แนวทางรักษาโควิด 19 ยาแผนปัจจุบัน ควบคู่แผนไทย

แนวทางรักษาโควิด 19 ยาแผนปัจจุบัน ควบคู่แผนไทย

การระบาดของโควิดระลอกเดือนเมษายน ทำให้มีผูป่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่กทม. ปริมณฑล ซึ่งหมายถึงทรัพยากรสาธารณสุข ที่ต้องใช้มากขึ้นทั้งบุคลากร เตียง รพ. และยาซึ่งขณะนี้มีทั้งการใช้ยาแผนปัจจุบัน และยาแผนไทยฟ้า ทะลายโจรในผู้ป่วยอาการไม่หนัก ควบคู่กัน

ข้อมูลเมื่อวันที่ 26 เม.ย. กทม. มีเตียง 12,679 เตียง ผู้ป่วยครองเตียง 7,959 เตียง มีเตียงว่าง 4,720 เตียง ซึ่งเป็นเตียงของโรงพยาบาลภาครัฐทุกสังกัดและเอกชน กรมการแพทย์ จึงได้ปรับแนวทางดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ที่ไม่มีอาการและอาการน้อยเพื่อให้จัดการเตียงเพียงพอ

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้ออกประกาศ เรื่อง คำแนะนำในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 สำหรับสถานพยาบาล ใจความว่า กรมการแพทย์ ออกประกาศ ปรับแนวทางดูแลผู้ป่วยโรคโควิด 19 เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเตียงได้อย่างเพียงพอ ได้แก่

  • คำแนะนำในการดูแลรักษา ผู้ป่วยอาการไม่หนัก

1. ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ไม่มีอาการ ให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือสถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 วัน นับจากวันแรกที่ตรวจพบเชื้อ และให้กลับไปพักฟื้นที่บ้านต่ออีก 14 วัน

2. ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการน้อย ให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 วัน นับจากวันที่มีอาการ เมื่อครบกำหนดแล้วหากยังมีอาการ ให้อยู่รักษาต่อเนื่องในโรงพยาบาล หรือ สถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ จนไม่มีอาการเป็นระยะเวลา 24-48 ชั่วโมง และให้กลับไปพักที่บ้านต่ออีก 14 วัน

ทั้งนี้ระหว่างพักฟื้นที่บ้าน ให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามตำแนะนำที่ได้รับก่อนกลับบ้านอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ให้โรงพยาบาลมีระบบติดตามอาการเพื่อ ให้เกิดความมั่นใจและปลอดภัยต่อผู้ป่วย รวมถึงผู้ใกล้ชิดเป็นระยะ ๆ ทุกวันจนครบกำหนด หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ผู้ป่วยสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่หรือโรงพยาบาลได้ตลอด 24 ชั่วโมง

หากย้อนไปดูแนวทางการรักษาโควิด 19 ที่ออกมาก่อนหน้านี้ในวันที่ 17 เมษายน 2564 ในผู้ป่วย 2 กลุ่ม ดังกล่าว จะพบว่า 

1. ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ไม่มีอาการ มีคำแนะนำให้นอนโรงพยาบาล หรือในสถานที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ และให้ออกจากโรงพยาบาลได้ หากมีอาการปรากฏขึ้นมาให้ตรวจวินิจฉัยและรักษาตามสาเหตุ ให้ดูแลรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เองและอาจได้รับผลข้างเคียงจากยา

2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ ภาพถ่ายรังสีปอดปกติ ให้ดูแลรักษาตามอาการ ส่วนมากหายได้เอง แนะนำให้นอนโรงพยาบาล หรือในสถานที่รัฐจัดให้ อย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการ หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น ไม่มีไข้หรือไม่มีอาการอื่น ๆ ของโรคแล้วอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง พิจารณาจำหน่ายผู้ป่วยได้ พิจารณาให้ฟาวิพิราเวีร์ (ตามดุลยพินิจของแพทย์)

