดเชื้อ จนไปถึงวันเสียชีวิต ในวันที่ 30 เม.ย.2564 นี้ พบว่า ในกลุ่มของผู้เสียชีวิต ในช่วงระยะเวลา7 วัน บางคน นานสุดถึง 21 วัน ถึงเสียชีวิตได้ 8 ราย หรือ 53% จะใช้เวลาตั้งแต่ 7-21 วัน 5 ราย หรือ 33% ตั้งแต่ 1-4 วัน และ2 ราย หรือ 13% เสียชีวิตก่อนทราบผลเชื้อ
ตบท้ายด้วย วันที่ 1 พ.ค.2564 พบว่ามีผู้เสียชีวิต 21 ราย เป็นชาย 9 ราย หญิง 12 ราย ค่ามัธยฐานของอายุ 73 ปี (39-90 ปี) จังหวัดผู้เสียชีวิต กทม. 10 ราย ชลบุรีและสมุทรปราการ จังหวัดละ 2 ราย อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ เชียงราย ปทุมธานี และเพชรบุรี จังหวัดละ 1 ราย
ปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง อ้วน(BMI>30 kg/m2) โรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเตียง ปฎิเสธโรคประจำตัว/ไม่ทราบ
ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 คือ ใกล้ชิดสมาชิกครอบครัวที่ติดเชื้อ 11 ราย สัมผัสใกล้ชิดเพื่อน/เพื่อนร่วมงาน 4 ราย สัมผัสผู้ติดเชื้อในสถานบันเทิง 1 ราย สัมผัสผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่ติดเชื้อ 1 ราย สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อในตลาด 1 ราย ไม่ทราบประวัติเสี่ยง/สัมผัสผู้ติดเชื้อ 3 ราย
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ติดเชื้อตามพื้นที่และปัจจัยเสี่ยง ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-1พ.ค.2564 พบว่า ในกทม. พบผู้ติดเชื้อจากสถานบันเทิง 19 รายต่อวัน สะสม 1,877 ราย ตลาด ชุมชน ขนส่ง 31 รายต่อวัน สะสม 658 รายต่อวัน สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 250 รายต่อวัน สะสม 3,634 ราย ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ 439 รายต่อวัน สะสม 6,757 ราย รวม 739 รายต่อวัน สะสม 12,744 ราย
ส่วนปริมณฑล พบผู้ติดเชื้อจากสถานบันเทิง3 รายต่อวัน สะสม 635ราย ตลาด ชุมชน ขนส่ง 7 รายต่อวัน สะสม 224 รายต่อวัน สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 250 รายต่อวัน สะสม 3,333 ราย ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ 65 รายต่อวัน สะสม 1,629ราย รวม 325รายต่อวัน สะสม 5,821ราย
จังหวัดอื่นๆ พบผู้ติดเชื้อจากสถานบันเทิง 7 รายต่อวัน สะสม 2,899 ราย ตลาด ชุมชน ขนส่ง 30 รายต่อวัน สะสม 845 รายต่อวัน สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 525 รายต่อวัน สะสม 8,972 ราย ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ 258 รายต่อวัน สะสม 6,682ราย รวม 820รายต่อวัน สะสม 19,398 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เปิดวิธี 'จองสิทธิวัคซีนโควิด' ผ่านไลน์ 'หมอพร้อม' และข้อควรรู้!
โควิดคร่าชีวิต"น้าค่อม"ทำความรู้จัก 10 พืชผัก 'สมุนไพร' ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันต้านไวรัส
มาทำความรู้จัก โควิดระลอกใหม่ 'เชื้อดุ' กว่า ระลอกเก่า อย่างไร
- เวลาเปลี่ยน ความรู้เปลี่ยน "ป่วยโควิด-19"ต้องเฝ้าระวัง
จากข้อมูลข้างต้นสังเกตได้ชัดเจนว่า การแพร่ระบาดของ"โควิด-19" ระลอกใหม่นี้ ไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มเสี่ยง อย่าง กลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวเท่านั้น ที่เมื่อติดเชื้อแล้ว... จะเสียชีวิต เพราะคนกลุ่มอายุน้อย 20 -30 ปี อาจจะมีโรคประจำตัวหรือไม่มี ก็สามารถเสียชีวิตจาก"โควิด-19" ได้เช่นเดียวกัน แถมระยะเวลาในการติดเชื้อก่อนเสียชีวิตนั้น เรียกได้ว่ารวดเร็วมาก เนื่องจากบางคน หลังจากทราบผลเพียง 3 วัน เมื่อเชื้อไวรัสลงปอดส่งผลต่อระบบร่างกายอื่นๆ สู่สภาวะอวัยวะอื่นๆ ล้มเหลวหรือบางคนอาจจะเสียชีวิตก่อนที่จะทราบผลว่าตนเองเป็น"โควิด-19"
