เตรียมตั้งรพ.สนามรองรับผู้ป่วยโควิด19กลุ่มสีเหลือง
ตั้ง"ศูนย์แก้ไขโควิด-19 กรุงเทพฯและปริมณฑล"เป็นการเฉพาะ นายกฯเป็นผอ.จัดการปัญหาระบาดในพื้นที่ ลุยค้นหาเชิงรุก 50 เขต เตรียมตั้งรพ.สนามรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง ประกาศระดม"บุคลากรทางการแพทย์จิตอาสา"เข้าช่วยดูแลผู้ป่วย
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 3 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ในการแถลงสถานการณ์โควิด 19 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,763 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,750 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 13 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 27 ราย รักษาหานเพิ่ม 1,490 ราย เฉพาะระลอกเดือน เม.ย. ติดเชื้อสะสม 43,925 ราย เสียชีวิตสะสม 209 ราย ผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด 72,788 ราย และเสียชีวิตสะสม 303 ราย กำลังรักษาตัว 30,011ราย อาการหนัก 1,009 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 311 ราย คิดเป็น 30%ของผู้ป่วยอาการหนักกระจายอยู่ใน 49 จังหวัด
เสียชีวิตส่วนใหญ่ติดในครอบครัว
ผู้เสียชีวิต 27 ราย แบ่งเป็นเพศชาย 21 ราย เพศหญิง 6 ราย อายุเฉลี่ย 25-92 ปี พบใน กรุงเทพมหานคร(กทม.) 8 ราย นนทบุรี 5 ราย ลำพูน 2 ราย สมุทรปราการ 2 ราย และชลบุรี อุบลราชธานี ปทุมธานี นครปฐม บุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กำแพงเพชร ชัยนาท น่าน จังหวัดละ 1 ราย โดยโรคประจำตัว แบ่งเป็น ความดันโสหิตสูง 12 ราย เบาหวาน 9 ราย โรคหัวใจ 6 ราย ไขมันในเลือดสูง 3 ราย ไทรอยด์ 1 ราย ผู้ป่วยติดเตียง 1 ราย โรคอ้วน 5 ราย มะเร็ง 2 ราย โรคปอดเรื้อรัง 2 ราย โรคไตเรื้อรัง 6 ราย และปฏิเสธโรคประจำตัว 5 ราย ขณะที่ประวัติเสี่ยง แบ่งเป็น ใกล้ชิดคนในครอบครัวที่ติดเชื้อ 9 ราย ใกล้ชิดเพื่อน/เพื่อนร่วมงาน 2 ราย สัมผัสผู้ติดเชื้อ 9 ราย พนักงานสถานบันเทิง 1 ราย สถานที่เสี่ยง/ตลาด 4 ราย และไม่ทราบอีก 2 ราย
10จ.ผู้ติดเชื้อใหม่สูงสุด
จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10 จังหวัด ได้แก่ กทม. 562 ราย สมุทรปราการ 201 ราย นนทบุรี 168 ราย ชลบุรี 91 ราย สมุทรสาคร 55 ราย นครปฐม 50 ราย เชียงใหม่ 41 ราย กระบี่ 38 ราย ระนอง 37 ราย และสุราษฎรานี 35 ราย อย่างไรก็ตาม แผนที่ประเทศไทย สัปดาห์ที่ 18 ระหว่างวันที่ 2-4 พ.ค. พบว่า มีพื้นที่ที่เปลี่ยนจากสีแดงมาเป็นสีเหลืองมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเชื้อแพร่ไป 77 จังหวัดทั่วประเทศ จึงขอให้ทุกจังหวัดการ์ดไม่ตก แต่หากมองความชุกจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากกว่า 100 รายจะมี 3 จังหวัด ซึ่งจะต้องนำข้อมูลมาบริหารจัดการ จำกัดเฉพาะที่ให้ยาเฉพาะจุด และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว
มุ่งจัดการพื้นที่กทม.ปริมณฑล
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า หากพิจารณาข้อมูลย้อนหลังช่วงตั้งแต่ 28เม.ย.-4พ.ค.2564 พบว่า เกือบทุกวันจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ของกรุงเทพฯและปริมณฑลจะมากกว่าอีก 73 จังหวัดร่วมกัน โดยวันที่ 4 พ.ค. กรุงเทพและปริมณฑล 956 ราย และ73จังหวัดรวมกัน 794 ราย เพราะฉะนั้น ถ้าจัดการกรุงเทพฯและปริมณฑลได้เท่ากับทำงานได้เกินครึ่งของประเทศ ดังนั้น การโฟกัสจะอยู่ที่เขตต่างๆ
ยกตัวอย่าง ชุมชนบ่อนไก่ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน พบว่า มีผู้ติดเชื้อแล้ว 162 ราย แยกเป็นที่อยู่อาศัยแหล่งอื่น เช่น บ้าน คอนโด หอพัก 66 ราย และอาศัยในชุมชน 96 รายพบใน 6 ชุมชน คือ ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ 61 ราย ชุมชนเคหะบ่อนไก่ 14 ราย ชุมชนโปโล 10 ราย ชุมชนพระเจน 8 ราย ชุมชนร่วมฤดี 2 ราย และชุมชนกุหลาบแดง 1 ราย ซึ่งกำลังจะมีการ ดำเนินการเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อแยกคนติดเชื้อออกจากชุมชน เพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่เหมาะสม โดยจะมีการค้นหาเชิงรุกในชุมชน วันละ 1,000 ราย