  • การส่งต่อผู้ป่วยอาการรุนแรง

หากมีอาการหนัก มีความจำเป็นเป็นโรคซับซ้อน จำเป็นต้องส่งต่อไปยัง รพ.ที่มีแพทย์เชี่ยวชาญ กรมการแพทย์ ได้แบ่ง กลุ่มเขตพื้นที่รับผิดชอบกรุงเทพฯ ออกเป็น 7 โซน ได้แก่ 1. รพ.พระมงกุฎเกล้าและรพ.ราชวิถี เป็นหัวหน้าโซน โดยจะช่วยดู รพ.เล็ก เป็นกลุ่มเครือข่ายในโซนนั้นๆ 2. รพ.จุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นโซนใต้ 3.โซนเหนือ เป็นรพ.ธรรมศาสตร์ และรพ.ภูมิพล 4. โซนตะวันออก รพ.รามาธิบดี 5. โซน รพ.ศิริราช 6. โซน รพ.วชิรพยาบาล โดยทั้ง 6 โซนมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลประชาชนได้ดีที่สุด และ 7 โซนของภาคเอกชนจะมีรพ.เครือใหญ่ มีระบบดูแลในเครือกันเอง หากมีความจำเป็นต้องข้ามโซนก็จะประสานมาศูนย์บริหารจัดการที่ รพ.ราชวิถี

 

  • การใช้ "ยารักษาโควิด 19"

ขณะที่ การใช้ยารักษาโควิด 19 ข้อมูล ณ วันที่ 17 เมษายน 2564) มียาแผนปัจจุบันที่สำคัญทั้งหมด 4 ตัว ได้แก่ “ฟาวิพิราเวียร์” (Favipiravir) (200 mg/tab) โดยผู้ใหญ่ วันที่ 1: 1800 mg (9 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง วันต่อมา: 800 mg (4 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง ถ้าน้ำหนักตัว >90 กิโลกรัม วันที่ 1: 2,400 mg (12 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง วันต่อมา: 1,000 mg (5 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง สำหรับเด็ก วันที่ 1: 60 mg/kg/day วันละ 2 ครั้ง วันต่อมา: 20 mg/kg/day วันละ 2 ครั้ง

“โลปินาเวียร์/ริโทนาเวียร์” (Lopinavir/ritonavir) (LPV/r) ผู้ใหญ่ เม็ด 200/50 mg/tab, น้ำ80/20 mg/mL 2 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมง เด็กอายุ 2 สัปดาห์-1 ปี300/75 mg/m2/dose วันละ 2 ครั้ง อายุ 1-18 ปี 230/57.5 mg/m2/dose วันละ 2 ครั้ง โดยขนาดยาชนิดเม็ดตามน้ำหนักตัว ได้แก่ 15-25 กิโลกรัม 200/50 mg วันละ 2 ครั้ง , 25-35 กิโลกรัม 300/75 mg วันละ 2 ครั้ง และ 35 กิโลกรัมขึ้นไป 400/100 mg วันละ 2 ครั้ง

“เรมเดซิเวียร์” (Remdesivir) ผู้ใหญ่ วันที่ 1: 200 mg IV วันที่ 2-5: 100 mg IV วันละครั้ง ในส่วนของ เด็ก วันที่ 1: 5 mg/kg IV วันละครั้ง วันต่อมา : 2.5 mg/kg IV วันละครั้ง

“คอร์ติโคสเตียรอยด์” (Corticosteroid) ผู้ใหญ่ ให้ 7-10 วัน เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) 6 mg วันละครั้งหรือ ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) 160 mg ต่อวัน หรือ เพรดนิโซโลน (Prednisolone) 40 mg ต่อวัน หรือ เมทิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone) 32 mg ต่อวัน ส่วนเด็ก ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

