เรื่องเล่าการจัดการ'ศพโควิด' มุม'ไวยาวัจกรวัด'

เรื่องเล่าการจัดการ'ศพโควิด'  มุม'ไวยาวัจกรวัด'

สิ่งที่เห็น บางทีก็เศร้า บางครั้งก็ยากจะบรรยาย เคยเจอญาติผู้ตายจากโควิด  ขอทำแค่ใบมรณภาพ แล้วขอทิ้งศพไม่ดำเนินการใดๆ เลย... ลองอ่านเรื่องเล่าไวยาวัจกร "วัดราษฎร์ประคองธรรม"  

“เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ญาติผู้ตายติดต่อมาให้พวกผมไปรับศพที่โรงพยาบาลแถวๆ บางแค แล้วขอทิ้งศพไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น ขอวิ่งแค่ใบมรณบัตรแปะฝาโลง ไม่เอากระดูก ไม่เอาอะไรเลย”

ไพรัช สุดธูป ไวยาวัจกร (ผู้​ช่วยเหลือรับใช้พระสงฆ์ ทำกิจธุระแทนสงฆ์)วัดราษฎร์ประคองธรรม จ.นนทบุรี และคณะกรรมการมูลนิธิสยามนนทบุรี เล่าถึง การจัดการศพผู้ตายโควิดในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 

ถ้าเมื่อใดก็ตามญาติผู้เสียชีวิตจากโควิด ติดต่อเจ้าหน้าที่มูลนิธิสยามนนทบุรี เพื่อให้ช่วยจัดการศพ เพื่อนำไปเผาที่วัดราษฎร์ประคองธรรม ทีมงานมูลนิธิฯจะต้องดำเนินการตั้งแต่คุยกับญาติผู้ตาย นำโลงออกไปรับศพจากโรงพยาบาล นำศพเข้าวัด ขึ้นเมรุ ทำพิธีทางศาสนา เผา และเก็บอัฐิ

ภาระกิจที่ไม่ธรรมดาในช่วงโรคระบาดจากโควิด วัดทั่วไปจะไม่ค่อยรับเผาศพลักษณะนี้  แม้จะรับ ็ก็อาจจัดการไม่ได้ทั้งระบบ ตัังแต่รับศพจนถึงเก็บอัฐิ

เผาได้แค่วันละ 3 ศพ

ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ กว่า  15 ชีวิตที่ได้รับการอบรมในการจัดการศพด้านโรคอุบัติใหม่จากหน่วยงานรัฐ ต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนออกไปรับศพผู้เสียชีวิตจากโควิดศพแล้วศพเล่า เขาว่า เดือนที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 40 ศพ

“ก็เผาปกติ ไม่เปิดฝาโลง ศพคนตายไม่มีปัญหา เพราะโรงพยาบาลจะใส่ถุงซิปสามชั้นอยู่แล้ว ที่มีปัญหาก็คือ ญาติมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ มีบางกรณีที่ญาติมาเผาศพ แล้วโทรมาบอกว่า มีผลตรวจโควิดเป็นบวก” โจ้ เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ที่มีหน้าที่ทั้งขับรถ ยกโลงศพ เล่า และเปรยๆ ว่า

“ทางวัดรับเผาศพได้แค่วันละสามศพ ถ้าวันไหนมีคนติดต่อเกิน ก็จะให้วัดที่อยู่ในโครงการช่วย ส่วนเรื่องการเคลื่อนย้ายทางมูลนิธิฯมีรถจะจัดการให้ ตอนนี้วัดในเครืออ.บางใหญ่ จ.นนทบุรีที่ร่วมโครงการเผาศพโควิดฟรีๆ  4-5 วัด”

ส่วนการเคลื่อนย้ายศพจากโรงพยาบาลมาสู่วัด ไพรัช เล่าถึงมาตรฐานในการจัดการว่า ไม่ว่าผู้ป่วยหรือคนตายจากไวรัสโควิด เราต้องใช้รถระบบปิดแยกเครื่องปรับอากาศ ที่ใช้ในการลำเลียงผู้ติดเชื้อโควิด รถแบบนี้ราคาสามล้านกว่าบาท และมีอยู่คันเดียวในมูลนิธิฯ

 “ถ้าเป็นผู้ป่วยโควิดที่จะรับไปส่งโรงพยาบาล เราจะไม่พูดกับผู้ป่วยเลย ส่วนคนตายจากโควิด เราจะใช้โลงศพจากวัดที่ฆ่าเชื้อแล้ว ซึ่งทางโรงพยาบาลจะใส่ถุงซิฟสามชั้นไว้แล่้ว เราก็ฆ่าเชื้อบรรจุในหีบศพ แล้วนำมาวัด ถึงวัดเจ้าหน้าที่ในรถจะไม่ลงมาจนกว่าเจ้าหน้าที่ภาคสนามจะฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อภายนอกก่อน 

จากนั้นพวกเราจะฆ่าเชื้อโลงศพอีกครั้ง แล้วเชิญขึ้นบนเมรุ ทอดผ้าไตรทำพิธีทางศาสนา และกดปุ่มเผา เก็บอัฐิ”ไพรัช เล่าถึงกระบวนการจัดการศพโควิดเต็มรูปแบบ หลังจากนั้นพวกเขาจะต้องนำรถมาทำความสะอาดรถด้วยการฆ่าเชื้อโอโซน ฆ่าเชื้อแอลกอฮอล์ และจอดตากแดด

