ค้นหาคำตอบ 'วัคซีนโควิด'ชนิดไหน? ป้องกัน'สายพันธุ์เดลต้า' ได้
'สายพันธุ์เดลต้า' (อินเดีย) กลายเป็นสายพันธุ์โควิด-19 ที่มีความน่ากลัวมากที่สุดเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้ เพราะนอกจากแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังไม่แน่ชัดว่า 'วัคซีนโควิด' ชนิดไหนที่สามารถป้องกันได้
‘สายพันธุ์เดลต้า’ หรือ ‘สายพันธุ์อินเดีย’ เป็นอีกสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด -19 ที่เรียกได้ว่าน่ากลัวมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ เมื่อขณะนี้ ‘สายพันธุ์เดลต้า’ ได้มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลก ‘WHO’ เปิดเผยว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ‘สายพันธุ์เดลต้า’ ที่พบครั้งแรกในอินเดียได้แพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ แล้วกว่า 80 ประเทศ (รวมถึงประเทศไทย) โดยพบว่าเชื้อไวรัส‘สายพันธุ์เดลต้า’ ยังคงมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ในสหรัฐตรวจพบไวรัส ‘สายพันธุ์เดลต้า’ เป็นจำนวน 10% ของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ทั้งหมด
- ‘สายพันธุ์เดลต้า’ กลายพันธุ์ต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ‘WHO’ ยังติดตามรายงานการตรวจพบ ‘สายพันธุ์เดลต้า พลัส’ (Delta Plus) เมื่อไม่นานมานี้ โดย ดร. มาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายเทคนิคของ ‘WHO’กล่าวว่า คิดว่ารายงานนี้หมายถึงมีการตรวจพบการกลายพันธุ์แบบใหม่ จึงทำให้เราต้องตรวจสอบทั้งหมด
ขณะเดียวกัน ‘WHO’ ก็ได้เพิ่มรายชื่อเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อีกตัวหนึ่งในรายชื่อสายพันธุ์ที่ต้องติดตาม โดยให้ชื่อว่า ‘สายพันธุ์แลมบ์ดา’ (Lambda)
ทั้งนี้ ‘WHO’ มีการติดตามเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่า 50 สายพันธุ์ แต่ไม่ใช่ทุกสายพันธุ์จะเป็นอันตรายต่อสุขอนามัยระดับโลกจนต้องเพิ่มในรายชื่อเฝ้าระวัง
ดร. มาเรีย ระบุว่า ไวรัส‘สายพันธุ์แลมบ์ดา’ มีการกลายพันธุ์หลายจุดในโปรตีนส่วนหนาม ซึ่งอาจส่งผลต่ออัตราการแพร่กระจายของเชื้อได้ แต่ยังไม่มีงานวิจัยมากเพียงพอที่จะทำความเข้าใจเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ได้อย่างสมบูรณ์
ขณะนี้นักวิจัยในภูมิภาคอเมริกาใต้จากหลายประเทศรายงานว่าตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ‘สายพันธุ์แลมบ์ดา’ รวมถึงชิลี เปรู เอกวาดอร์ และอาร์เจนตินา โดยความสามารถในการตรวจพบนี้เป็นผลมาจากการยกระดับการตรวจสอบจีโนมของเชื้อไวรัส
- ‘สายพันธุ์เดลต้า’ แพร่กระจายเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ
อย่างไรก็ตาม สำหรับในประเทศไทยนั้น จุดเริ่มต้นที่พบการระบาด‘สายพันธุ์เดลต้า’ คือ ‘แคมป์คนงานหลักสี่’เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ก่อนจะมีการขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยรายงานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งได้มีการสุ่มตรวจเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ตั้งแต่เดือน เมษายน-มิถุนายน 2564 รวมจำนวน 4,185 ราย พบว่า'สายพันธุ์เดลต้า' หรือ อินเดีย 348 ราย พบใน กทม. มากที่สุด คือ 318 ราย รองลงมาคือ อุดรธานี 17 ราย นนทบุรี 2 ราย ขอนแก่น 2 ราย, ชัยภูมิ 2 ราย สระบุรี 2 ราย พิษณุโลก 1 ราย บุรีรัมย์ 1 ราย อุบลราชธานี 1 ราย ร้อยเอ็ด 1 ราย สมุทรสาคร 1 ราย
