'หมอประสิทธิ์' ห่วง ‘ภูเก็ตแซนด์บอกซ์’ หวั่นเจอ 'เชื้อกลายพันธุ์' ซ้ำเติมเศรษฐกิจ

'หมอประสิทธิ์' ห่วง ‘ภูเก็ตแซนด์บอกซ์’ หวั่นเจอ 'เชื้อกลายพันธุ์' ซ้ำเติมเศรษฐกิจ

‘หมอประสิทธิ์’ ห่วง ‘ภูเก็ตแซนด์บอกซ์’ หวั่นเจอ 'เชื้อกลายพันธุ์' แนะเตรียมความพร้อมระบบรองรับ หากคนนอกพื้นที่เข้ามา หวั่นอนาคตหากเกิดการระบาดใหม่ อาจเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจ

หลังจากที่ประเทศไทย อยู่ระหว่างเตรียมการเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติของ 10 จังหวัดนำร่อง ในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปี 2564 โดยเริ่มจากโมเดล ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ โดยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว 2 โดส ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป โดยระดมฉีดวัคซีนให้ประชากรอย่างน้อย 1 เข็ม ราว 4 แสนคน หรือมากกว่า 60% ของจำนวนประชากร

วันนี้ (15 มิ.ย. 64) “ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวภายหลังการ แถลงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เรื่องควรรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ผ่านระบบ Zoom โดยระบุว่า การเดินหน้า โมเดล ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่จะเปิดในวันที่ 1 ก.ค. 64 นี้ โดยส่วนตัวเห็นว่ายังเร็วไป แต่คนที่มีอำนาจในการตัดสินใจก็คงพิจารณาในส่วนตรงนั้น ตอนนี้มีการเตรียมการเพื่อเปิด 'ภูเก็ต' เพื่อดึงเศรษฐกิจกลับมา โดยมีการนำวัคซีนเข้าไปฉีดให้เยอะเพื่อให้มีภูมิคุ้มกัน และเปิดให้ต่างประเทศเข้ามา เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

แต่ที่ห่วงไม่ได้เฉพาะคนที่ฉีดวัคซีน แต่ความพร้อมของจังหวัดในการรองรับระบบต่างๆ โดยเฉพาะหากมีคนนอกพื้นที่เข้ามาและมีสายพันธุ์ใหม่ๆ เข้ามา ขอย้ำว่า วัคซีนไม่ได้ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ทั้งหมด แม้ว่าส่วนใหญ่ยังครอบคลุม แต่หาก 'เชื้อกลายพันธุ์' เข้ามา แล้วคุมไม่ได้ กลไกการจำกัดพื้นที่หรือการควบคุมไม่ได้คู่ขนานกัน และยิ่งหากมองแค่ฉีดวัคซีนครบก็ปล่อย ยิ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

  • 'หมอประสิทธิ์' หวั่น 'เชื้อกลายพันธุ์' ซ้ำเติมเศรษฐกิจ

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า หากเกิดการระบาดใหม่ในภูเก็ตอีก จะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจใน 'ภูเก็ต' เพราะขณะนี้ คงเตรียมการแล้วที่จะเปิด และคงต้องมีการหาแหล่งเงินที่จะเตรียมการรองรับการเปิด หากระบาดอีกเท่ากับเงินที่ลงไปกับการหาวัตถุดิบก็จะเป็นการสูญเสีย ขณะนี้ ก็ต้องเฝ้าดูถึงระบบความเข้มงวดในการป้องกันโดยเฉพาะคนนอกพื้นที่ที่หลุดเข้ามาทำงาน ขอให้ระวังสิ่งเหล่านี้ให้ดี จะเฝ้าติดตามดู ยกตัวอย่าง ประเทศอังกฤษ ที่มีการเปิดประเทศพบตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และพบ 'เชื้อกลายพันธุ์' แทบจะทุกสายพันธุ์

"นอกจากนี้ โดยปกติการเดินทางเข้ามาประเทศไทยต้องมีการกักตัว 14 วัน แต่หากมองว่าต้องการให้เป็นพื้นที่กระตุ้นเศรษฐกิจ อาจมีการปรับให้ไม่ต้องถึง 14 วัน หากเป็นเช่นนั้นถ้าเป็นบางสายพันธุ์ที่ 14 วันก็อาจไม่พอ อย่างจีนก็กำหนด 21 วันด้วยซ้ำ คงเป็นสิ่งหนึ่งที่ถ้าไม่ลองไม่รู้ แต่ถ้าลองแล้วเกิดบทเรียนก็ขอให้เป็นบทเรียน แต่ก็ยังห่วง แน่นอนในแง่วิชาการทางแพทย์ อยากให้กักตัว 14 วัน แต่หากในมองเศรษฐกิจก็จะมองว่านักท่องเที่ยวคงไม่มา”

 

  • เฝ้าระวัง เส้นทางธรรมชาติ

ขณะเดียวกัน ในส่วนของมาตรการคลายล็อค ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ให้ความเห็นว่า ยุทธศาสตร์การผ่อนคลายต้องดูวัคซีนที่ฉีดคู่ขนานกันไป หากในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อเยอะไม่ควรผ่อน เพราะกำลังเปิดศึกใหม่ แต่หากเป็นพื้นที่ที่ไม่พบการระบาด 1-2 สัปดาห์ ไม่มีการติดเชื้อและมีมาตรการเข้มก็ผ่อนคลาย และติดตาม หากระบาดขึ้นก็ต้องกลับมาล็อค

แต่สิ่งที่ห่วง คือ กระบวนการผ่อนคลาย ยังไม่น่ากลัวเท่าการเดินเข้ามาในไทยตามเส้นทางธรรมชาติ เพราะเราเจอสายพันธุ์ใหม่ๆ เป็นสิ่งที่น่าห่วง แสดงว่ากำลังเปิดศึกใหม่ ดังนั้น กระบวนการผ่อนคลายก็ต้องจับตาดูเช่นกัน และพร้อมจะให้ข้อเสนอแนะ ส่วนตัวก็ยังย้ำว่า สุขภาพก็ยังมาก่อน เศรษฐกิจต้องพิจารณาแน่นอน แต่เมื่อไหร่สุขภาพเอาไม่อยู่เกิดการติดเชื้อมากมาย ก็อาจจะแย่ลง

  • คาด ฉีดวัคซีนตามเป้า เมื่อระบบเข้าที่ 

ส่วนการ ประเมินการฉีดวัคซีนในประเทศไทย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ความเห็นว่า ช่วงนี้อาจจะต้องรออีกสัก 1-2 สัปดาห์ พอวัคซีนจากสยามไบโอไซเอนซ์ทยอยมาคงจะไม่สะดุด เป้าหมายที่จะฉีด 3 แสนคนต่อวันขึ้นไป ก็ต้องกลับมาทำให้ได้

“จะเห็นว่าในวันที่เริ่มฉีด 7-8 มิ.ย. 64 ฉีดไปกว่า 4 แสนคนต่อวัน จริงๆ กระบวนการทำได้ แต่เกิดการสะดุด ทำให้ลดความเร็วฉีดลง แต่เมื่อวัคซีนทยอยออกมา ทั้งซิโนแวค และวัคซีนทางเลือกเข้ามา รวมทั้ง แอสตร้าโกลบอล ที่จะมาดำเนินการปล่อยวัคซีนจากสยามไบโอไซเอนซ์ได้ ถึงตอนนั้นจะกลับมาเซ็ตเป้าหมายเดิม 3 แสนรายต่อวัน”