 “เรื่องศพเราไม่กลัว เพราะศพหายใจไม่ได้แล้ว การติดเชื้อเท่ากับศูนย์ แต่ที่เรากลัวมากที่สุด คือ ญาติที่เคยอภิบาลผู้ป่วย บางทีญาติและผู้ตายติดเชื้อพร้อมกัน เราก็เลยกั้นโซนสำหรับญาติ และให้มาเผาศพได้ไม่กี่คน”

ดูเหมือนกระบวนการจัดการศพจะไม่ซับซ้อน แต่ที่ซับซ้อนคือ ความรู้สึกที่หลากหลายของญาติพี่น้องผู้ตาย ไพรัช เล่าต่อว่า มีบางกรณีญาติพี่น้องขับรถป้ายแดงมาสามสี่คัน รวยมาก เมื่อมาถึงบอกพวกเราว่า อยากจัดงานศพให้ดีกว่านี้ และมีเงินจ่าย 

"ผมบอกไปว่า จัดการมาตรฐานเดียวกัน เพราะเงินซื้อพวกเราไม่ได้ ผมกินข้าววัดอยู่แล้ว โลงของวัดก็ไม่ใช่โลงขาวๆ ดูแล้วเศร้าใจ ถ้าผมเสียชีวิตก็ใช้โลงนี้เหมือนกัน ผมทำตรงนี้ จนผมเห็นสัจธรรม”

 

162107176331

 (การเผาศพที่วัดราษฎร์ประคองธรรม ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ )

อย่าหาประโยชน์จากญาติคนตาย 

มีบ้างที่'ไพรัช'รู้สึกเศร้าใจกับญาติพี่น้องที่สลัดทิ้งทุกอย่าง เมื่อมีคนในครอบครัวจากไปด้วยโควิด และมีไม่น้อยที่หาผลประโยชน์จากการสูญเสีย แต่เขาก็ยังทำหน้าที่ต่อไป 

“เวลามีผู้เสียชีวิตจากโควิด เจ้าหน้าที่ห้องศพ หรือคนทำงานมูลนิธิที่มีอยู่มากมาย หรือคนในอาชีพนี้ ก็เข้าไปติดต่อญาติแล้วบอกว่า ต้องจัดการใส่โลงภายใน 1-2 ชั่วโมง ถ้าไม่อย่างนั้นผิดกฎการแพทย์ แล้วหาที่เผาศพในวัดให้ รวมๆ แล้วมีค่าใช้จ่ายประมาณ 25,000-30,000 บาท แล้วนำศพใส่รถธรรมดาไม่ใช่ระบบปิดเหมือนรถที่เราใช้

มีคนหาประโยชน์แบบนี้เยอะ เราเป็นหน่วยงานเล็กๆ พอเราพูดเรื่องใหญ่ๆ เกินกำลังก็มีคนโจมตี แต่นี่เป็นปัญหาสังคมที่ผมอยากบอก ถ้าไม่ใช้รถระบบปิด แยกเครื่องปรับอากาศ คนที่อยู่ในรถมีโอกาสติดเชื้อได้ เพราะใช้เครื่องปรับอากาศอันเดียวกัน

162107237168

บางคนลืมไปว่าใช้รถธรรมดาๆ ขนศพผู้ตายโควิด แล้วพวกเขากลับบ้านไปหาครอบครัว อาจนำเชื้อไปให้ครอบครัว บางคนเอาความไม่รู้มาปนกับความกลัว กลายเป็นความไม่เข้าใจ”

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทางวัดราษฎร์ประคองธรรม จึงทำระบบที่เอื้อกับคนยากจน  ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ตั้งแต่ค่ารถ ค่าเผา  ค่าจัดการ เพราะทางวัดและมูลนิธิ เคยทำโครงการบ้านหลังสุดท้าย จัดการศพให้ผู้เสียชีวิตที่มีฐานะยากจนมาก่อน

 “ถ้าเป็นศพจากโควิดเคยช่วยจัดการศพมากสุดวันละ 5 ศพ เตาเผาศพจะรับไม่ไหว ตอนนี้เราก็เอาความรู้ที่มีแบ่งปันให้วัดในเขตเดียวกัน วัดที่เข้าร่วม ต้องใช้โมเดลของวัดราษฎร์ประคองธรรม

หลังจากผมมาช่วยบริหารจัดการงานในวัด ทำเรื่องจัดการงานศพมาสี่ห้าปี หลวงพ่อ(พระครูกิตติวิริยาภรณ์) บอกว่า การจัดงานศพให้คนจนต้องทำให้ดีที่สุด เพราะเขาเลือกไม่ได้ ความเป็นมนุษย์มันต้องเท่าเทียมกัน ผมก็มาช่วยงานวัดเพราะท่านเป็นพระที่ไม่สนใจยศและตำแหน่ง ทำหลายโครงการ อาทิ ช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง มีรถพยาบาลไปรับและส่ง ช่วยเหลือเรื่องเงินด้วย"

............................
 มูลนิธิสายนนทบุรี เบอร์ติดต่อ 063 2371669 และ 098 8111656