ว่าด้วย ‘CPTPP’ อย่าปล่อยให้ ‘เมล็ดพันธุ์พืช’ ถูกผูกขาดทางการค้า
หาก 'เมล็ดพันธุ์พืช' ถูกผูกขาดทางการค้า จะมีผลกระทบต่ออนาคตเกษตรกรไทย เนื่องจาก 'CPTPP' (หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) กำลังอยู่ในวาระที่รัฐพิจารณา ในช่วงสถานการณ์โควิดระบาดระลอก 3
"การเข้าร่วม CPTPP เกษตรกรรายย่อย และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมของไทย จะได้รับผลกระทบอย่างมากและกว้างขวาง จากการเปิดตลาดเสรีสินค้าเกษตร และการลิดรอนสิทธิในการใช้พืชพันธุ์การค้า การเข้าร่วมข้อตกลงการค้าดังกล่าว คือ การเอาชีวิตของเกษตรกรรายย่อยไปแลกกับผลประโยชน์ที่บางภาคธุรกิจจะได้ประโยชน์นั่นเอง
พันธุ์พืชที่หลากหลายเกิดขึ้นจากวิถีปลูกต่อ และการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์พืชดีของเกษตรกร อนุสัญญา UPOV จะสกัดกั้นไม่ให้เกษตรกรได้เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อ หรือสร้างอุปสรรคในการคัดเลือกสายพันธุ์ทำให้เกิดผลกระทบแน่นอน เพราะเมล็ดดีต่างๆ ที่ผู้บริโภคเข้าถึงในปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากฝีมือของเกษตรกร"
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (Biothai) กล่าวถึงเงื่อนไขการเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรี CPTPP จะทำให้เมล็ดพันธุ์พืชของไทยถูกผูกขาดทางการค้า
CPTPP คืออะไร
CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพิ้นแปซิฟิก ที่ครอบคลุมเรื่องการค้า, การบริการ, การลงทุน เพื่อสร้างมาตรฐานและมีกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา, มาตรฐานแรงงาน, กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ
เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 2006 ชื่อเดิมว่า TPP (Trans-Pacific Partnership) มีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ แต่หลังจากสหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกไปเมื่อต้นปี 2017 ประเทศสมาชิกที่เหลือตัดสินใจเดินหน้าต่อในชื่อใหม่ว่า CPTPP (ปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม)
เดือนกุมภาพันธ์ 2563 คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้ความเห็นชอบที่จะนำไทยเข้าเป็นประเทศหนึ่งในข้อตกลง CPTPP โดยอ้างว่าไทยจะได้มากกว่าเสีย
ไทยอยู่ในขั้นตอนไหน
การเข้าร่วม CPTPP ในปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญมึ พิจารณาข้อตกลง CPTPP เพื่อนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร หลังจากนั้นเสนอ ครม. พิจารณา มีทั้งหมด 12 ขั้นตอน ผ่านไปแล้ว 3 ขั้นตอน ได้แก่
1)ศึกษาผลประโยชน์ ผลกระทบของความตกลง CPTPP 2)รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน และ 3)รวบรวมความเห็นและผลการศึกษา กำลังจะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 4 เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาว่าจะให้ไทยไปเจรจาเข้าร่วมหรือไม่ แต่มีการคัดค้านเกิดขึ้น รัฐบาลจึงตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาการเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP
4) หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ก็จะนำไปสู่ 5) ยื่นหนังสือต่อนิวซีแลนด์ ในฐานะประเทศผู้รักษาความตกลงฯ เพื่อขอเจรจาเข้าร่วม 6) คณะกรรมาธิการสมาชิก CPTPP 11 ประเทศ จะพิจารณาและเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงาน CPTPP เพื่อเจรจากับไทย ซึ่งมีการประชุมปีละ 1 ครั้ง
7) การเจรจา มีทั้งข้อผูกพันและการต่อรองขอข้อยกเว้นและความยืดหยุ่น รวมถึงระยะวลาปรับตัวที่เหมาะสม 8) คณะทำงาน CPTPP เสนอคณะกรรมาธิการสมาชิก CPTPP เห็นชอบผลการเจรจา 9) เสนอผลการเจรจา ถ้า ครม. เห็นชอบจะเข้าสู่ 10) ถ้ารัฐสภาเห็นชอบ จะไปสู่ 11) ให้สัตยาบันความตกลง CPTPP 12) เข้าเป็นสมาชิกตามข้อตกลง CPTPP
ใครได้ ใครเสีย ?
ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เผยว่า หลังจากที่อเมริกาเข้าร่วม CPTPP กรรมสิทธิ์พืชพันธุ์ต่างๆ ก็ตกเป็นของ 4 บริษัทใหญ่ ทำให้ชาวอเมริกันเหลืออาหารที่รับประทานได้เพียงผัก 12 ชนิด และเนื้อสัตว์ 5 สายพันธุ์เท่านั้น
หากประเทศไทยตกลงเข้าร่วม CPTPP มีแนวโน้มว่าจะต้องเผชิญกับการแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากแคนาดา จะเข้ามาตีตลาดไทย นอกจากนี้ CPTPP ยังมีข้อบัญญัติให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV (International Union for the Protection of New Varieties of Plants) ที่เปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถนำพันธุ์พืชพื้นเมืองไปทำการวิจัย เพื่อสร้างพันธุ์พืชใหม่ แล้วจดสิทธิบัตรได้ จะส่งผลเสียต่อเกษตรกรไทยโดยตรง เมื่อนำพันธุ์พืชใหม่มาปลูก ก็ไม่สามารถเก็บเมล็ดไปปลูกต่อได้ ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่เท่านั้น ทำให้ต้นทุนการเกษตรสูงขึ้น
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธาน FTA Watch เปิดเผยว่า ทางสภาเภสัชกรรมได้ทำข้อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ว่า ขอให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)
รัฐบาลควรมีกรอบการเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว ซึ่งหากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง
ล่าสุด เฟซบุ๊ค FTA Watch ให้ข้อมูลว่า "วาระลับเข้าคณะรัฐมนตรีวันนี้ (วันที่ 5 พฤษภาคม 2564) คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) แค่แจ้งครม.ทราบ ขอขยายเวลาศึกษา 50 วัน แต่ถือว่าผ่านความเห็นชอบแล้ว ฉะนั้นนายกรัฐมนตรีสามารถเซ็นหนังสือแสดงเจตจำนง (letter of intent) ได้เลย จะไม่มีการแถลงเป็นทางการอีกแล้ว...
"หากรัฐบาลเดินหน้าร่วมเจรจา CPTPP โดยใช้แค่ ‘ข้อสั่งการนายกฯ’ นั่นเท่ากับว่า การตั้งกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร เป็นเพียงหน้าฉากเพื่อสร้างความชอบธรรม ลดกระแสการต่อต้านจากประชาชน
ขณะที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าเข้าร่วมการเจรจา โดยไม่รอผลการศึกษาและความคิดเห็นของสภาฯ ข้อตกลง CPTPP ที่ต้องแก้กฎหมายไม่ต่ำกว่า 50 ฉบับ ก็จะผูกพันไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน" กรรณิการ์ เล่า
ผลกระทบต่อพันธุ์พืช
ส่วน วิฑูรย์ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวต่อว่า แค่ผลกระทบเรื่องของพันธุ์พืชอย่างเดียวก็มีถึง 7 ประเด็นแล้ว อยากยกตัวอย่างแค่ 2 ประเด็น
1) จะสูญเสียประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ ในกรณีที่มีการใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์พืชดังกล่าวในการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า หมายถึง การเปิดโอกาสให้โจรสลัดชีวภาพเข้ามาแย่งยึดทรัพยากรชีวภาพ
2) การให้ความคุ้มครองแก่ EDV (Essentially derived variety) จะส่งผลกระทบต่อการคัดเลือก และพัฒนาพันธุ์พืชของเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่น โดยไม่สามารถทำตามวิถีของเกษตรกรดั้งเดิมในการคัดเลือกเก็บพันธุ์ใหม่จากแปลงมาปลูกได้
แค่ 2 ประเด็นนี้ วิฑูรย์ ชี้ให้เห็นว่า จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อฐานทรัพยากรพันธุกรรมของประเทศ และการพัฒนาสายพันธุ์ของเกษตรกรและชุมชน และยังมีปัญหาอื่นๆ เช่น การเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ การขยายอำนาจของบริษัทเมล็ดพันธุ์ครอบคลุมถึงผลผลิต (harvested material) และผลิตภัณฑ์ (products) ซึ่งนอกจากจะทำให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาแพงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนายาจากสมุนไพร
"นี่คือเหตุผล ที่แม้แต่หน่วยงานราชการ 4 แห่ง หากรวมกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกด้วยจะกลายเป็น 5 แห่ง ที่เห็นว่าประเทศไทยขาดความพร้อมในการเข้าร่วมความตกลงนี้
ในขณะที่โลกกำลังอยู่ในห้วงเวลาของการทบทวนยุทธศาสตร์การค้าและการพัฒนา อันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด สหประชาชาติกำลังดำเนินการจัดประชุมสุดยอดว่าด้วยระบบอาหารโลก (World Food Summit 2021) ในปีนี้
รัฐบาลควรระงับการเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้านี้ แล้วหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางอาหาร พัฒนาและใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรชีวภาพ ทั้งในส่วนการวิจัยสาธารณะ และการเสริมสร้างศักยภาพของเกษตรกรรายย่อย ตลอดจนวิสาหกิจท้องถิ่น ดังข้อเสนอเกี่ยวกับด้านเกษตรกรรมและพันธุ์พืชของสภาฯ" วิฑูรย์ กล่าว