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยหลายแหล่ง ระบุว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ‘สายพันธุ์เดลต้า’ สามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ขณะที่ ‘WHO’ เปิดเผยรายงานที่ได้รับว่า ‘สายพันธุ์เดลต้า’ อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ด้วย แต่ในขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยมากเพียงพอที่จะยืนยันข้อมูลดังกล่าว
- คาดการณ์ ‘สายพันธุ์เดลต้า’ ในไทยจะค่อยๆเพิ่มขึ้น
ต่อมาได้มีการตรวจแยกสายพันธุ์ ในรอบการระบาดเดือน เมษายน ที่มีการสุ่มตรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 5,500 ราย พบ 4,528 ราย เป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) คิดเป็นร้อยละ 89.6 ส่วนสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) 496 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.6 และ สายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) 31 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.6
ยังมีการพบคลัสเตอร์ใหม่ สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยข้อมูลพบมีกลุ่มผู้ตืดเชื้อ แล้วกว่า 10 ราย เป็นกลุ่มคนไข้ ที่เข้ารับการรักษาตัว แต่ยังต้องรอข้อมูลการสอบสวนโรคอีกครั้งว่ามีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์แคมป์คนงานหลักสี่ หรือไม่
มีการคาดการณ์ ว่าประเทศไทย‘สายพันธุ์เดลต้า’ (อินเดีย)จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเหมือนสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) คาดการณ์อีก2-3 เดือนข้างหน้า ‘สายพันธุ์เดลต้า’ (อินเดีย) และสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) จะมีความใกล้เคียงกัน ต้องจับตาว่าจะมีผลต่อเรื่องการเสียชีวิต และมีผลต่อวัคซีนมากน้อยขนาดไหน ขณะนี้สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) มีความไวในการแพร่ระบาดมากกว่าสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 40%
ขณะนี้ ‘สายพันธุ์เดลต้า’ (อินเดีย) ในไทยขณะนี้ ถือว่า ยังทรงตัว แต่ก็ได้เฝ้าระวัง หากพบว่ามีอัตราการแพร่ระบาดสูง เช่น จากสัปดาห์ละ 9% เป็น 12-15% อาจต้องมีการพิจารณาแนวทางการขยับระยะห่างการรับวัคซีนเข็ม 1 และเข็ม 2 แต่ขณะนี้วัคซีนช่วยได้ในระดับหนึ่ง การฉีดมากตอนนี้ยังเป็นสิ่งจำเป็น
- 'วัคซีนโควิด' ที่มีอยู่ป้องกัน 'สายพันธุ์เดลตา' (อินเดีย) ได้
“ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊คถึงข้อมูลของเชื้อโควิด-19 โดยระบุว่า'สายพันธุ์อินเดีย' พบครั้งแรกปลายปีแต่ด้วยการแพร่กระจายง่ายและเร็วมีแนวโน้มจะพบกระจายเป็นวงกว้าง และจะแทนที่ “สายพันธุ์อังกฤษ” และแอฟริกาใต้แน่นอน สายพันธุ์อินเดียและอังกฤษ แพร่กระจายง่าย จะพบการระบาดเป็นวงกว้างได้ง่าย ตรงข้ามสายพันธุ์แอฟริกาใต้การแพร่กระจายได้น้อยกว่าก็จะมีโอกาสแพร่กระจายโรคได้ช้ากว่า ข้อมูลจำนวนสายพันธุ์ที่ตรวจและมีการบันทึกในฐานข้อมูล GISAID จะเห็นแนวโน้มมี ‘สายพันธุ์อินเดีย’ มาแรงมีโอกาสที่จะแซงสายพันธุ์อื่น
อย่างไรก็ตาม โควิด-19 'สายพันธุ์อินเดีย' แพร่กระจายได้ง่าย ติดต่อง่าย แต่วัคซีนที่ฉีดในประเทศไทยสามารถปกป้องได้ 'สายพันธุ์อินเดีย' ที่แสดงในรูปเป็น B.1.617.2 ที่ระบาดมากในอินเดียและกระจายไปหลายประเทศ รวมทั้งอังกฤษ ยุโรป และในสหรัฐอเมริกา แม้กระทั่งประเทศไทย สายพันธุ์นี้ดูตามหลักพันธุกรรมแล้วสามารถแพร่กระจายหรือติดต่อได้ง่าย จะติดต่อง่ายหรือง่ายกว่าสายพันธุ์อังกฤษ จึงจะทำให้เกิดการระบาดกว้างขวางขึ้นได้ (แค่สายพันธุ์อังกฤษ เราก็ลำบากพอสมควรแล้ว)