  • ฟ้าทะลายโจร รักษาผู้ป่วยอาการไม่หนัก

ในส่วนของการนำสมุนไพรไทย “ฟ้าทะลายโจร” เป็นอีกทางเลือกที่ได้รับการยอมรับและนำไปรักษาควบคู่กับแพทย์แผนปัจจุบัน ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ทางกรมกาแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ร่วมมือกับ 9 โรงพยาบาลของรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ศึกษาวิจัย โดยได้จ่ายยาฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วย โควิด–19 ที่มีอาการรุนแรงน้อย ร่วมกับการรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบัน จำนวน 309 ราย พบว่า ผู้ป่วย 306 ราย อาการดีขึ้นชัดเจน จนสามารถออกจาก รพ. ได้ ส่วนอีก 3 ราย เป็นกลุ่มที่มีอาการแย่ลง มีภาวะปอดบวม คิดเป็นผู้ป่วยอาการแย่ลง 0.97% แต่ที่สุดก็รักษาหาย ไม่มีใครเสียชีวิต

ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับฟ้าทะลายโจร เป็นกลุ่มผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงเช่นกัน จำนวน 526 ราย มี 77 ราย ที่เกิดอาการแย่ลง มีภาวะปอดบวมคิดเป็น 14.64% ดังนั้น ฟ้าทะลายโจรมีแนวโน้มและโอกาสในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ระยะเบื้องต้น และยังไม่มีข้อมูลใดที่บ่งชี้ว่าไม่ได้ผล ในทางกลับกันข้อมูลในห้องปฏิบัติการ การศึกษาในระดับเซลล์ และในต่างประเทศ ล้วนสนับสนุนว่า ฟ้าทะลายโจรมีประโยชน์ในการรักษาโควิด 19 และเชื้อไวรัสอื่นๆ ด้วย

ในการศึกษาวิจัย ในผู้ป่วยโควิด 19 ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย ที่มีอาการคล้ายไข้หวัด ให้รับประทานฟ้าทะลายโจรที่มีแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทาน 3 เวลาก่อนอาหาร ต่อเนื่อง 5 วัน เพื่อลดความรุนแรงและอาการแทรกซ้อนของโรค ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบฟ้าทะลายโจร 6 แสนแคปซูล สำหรับผู้ป่วย 15,000 ราย รวมถึง มหาวิทยาลัยรังสิต ยังได้มอบยาฟ้าทะลายโจรอีกกว่า 2 แสนเม็ดให้แก่ สธ. เพื่อใช้ในผู้ป่วยอาการไม่หนัก รพ.ทั่วประเทศ รวมถึง รพ.สนาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ไขข้อสงสัย 'ฟ้าทะลายโจร' รักษา - ป้องกัน 'โควิด-19' ได้หรือไม่

  • การดูแลตัวเองเมื่อรักษาหาย

แนวทางผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว กรมการแพทย์ แนะว่า

1. ไม่จำเป็นต้องกักตัวหรือแยกตัวจากผู้อื่นเพราะหายจากโรคแล้ว (ซึ่งต่างจากกรณีเป็นผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงหรือเพิ่งจะได้รับการวินิจฉัย บุคคลเหล่านี้ยังอยู่ในระยะแพร่เชื้อ จึงต้องกักตัวหรือแยกตัวจากผู้อื่น)

2. การดูแลสุขอนามัย ให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น

3. ล้างมือด้วยสบู่และนำเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังจากถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระหรือถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์

4. ไม่ใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารและแก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น

5. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่สุก สะอาด และมีประโยชน์ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ

6. หากมีอาการป่วยเกิดขึ้นใหม่หรืออาการเดิมมากขึ้น เช่น ไข้สูง ไอมาก เหนื่อย แน่นหน้าอก หอบ หายใจไม่สะดวก เบื่ออาหาร ให้ติดต่อสถานพยาบาล หากต้องเดินทางมาสถานพยาบาล แนะนำให้สวมหน้ากากระหว่างเดินทางตลอดเวลา

หากมีข้อสงสัยใด ๆ สอบถามได้ที่โรงพยาบาลที่ท่านไปรับการรักษา หรือสายด่วนโทร. 1422 หรือ 1668