ชุมชนแขวงสี่แยกมหานาคเขตดุสิต พบผู้ติดเชื้อแล้ว 80 ราย กระจายตัวในหลายชุมชนมคือ ชุมชนวัดญวนคลองลำปัก ชุมชนหลังบ้านมนังคศิลาและชุมชนทางรถไฟแปดริ้ว โดยต้นต้นตอมี 3 จุดเริ่มต้นคือไปผับรัชดาเมื่อช่วงต้นเมษายน ไปผับแถวพระราม 2 และเที่ยวแพเมืองกาญจน์ จะมีการตรวจเชิงรุก แยกพูดเสี่ยงสูงและกักตัวที่บ้าน จึงขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือเพราะต้องใช้เวลาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มก้อนโรงงานสมุทรปราการติดเชื้อ 46%
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีกลุ่มก้อน โรงงานแห่งหนึ่งในอำเภอพระสมุทรเจดีย์จังหวัดสมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อสะสม 160 รายเ ริ่มต้นมาจากพนักงานชาวเมียนมาร์ที่มีอาการป่วยเริ่ม 17 เมษายน ไปทำงานทำให้ติดเพื่อนร่วมงานอีก 2 คน และขยายวงต่อไป เมื่อมีการขยายวงตรวจไปยังพนักงานและญาติจำนวน 309 รายพบติดเชื้อ 128 รายและชุมชนเชื่อมโยงกับโรงงาน ตรวจ 47 คนพบติดเชื้อ 9 คน โดยในโรงงานแห่งนี้มีพนักงานทั้งสิ้น 323 ราย ติดเชื้อ 151 ราย คิดเป็น 46.8% ซึ่งยังต้องดำเนินการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในพื้นที่ต่อไป
ตั้งศูนย์เฉพาะแก้ไขโควิด19กทม.ปริมณฑล
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ในการประชุมศบค.นัดพิเศษซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้หน่วยงานต่างๆเกี่ยวข้องกับกรุงเทพฯและปริมณฑลมาหารือร่วมกัน ซึ่งมีการสรุปใน 2 ประเด็น คือ 1.จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพฯและปริมณฑลโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการศูนย์ และ2. มีการแบ่งโครงสร้างศูนย์ในกทม.เป็นระดับเขตที่มี 50 เขต โดยจะมีศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ระดับเขตมีผู้อำนวยการเขตเป็นผอ.ศูนย์ควบคุมฯ โดยจะแบ่งปฏิบัติการเป็นฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายค้นหาเชิงรุก ฝ่ายดูแลผู้ติดเชื้อและผู้ป่วย และการให้วัคซีนเป็นต้น ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าประชากรในกทม.รวมประชากรแฝงจะมีประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งการทำงานระดับเขตทั้ง 50 เขตจะลงไปพร้อมๆกัน โดยจะต้องมีการค้นหาเชิงรุกโดยเร็ว และมีแผนต่างๆออกมารองรับโดยเร็ว
ตั้งรพ.สนามดูแลผู้ป่วยสีเหลือง
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า เมื่อมีการค้นหาเชิงรุกแล้ว จะมีการคัดกรองผู้ติดเชื้อตามอาการและปัจจัยเสี่ยงเป็นสีเขียว เหลือง และแดง โดยในกลุ่มสีเขียวสามารถส่งต่อเข้ารับการรักษาที่รพ.สนามได้ แต่บางส่วนเมื่อรักษาระยะหนึ่งแล้วอาจกลายเป็นสีเหลือง ซึ่งจะทำให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกไปรับการรักษาได้ยาก เพราะเตียงในรพ.เริ่มเต็ม จึงมีแนวคิดที่จะตั้งรพ.สนาม รองรับให้การดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง โดยจะมีการจัดอุปกรณ์ต่างๆเพียงพอในการดูแล แต่ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์นั้น จะต้องมีจิตอาสาเข้ามาช่วยกัน
ระดมบุคลากรการแพทย์จิตอาสา
"ดังนั้น กรุงเทพมหานครและกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ขอความร่วมมมือบุคลากรทางการแพทย์ที่พอจะจัดสรรเวลาของตนเองได้ แสดงเจตจำนงเข้าเป็นบุคลากรทางการแพทย์จิตอาสา ผ่านไลน์ @thaimedvolunteer เพื่อเตรียมพร้อมเข้าดูแลผู้ป่วยในกลุ่มต่างๆในอนาคต"นพ.ทวีศิลป์กล่าว