วัคซีนที่มีอยู่ในประเทศไทยสามารถป้องกันได้ จากการศึกษาในประเทศอังกฤษ'สายพันธุ์อินเดีย' ที่เข้าไประบาดในอังกฤษ ส่วนใหญ่จะเกิดในชุมชนที่มีการฉีดวัคซีนอัตราการครอบคลุมต่ำ และจะพบมากในเด็กวัยรุ่นหรืออายุน้อยที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมากกว่าผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนแล้ว จากหลักฐานทางพันธุกรรมโดยเฉพาะตำแหน่งที่หลบหลีกภูมิต้านทานจากวัคซีน ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง
“การให้วัคซีนที่มีอยู่ในประเทศไทย สามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงของสายพันธุ์อินเดียได้ ดังนั้น การจะยับยั้งการระบาดของสายพันธุ์นี้ได้ดีในขณะนี้ คือการให้วัคซีนให้เร็วที่สุดและให้หมู่มากที่สุด” ศ.นพ.ยง ระบุ
- ยืนยัน‘AstraZeneca’ประสิทธิภาพป้องกัน ‘สายพันธุ์เดลต้า’
บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ออกแถลงการณ์เผยแพร่ข้อมูลล่าสุดจากสาธารณสุขประเทศอังกฤษ (PHE) แสดงให้เห็นว่า ‘วัคซีนโควิด-19’ ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าสามารถป้องกัน ‘สายพันธุ์เดลต้า’’ (B.1.617.2 เดิมคือสายพันธุ์อินเดีย) ได้ในระดับสูง
โดยสาธารณสุขประเทศอังกฤษ พบว่าหลังการ ‘ฉีดวัคซีนโควิด-19’ ของ‘AstraZeneca’ครบทั้งสองเข็มแล้ว วัคซีนมีประสิทธิผลสูงถึง 92% ในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลและไม่มีผู้ที่เสียชีวิตจาก‘สายพันธุ์เดลต้า’ ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน โดยรายงานดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ‘AstraZeneca’ที่สามารถป้องกันสายพันธุ์อัลฟ่า (B.1.1.7 เดิมคือสายพันธุ์อังกฤษหรือเคนท์) โดยมีประสิทธิผลสูงถึง 86% ในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลและไม่มีรายงานการเสียชีวิตในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน
ข้อมูลดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่า ‘วัคซีนโควิด-19’ ของ‘AstraZeneca’มีประสิทธิผลต่อการป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการน้อย (mild symptomatic disease) ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยวัคซีนมีประสิทธิผลสูงถึง 74% ในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการจากสายพันธุ์อัลฟ่า และ 64% จากสายพันธุ์เดลต้า
ประสิทธิผลที่สูงขึ้นของวัคซีนในการลดความรุนแรงของโรคและการนอนรักษาในโรงพยาบาล พิสูจน์ได้จากการที่ “ที-เซลล์” มีการตอบสนองต่อ ‘วัคซีนโควิด-19’ ของ‘AstraZeneca’ได้เป็นอย่างดี ซึ่งสัมพันธ์กันกับการป้องกันที่นานและมีประสิทธิภาพสูงด้วย
- ‘WHO’ แนะนำ‘AstraZeneca’ ป้องกันโควิด 19
เมเน แพนกาลอส รองประธานบริหารฝ่ายวิจัยและพัฒนา BioPharmaceuticals กล่าวว่า จากข้อมูลการใช้วัคซีนจริงแสดงให้เห็นว่า วัคซีนโควิด-19 ของ‘AstraZeneca’สามารถป้องกันเชื้อไวรัส‘สายพันธุ์เดลต้า’ ในระดับที่สูง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ผู้คนต่างมีความกังวล เนื่องจากสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
ในแถลงการณ์บริษัทฯ กล่าวด้วยว่า จากการวิเคราะห์ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ‘สายพันธุ์เดลต้า’ รวม 14,019 ราย ในประเทศอังกฤษ มี 166 ราย เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ระหว่างวันที่ 12 เม.ย. ถึง 4 มิ.ย. 2564 โดยข้อมูลการใช้วัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้านี้ รวบรวมจากการติดตามผลแบบเฉพาะกลุ่มสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่สองแล้ว ซึ่งอาจส่งผลต่อการประเมินประสิทธิผลของวัคซีน
