แนะ'กลุ่มดูแลผู้สูงอายุ' ยึดหลัก 'DMHTTA' สกัดเชื้อสู่ผู้สูงวัย
กรมอนามัย แนะ "กลุ่มดูแลผู้สูงอายุ" Care Manager Caregiver ผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ กลุ่มติดบ้านและกลุ่มติดเตียงอย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามมาตรการ "DMHTTA" อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคโควิด-19
สำหรับสถานการณ์ "ผู้สูงอายุ"ของประเทศไทยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้มีจำนวน"ผู้สูงอายุ"ที่เป็น "กลุ่มติดสังคม" คือสามารถช่วยเหลือตนเองได้ดี สุขภาพดี ไม่มีโรคเรื้อรัง หรือมีโรคเรื้อรังแต่ควบคุมได้ สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ จำนวน 7,275,719 คน
"กลุ่มติดบ้าน" คือเป็นผู้สูงอายุที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือต้องการความช่วยเหลือบางส่วน จำนวน 204,144 คน และ "กลุ่มติดเตียง" คือเป็นผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันได้ ต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น จำนวน 47,867 คน ซึ่งในจำนวนทั้งหมดนี้ได้รับ คัดกรองโรคโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 3,400,349 คน
"กลุ่มดูแลผู้สูงอายุ"ดูแลตนเอง ไม่นำเชื่อไปสู่ "ผู้สูงอายุ"
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่าในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 "กลุ่มดูแลผู้สูงอายุ" ไม่ว่าจะเป็น "Care Manager" และ "Caregiver" ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ดูแล "กลุ่มผู้สูงอายุติดบ้าน" และ "กลุ่มติดเตียง"อย่างใกล้ชิด นับเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการนำเชื้อโควิด-19 ไปสู่ "ผู้สูงอายุ"ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง
ในกรณีที่ "ผู้สูงอายุ"มีการติดเชื้อก็มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง โดยจากข้อมูลกรมอนามัยพบว่า "Care Manager" ติดเชื้อ โควิด-19 จำนวน 6 ราย และเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จำนวน 120 ราย
- ย้ำต้องปฎิบัตาม "DMHTTA" อย่างเคร่งครัด
ส่วนกลุ่ม "Caregiver" ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 ราย และเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จำนวน 1,725 ราย "กลุ่มดูแลผู้สูงอายุ"เหล่านี้ จึงจำเป็นต้องป้องกันตนเอง
โดยปฏิบัติตามมาตรการ "DMHTTA" อย่างเคร่งครัด ด้วยการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือบ่อย ๆ กลับถึงที่พัก/บ้านให้อาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าทันที แล้วค่อยทำกิจกรรมอื่น รวมทั้งใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ/หมอชนะ และประเมินตนเองผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” หากพบว่าตนเองเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือเดินทางกลับจากพื้นที่ความเสี่ยงสูงต้องงดปฏิบัติงานทันที อยู่บ้านเฝ้าระวังอาการ 14 วัน เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อไป