'ผลอนามัยโพล' ชี้คนไทยอยาก'ฉีดวัคซีน'เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 56.5
"ผลอนามัยโพล" เผยการติดเชื้อและเสียชีวิตโควิด-19 เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประชาชนต้องการ"ฉีดวัคซีน" เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 56.5 แนะวิธีการเตรียมตัวเมื่อไปฉีดวัคซีน ปฏิบัติตนตามมาตรการ DMHTTA และประเมินความเสี่ยงผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย”
จากการสำรวจ "ผลอนามัยโพล" เมื่อช่วงวันที่ 14 เม.ย.ถึง 2 พ.ค.2564 มีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 11,093 คน ต่อประเด็นเรื่อง ความกังวลและความรู้สึกต่อการ "ฉีดวัคซีน" โควิด-19 พบว่าในภาพรวมประชาชนมีความกังวลใจเพิ่มขึ้น ตามช่วงเวลาที่มีจำนวนผู้ป่วยและจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
- คนไทยต้องการ "ฉีดวัคซีน" เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.5
หลังวันที่ 23 เม.ย. 2564 ที่มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่า 2,000 ราย ส่งผลให้ประชาชนมีความกังวลถึงร้อยละ 97.8 และความรู้สึกอยากฉีดวัคซีนได้มีการเปลี่ยนแปลงความคิดตามสถานการณ์ ซึ่งพบแนวโน้มที่ต้องการ"ฉีดวัคซีน"เพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะในช่วงที่มีข่าว การเสียชีวิตของนักแสดงตลกชื่อดัง และมีจำนวนผู้เสียชีวิตเกิน 20 ราย ยิ่งเป็นความกังวลใจทำให้ประชาชนอยากฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 56.5
- 7 วิธีเตรียมตัวไป "ฉีดวัคซีน"
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับการเตรียมตัวไป "ฉีดวัคซีน"นั้น กระทรวงสาธารณสุขได้มี 7 ข้อแนะนำ ดังนี้
1) สองวันก่อนและหลังการฉีดวัคซีนให้งดออกกำลังกายหนัก หรือยกน้ำหนัก และ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
2) วันที่ฉีดควรกินน้ำอย่างน้อย 500-1,000 ซีซี งดชา กาแฟ หรือของที่มีคาเฟอีน รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
3) ฉีดแขนข้างที่ไม่ค่อยถนัด และหลังฉีดสองวันอย่าใช้แขนนั้น อย่าเกร็ง ยกของหนัก
4) หลังฉีดแล้วเจ้าหน้าที่จะให้รอดูอาการในบริเวณที่ฉีด 30 นาที
5) ถ้ามีไข้ หรือปวดเมื่อยมาก ทนไม่ไหว สามารถกินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละหนึ่งเม็ด ซ้ำได้ถ้าจำเป็น แต่ให้ห่าง 6 ชั่วโมง ห้ามกินยาพวก Brufen, Arcoxia, Celebrex เด็ดขาด
6) การฉีด "วัคซีนโควิด-19"โควิดควรห่างกับวัคซีนป้องกัน โรคไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 เดือน
7) ถ้ากินยาละลายลิ่มเลือดอยู่ ก็ให้กินยาตามปกติ แต่เมื่อฉีดยาแล้ว ให้กดนิ่งตรงตำแหน่งที่ฉีดต่ออีก 1 นาที
- ขอความร่วมมือประเมินความเสี่ยงตนเองผ่าน “ไทยเซฟไทย”
ขณะนี้แม้ว่าประชาชนจะมีความต้องการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือการป้องกันตัวเอง ตามมาตรการ DMHTTA ซึ่งจากข้อมูล "ผลอนามัยโพล"ล่าสุดพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีการสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่อไปในที่สาธารณะถึงร้อยละ 97.8
รองลงมาคือการตรวจวัดไข้ก่อนเข้าออกในสถานที่ต่างๆ ร้อยละ 95.2 และล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ ร้อยละ 91
สำหรับพฤติกรรมสุขภาพที่ประชาชนยังไม่ค่อยได้ปฏิบัติตามมาตรการคือ การทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสร่วม โดยมีพฤติกรรมดังกล่าวเพียง ร้อยละ 69.3 และมีการลงทะเบียนในแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ร้อยละ 70.2 จึงต้องเน้นย้ำให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ ขอความร่วมมือประชาชนประเมินความเสี่ยงตนเองทุกวันว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือใหม่ผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่ทางราชการกำหนด หรือเลือกใช้การประเมินตนเองผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” ที่ช่วยคัดกรองเพื่อลด ความเสี่ยงการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อ "โควิด-19" สู่ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และชุมชน รวมถึงลดความรุนแรงหากมีความเสี่ยงหรือติดเชื้อ"โควิด-19" ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาหรือพบแพทย์ได้เร็วขึ้น