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในเฟสบุ๊คส่วนตัว yong.poovorawan ตอนหนึ่งว่า เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ความรู้ก็เปลี่ยน จึงมีความสำคัญในการติดตาม"โควิด-19" และ ปัจจุบันเป็นที่ทราบแน่ชัดแล้วว่า ทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรคร่วมกัน ในการลดการแพร่กระจายป้องกันเขา และป้องกันเรา
การแพร่กระจายของโรค"โควิด-19" แต่เดิมกล่าวว่าการแพร่กระจายจะเป็นทางฝอยละออง เพราะดูจากอำนาจการแพร่กระจายของโรค (R0) จะอยู่ที่ 2-3 ไม่ได้มากแบบโรคหัด (R0 = 15) แต่หลังจากมีการแพร่กระจายอย่างมากใน superspreading โดยเฉพาะในที่ปกปิด อากาศถ่ายเทไม่ดี รวมทั้ง หรือมีรายงานการระบาดในโบสถ์ที่มีการร้องเพลง ทำให้เข้าใจว่าการแพร่กระจายของโรค สามารถผ่านไปทางอากาศได้ (airborne) อย่าง ในสถานบันเทิง มาตรการในการป้องกันจึงจำเป็นที่จะต้องเข้มงวดแบบการแพร่กระจายในอากาศ ดังนั้นในอาคารจึงจำเป็นที่จะต้องสวมหน้ากากอนามัยเป็นอย่างยิ่ง
การกลายพันธุ์ ในระยะแรก ดูเหมือนว่าการกลายพันธุ์ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่ เมื่อไวรัสออกจากประเทศจีน เริ่มมีการกลายพันธุ์มาตลอด จะเห็นว่าสายพันธุ์ G แพร่กระจายได้รวดเร็วและกระจายไปทั่วโลก กลบสายพันธุ์อื่น ต่อมาพบว่ามีการกลายพันธุ์อีกหลายสายพันธุ์ ที่ทำให้แพร่กระจายได้รวดเร็วและหลบหลีกภูมิต้านทาน สายพันธุ์อังกฤษแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์ Gเดิม ซึ่งต่อไป ก็คงจะกระจายทั่วโลก และเพิ่มอัตราการติดโรคได้มากขึ้น ที่เห็นในประเทศไทย
- เป็นแล้วเป็นได้อีก ต้องดูแลตนเอง สวมหน้ากากตลอดเวลา
การเป็นแล้วเป็นได้อีก หลักฐานปัจจุบันค่อนข้างชัดแล้วว่าโรคนี้ เมื่อหายแล้วยังมีโอกาสเป็นได้อีกเมื่อภูมิต้านทานตกต่ำลง หรือไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม ดังนั้นในทำนองเดียวกันการให้วัคซีนเพื่อสร้างภูมิต้านทาน ประสิทธิภาพในการป้องกันจึงไม่ 100% เมื่อให้แล้วก็ยังเป็นโรคได้โดยมีความหวังที่จะให้ความรุนแรงของโรคลดลง
ภูมิคุ้มกันกลุ่ม ที่เคยคาดหวังไว้ จะได้ผลดี ก็ต่อเมื่อโรคนั้นเป็นแล้วโอกาสกลับเป็นซ้ำน้อยมาก เช่น โรคหัด สุกใส แต่สำหรับ"โควิด-19"ความหวังของภูมิคุ้มกันกลุ่ม อาจจะต้องมากกว่าที่คิด เพราะให้วัคซีนแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่ติดเชื้อและแพร่กระจายโรคได้ แต่อาการน้อยลง อัตราในการให้วัคซีนอาจจะต้องมากกว่าตัวเลขที่คำนวณตาม R0
ดังนั้น ความรู้ในปัจจุบันนี้ ณ ขณะนี้ ก็ถูกต้องสำหรับขณะนี้ แต่ในวันข้างหน้าเมื่อมีองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาก็อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม วิกฤต"โควิด-19" ระลอกใหม่นี้ มีความอันตราย และเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคนอย่างมาก ดูได้จากปัจจัยเสี่ยงติดโรคที่ส่วนใหญ่ ล้วนติดจากคนใกล้ตัว คนในครอบครัว ญาติ เพื่อน เพื่อนร่วมงาน
ดังนั้น สิ่งที่ทุกคนจะช่วยกัน และทำได้ดีที่สุด ณ ขณะนี้ คือ การดูแลสุขภาพของตนเอง ปฎิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง งดกิจกรรมเสี่ยง อย่าชะล้าใจ และอย่ากระทำเพียงความสนุกสนานชั่วครั้งคราว เพื่อร่วมด้วยช่วยกันป้องกันตนเอง คนในครอบครัว และสังคมให้ห่างไกลจากโควิด -19