‘สายพันธุ์เดลต้า’ เป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในอนุทวีปอินเดียและมีแนวโน้มจะระบาดไปในประเทศต่างๆทั่วโลก ปัจจุบัน ‘สายพันธุ์เดลต้า’ ได้เข้ามาแทนที่สายพันธุ์อัลฟ่าที่แพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศสกอตแลนด์และเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหราชอาณาจักร โดยคณะที่ปรึกษายุทธศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภูมิคุ้มกันขององค์การอนามัยโลก (Strategic Advisory Group of Experts on Immunization - SAGE) ได้แนะนำให้มีการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ‘AstraZeneca’ในประเทศที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้
‘AstraZeneca’ถูกคิดค้นและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและบริษัท วัคซีเทค ซึ่งก่อตั้งโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด วัคซีนดังกล่าวพัฒนาโดยการนำส่วนของสารพันธุกรรมที่ใช้ในการถอดรหัสการสร้างหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ใส่ในโครงของอะดีโนไวรัสซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้หวัดทั่วไปในลิงชิมแปนซีที่ถูกทำให้อ่อนแรงลงและไม่สามารถแบ่งตัวได้ โดยหลังจากฉีดวัคซีนเซลส์ในร่างกายมนุษย์จะตอบสนองโดยการสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเดียวกันกับหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในกรณีที่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายในภายหลัง
‘AstraZeneca’ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ในกว่า 70 ประเทศ ครอบคลุม 6 ทวีปทั่วโลกแล้ว และจากการขึ้นทะเบียนสำหรับการใช้ในภาวะฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลกในครั้งนี้จะช่วยเร่งให้มีการเข้าถึงวัคซีนใน 142 ประเทศผ่านกลไกการจัดซื้อและจัดสรรวัคซีนของโครงการโคแวกซ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ย้อนรอย การระบาด โควิด-19 'สายพันธุ์อินเดีย' ในไทย
งานวิจัยล่าสุดวัคซีน'แอสตร้าเซนเนก้า' ป้องกัน'สายพันธุ์เดลต้า'ได้
- ‘Pfizer’ วัคซีนป้องกัน ‘สายพันธุ์เดลต้า’ ได้เช่นกัน
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ รายงานการพัฒนาวัคซีนโควิดรอบโลก โดยมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัคซีน ดังนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าเชื้อไวรัส โควิด-19 ‘สายพันธุ์เดลต้า’ หรือที่รู้จักกันในชื่อเดิม B.1.617.2 เริ่มมีการแพร่ระบาดจากประเทศอินเดียไปยังอีกกว่า 62 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาด้วย
จากข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประเทศอังกฤษ พบว่าเป็นผู้ติดเชื้อ โควิด-19 จาก ‘สายพันธุ์เดลต้า’ กว่า 60% ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาพบผู้ติดเชื้อ โควิด-19 จาก ‘สายพันธุ์เดลต้า’ มากกว่า 6 % เช่นเดียวกัน
นพ.แอนโทนี ฟาวซี่ (Dr.Anthony Fauci) หัวหน้าที่ปรึกษาทางการแพทย์ของทำเนียบขาวและผู้อำนวย การสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อและโรคติดเชื้อแห่งชาติ (NIAID) ได้กล่าวถึงรายงานของหน่วยงานสาธารณสุขประเทศอังกฤษ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีน ‘AstraZeneca’ และ ‘Pfizer’ ครบ 2 โดส มีประสิทธิผลในการป้องกันการป่วยแบบมีอาการจากการติดเชื้อ โควิด-19 ‘สายพันธุ์เดลต้า’ ได้ถึง 60% และ 88% ตามลำดับ
