ประสิทธิภาพ 'วัคซีนป้องกันโควิด-19'

ประสิทธิภาพ 'วัคซีนป้องกันโควิด-19'

เปิดงานวิจัย เปรียบเทียบประสิทธิภาพ "วัคซีนป้องกันโควิด-19" แต่ละบริษัท ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า โมเดอร์นา ไฟเซอร์ ซิโนแวค เป็นอย่างไรบ้าง? ช่วยลดความเสี่ยงกรติดเชื้อโควิด-19 ได้แค่ไหน?

แม้ว่าจะมีความพยายามซื้อวัคซีนชนิดต่างๆ มาให้คนไทยใช้ในการป้องกันโควิด-19 แต่วัคซีนหลักสำหรับคนไทยก็คงจะต้องเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า-ออกซ์ฟอร์ด เพราะได้สั่งซื้อล่วงหน้ามากกว่า 60 ล้านโดส ดังนั้น หลายคนคงจะได้เห็นตารางข้างล่างที่สำนักข่าวบีบีซีได้รวบรวมการประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดต่างๆ ไปแล้ว

ซึ่งพอจะสรุปได้ว่าวัคซีนหลักที่จะเป็นทางเลือกให้กับคนไทยนั้นจะมีประสิทธิภาพประมาณ 62-90% ซึ่งอาจมีประสิทธิภาพต่ำกว่าประเภทอื่นๆ เช่น วัคซีนโมเดอร์นา หรือไฟเซอร์บ้าง แต่ราคาถูกกว่ามากและเก็บรักษาได้ง่ายดายกว่า ทั้งนี้ สำหรับวัคซีนของไฟเซอร์นั้น รัฐบาลไทยประกาศว่าจะนำเข้ามาให้ฉีดสำหรับเด็ก (อายุ 12 ปีขึ้นไป)

1620061071100

ล่าสุดนั้นมีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร The Lanect เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2564 เปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทค กับแอสตร้าฯ โดยอาศัยข้อมูลการฉีดวัคซีนดังกล่าวให้กับชาวสกอตแลนด์ 1.33 ล้านคนในช่วง 8 ธ.ค.2563 ถึง 22 ก.พ.2564 (ฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็วมากแม้จะเป็นฤดูหนาวของสกอตแลนด์)

โดยประเมินผลออกมาว่า 1.โดสแรกของวัคซีนไฟเซอร์ลดการป่วยเข้าโรงพยาบาลจากโควิด-19 ได้เท่ากับ 91% โดยติดตามตัวเลขผู้ป่วย 28-34 วันหลังการฉีดวัคซีน 2.สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้น ประสิทธิภาพป้องกันการป่วยเข้าโรงพยาบาลเท่ากับ 88%

ประเทศอิสราเอลเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนหลายประเภทและฉีดได้อย่างทั่วถึงอย่างรวดเร็วมาก (ปัจจุบันฉีดให้ประชาชนครบเกือบทุกคนแล้ว) ซึ่งมีข้อมูลจากการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับบุคลากรด้านการแพทย์ที่ Sheba Medical Center เกือบ 10,000 คน ว่าการฉีดโดสแรกช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้สูงถึง 85%

เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2564 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่าวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโควิด-19 ได้ 80% สองสัปดาห์หลังการฉีดวัคซีนเข็มแรกและเมื่อฉีดเข็มที่ 2 แล้วความเสี่ยงที่จะเป็นโควิด-19 ก็จะลดลงไปอีกเป็น 90% สองสัปดาห์หลังจากการฉีด ทั้งนี้โดยอาศัยข้อมูลจากการฉีดวัคซีนดังกล่าวให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของสหรัฐ 4,000 คน ซึ่งมีผลใกล้เคียงกับงานวิจัยก่อนหน้าเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสอง

สำหรับวัคซีนอีกประเภทหนึ่งที่ประเทศไทยกำลังนำมาใช้คือ ซิโนแวค ซึ่งเป็นวัคซีนหลักที่ได้ถูกนำไปใช้ที่ประเทศบราซิลและชิลี โดยในกรณีของชิลีนั้นได้มีรายงานข่าวจาก South China Morning Post เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2564 (Chile COVID-19 vaccination drive adds to Sinovac efficacy data) โดยมีข้อสรุปว่าวัคซีนซิโนแวคนั้นให้ความคุ้มครองจากโควิด-19 สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนดังกล่าวประมาณ 56.5% สองสัปดาห์หลังการฉีดวัคซีนดังกล่าวครบ 2 โดส ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ใกล้เคียงกับที่พบในประเทศบราซิลที่วัคซีนซิโนแวคให้การคุ้มครองจากโควิด-19 ประมาณ 50%

กรณีของชิลีนั้นน่าจะเป็นกรณีศึกษาที่เป็นประโยชน์ เพราะได้มีการฉีดวัคซีนดังกล่าวให้กับประชากรไปแล้วถึง 7.2 ล้านคน โดย 4.3 ล้านคนได้รับการฉีดโดสที่สองไปแล้ว ทั้งนี้จากประชากรที่ประเทศชิลีทั้งหมดเกือบ 19 ล้านคน แต่ปรากฏว่าการระบาดของโควิด-19 ในประเทศชิลีก็ยังมีความรุนแรงอยู่มาก กล่าวคือเมื่อวันที่ 8 เม.ย.2564 ก็มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 8,195 คนและมีผู้เสียชีวิต 183 คน ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 23,979 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมากสำหรับประเทศที่มีประชากรไม่ถึง 1 ใน 3 ของประชากรของประเทศไทย

แต่ที่ผมมีข้อสังเกตคือ ประเทศชิลีมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละกว่า 8,000 คนติดต่อกันมานานหลายวันแล้ว แต่ระยะหลังนี้จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันยังไม่สูงมาก (เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ที่ติดเชื้อ) ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีน กล่าวคือแม้ว่าวัคซีนอาจจะไม่ได้ช่วยป้องกันการเป็นโควิด-19 แต่วัคซีนช่วยให้อาการป่วยไม่รุนแรงและรอดชีวิตได้มากกว่ากรณีที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย

อย่างไรก็ดี งานวิจัยของ University of Chile สรุปว่าการฉีดวัคซีนซิโนแวคโดสแรกนั้นให้ความคุ้มครองจากการติดโควิด-19 เพียง 3% เท่านั้น ทั้งนี้ความคุ้มครองจะเพิ่มขึ้นเป็น 27.7% สองสัปดาห์หลังจากการได้รับการฉีดโดสที่สอง และความคุ้มครองจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 56.5% ในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา

งานวิจัยเกี่ยวกับซิโนแวคที่ประเทศบราซิล โดยอาศัยการฉีดวัคซีนดังกล่าวให้กับบุคลากรทางการแพทย์ประมาณ 22,000 คนในช่วง ม.ค.-ก.พ.2564 พบว่าวัคซีนดังกล่าวให้ผลในการคุ้มครองจากการติดโควิด-19 ประมาณ 50.7% สองสัปดาห์หลังการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 และความคุ้มครองเพิ่มขึ้นเป็น 51.8% สามสัปดาห์หลังการฉีดโดสที่ 2

แต่มีประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือ ที่บราซิลนั้นมีการระบาดอย่างหนักของโควิด-19 สายพันธุ์บราซิล (สายพันธุ์ P1) ซึ่งพบว่ามีสัดส่วนสูงถึง 64% ของโควิด-19 ที่พบทั้งหมด น่าจะทำให้วัคซีนอื่นๆ เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และแอสตร้าฯ มีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 จากสายพันธุ์ดังกล่าวครับ