การฉีดวัคซีนเพียง 1 โดสนั้น วัคซีนจะมีประสิทธิผลในการป้องกันการป่วยแบบมีอาการจากการติดเชื้อ โควิด-19 ‘สายพันธุ์เดลต้า’ ได้เพียง 33% เท่านั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้ครบทั้ง 2 โดส โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
- ย้ำคนไทย 'ฉีดวัคซีนโควิด-19' สร้างภูมิคุ้มกันหมู่
สำหรับ 'วัคซีนโควิด-19' ในประเทศไทย ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติขึ้นทะเบียน ‘วัคซีนโควิด-19’ จำนวน 5 บริษัท ได้แก่
1. วัคซีน ‘AstraZeneca’ โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และที่ผลิตในประเทศโดย บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด
2. วัคซีน ‘Sinovac’ ของบริษัท ซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม
3.วัคซีน 'Johnson & Johnson' โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลค จำกัด
4.วัคซีน ‘Moderna’ หรือ โมเดอร์นา โดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด
5. วัคซีน ‘Sinopharm’ โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด
ขณะเดียวกัน มีวัคซีนที่อยู่ระหว่างการประเมินคำขอขึ้นทะเบียน ได้แก่
1. วัคซีน ‘Covaxin’ โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด
2. วัคซีน ‘Sputnik V’ โดยบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด
3. วัคซีน 'COMIRNATY' ซึ่งเป็นวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ จำกัด
จะเห็นได้ว่า ไทยมี 'วัคซีนโควิด-19' 2 ชนิด ที่สามารถป้องกัน 'สายพันธฺุ์เดลต้า' ได้ นั่นคือ ‘AstraZeneca’ ที่อย.อนุมัติขึ้นทะเบียนและนำเข้ามาฉีดให้แก่ประชาชนคนไทยแล้ว กับ วัคซีน 'COMIRNATY' ซึ่งเป็นวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ จำกัด หรือที่ทุกคนเรียกว่า วัคซีน ‘Pfizer’ ก็กำลังรอการขึ้นทะเบียนจากอย. และทาง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ลงนามในสัญญาเทอมชีท (Term Sheet) กับวัคซีน ‘Pfizer’ โดยมีการทำบันทึกความตกลงจะซื้อจะขาย ซึ่งจะมีเวลา 1 เดือน ในการตกลงเงื่อนไขและราคา เบื้องต้นจำนวน 20 ล้านโดส ส่งมอบภายในปีนี้
โดยวัคซีน ‘Pfizer’ เป็น‘วัคซีนโควิด-19’ บริษัทแรกที่ประสบความสำเร็จในการทดลองเฟสสาม โดยบริษัทได้ประกาศว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพมากกว่า 90% เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2563 และต่อมาได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA) เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2563 ให้ใช้ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเพียง 'วัคซีนโควิด-19' บางชนิดเท่านั้น ที่มีการศึกษาและออกประกาศอย่างชัดเจนว่าสามารถป้องกัน ‘สายพันธุ์เดลต้า’ ได้ แต่ทางที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคนี้ คือ ทุกคนจะต้อง ‘ฉีดวัคซีนโควิด-19’ (ถึงแม้ตอนนี้จะยังคงขาดวัคซีนอยู่) เพื่อสร้างภูมิุคุ้มกันหมู่ และต้องปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอย่าให้ขาด ไปไหนมาไหนต้องพกเจลไว้ล้างมือตลอดเวลา ห่างๆจะคนรู้จักและไม่รู้จักเว้นระยะห่างไว้ดีที่สุด และควรจะงดกิจกรรมเสี่ยง หรือการรวมกลุ่มโดยไม่จำเป็น เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการป้องกันโรคได้ดีที่สุด ต้องเริ่มมาจากตัวของทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน
แหล่งที่มา: กรุงเทพธุรกิจ ,กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์,สถาบันวัคซีนแห่งชาติ,กรมควบคุมโรค,ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