ไขข้อสงสัย ทำไมกิน 'หมู' ถึงเป็น 'โรคหูดับ' ?
‘โรคไข้หูดับ’ ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อ จาก ‘หมู’ สู่คนจากการกินสุกๆ ดิบๆ และการสัมผัสทางบาดแผล แต่ปัจจุบันยังพบความนิยมทาน ‘หมูดิบ’ โดยข้อมูลในเดือนพ.ค. พบว่า เหนือ อีสาน มีผู้ป่วย ‘โรคหูดับ’ มากที่สุด ส่งผลให้ผู้ป่วย อาจหูหนวกถาวรและถึงตายได้
หลังจากที่มีข่าวการเสียชีวิตชีวิตหญิงวัย 49 ปี อาศัยอยู่ใน จ.พิษณุโลก โดยแพทย์ตรวจสอบ วันที่ 22 มิ.ย.64 พบว่า ผู้เสียชีวิตติดเชื้อในกระแสเลือด จากการมีบาดแผลและสัมผัสเนื้อ ‘หมูดิบ’ จึงทำให้เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกาย
ย้อนกลับไปใน เดือนเม.ย. 64 ชาวบ้านเกือบ 400 คน จาก 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 6 บ้านวังโป่ง , หมู่ 11 บ้านวังโป่งเหนือ และหมู่ 13 บ้านวังโป่งบูรพา ต.บ้านเก่า อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ล้มป่วย ‘โรคไข้หูดับ’ แห่เข้ารักษาตัวแน่นโรงพยาบาล หลังกินลาบ ‘หมูดิบ’ ในงานบวช มีผู้เสียชีวิต 2 ศพ
นอกจากนี้ ถัดมา เดือนพ.ค. 64 ที่ผ่านมา พบกรณี หนุ่มใหญ่เมืองปง จ.พะเยา เสียชีวิตหลังทานเมนูหลู้ ‘หมูดิบ’ เจอ ‘โรคไข้หูดับ’ เสียชีวิตหลังจากกินเสร็จได้เพียง 2 วัน และยังพบก่อนหน้านี้มีคนเสียชีวิตแล้ว 2 ราย ในพื้นที่ใกล้เคียง
- กิน ‘หมูดิบ’ เป็น 'โรคหูดับ' ถึงตายได้
ที่ผ่านมา “กรมควบคุมโรค” ได้ออกมาเตือนประชาชนให้ระมัดระวังเรื่องการประกอบอาหารและรับประทานอาหารดังกล่าว โดยขอให้เน้นการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ใหม่ และสะอาด โดยเฉพาะเนื้อ ‘หมู’ ที่ชำแหละกันเองในหมู่บ้าน และนำมารับประทาน ‘หมูดิบ’ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่มีการใส่เลือด ‘หมูดิบ’ ผสม หรือการปิ้งย่างไม่สุก ทำให้เสี่ยง ‘โรคไข้หูดับ’ หรือ โรคติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส หรือที่คนเรียกสั้นๆ ว่า 'โรคหูดับ' และอาจทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้
- เหนือ - อีสาน ป่วย ‘โรคหูดับ’ มากที่สุด
จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ ‘โรคไข้หูดับ’ ในประเทศไทย โดยกรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-18 พ.ค.64 มีรายงานพบผู้ป่วย 171 คน เสียชีวิต 11 คน วันนี้ ( 30 พ.ค.64 ) การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพในสัปดาห์ดังกล่าว คาดว่ามีโอกาสจะพบผู้ป่วย 'โรคหูดับ' เพิ่มขึ้น
เนื่องจาก ปัจจัยแวดล้อมและวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะใน ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงขอเตือนให้ประชาชนระมัดระวังการป่วยด้วยโรคไข้หูดับ โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ลำปาง พะเยา อุตรดิตถ์ นครราชสีมา และสุโขทัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘โรคหูดับ’ จาก ‘หมู’ สู่คน
ข้อมูลจาก สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ ‘โรคหูดับ’ หรือ โรคติดเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic infectious disease) ซึ่งในโรคนี้เป็นการติดต่อจาก ‘หมู’ สู่คน ‘โรคหูดับ’ เป็นโรคที่พบได้ประปรายทั่วโลก โดยมักพบในประเทศที่มีการเลี้ยง ‘หมู’ เป็นอุตสาหกรรม และในปี พ.ศ. 2548 พบมีการระบาดครั้งใหญ่ในประเทศจีน มีผู้ติดเชื้อทั้งหมดประมาณ 100 คน ซึ่งในชั้นต้นของการระบาดครั้งนี้ มีการเสียชีวิตมากกว่า 20 คน
‘โรคหูดับ’ พบได้ในทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุแต่ทั้งนี้ เกือบทั้งหมดจะพบโรคเกิดในผู้ ใหญ่ โดยพบในเพศชายสูงกว่าในเพศหญิง อาจเพราะเพศชายทำงานสัมผัสกับ ‘หมู’ มากกว่าเพศหญิง
- ‘โรคหูดับ’ พบในไทยครั้งแรก 2530
ในประเทศไทย มีรายงานโรคนี้ครั้งแรกในผู้ป่วย 2 คนในปี พ.ศ. 2530 และยังมีรายงานพบ ‘โรคไข้หูดับ’ ในอายุน้อยที่สุด คือ ในเด็กอายุ 1 เดือน 1 ราย และพบว่า ประมาณ 88% ของผู้ป่วย ดื่มสุราร่วมด้วย ซึ่งอาจเกี่ยวกับคนดื่มสุรามักกิน ‘หมู’ สุกๆ ดิบๆ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งต่อการติดเชื้อโรคนี้
- การติดเชื้อสู่คน
เชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของ ‘หมู’ และอยู่ในเลือดของ ‘หมู’ ที่กำลังป่วย สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ
1. เกิดจากการบริโภคเนื้อและเลือดหมู ที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ
2. การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค จากทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา หรือสัมผัสเลือดของหมูที่กำลังป่วย
- ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง
1. ผู้ติดสุราเรื้อรัง
2. ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน ไต มะเร็ง หัวใจ
3. ผู้ที่เคยตัดม้ามออก
4. หากติดเชื้อจะมีอาการป่วยรุนแรงเนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ
- อาการของผู้ที่ติดเชื้อ
การติดเชื้อจาก ‘หมู’ ไปสู่คนเกิดจากการสัมผัสโดยตรง เช่น ติดทางบาดแผลที่ผิวหนัง การกินเนื้อหรือเลือด ‘หมู’ ที่ไม่สุก การติดเชื้อทางการหายใจ มีโอกาสน้อยและไม่รุนแรงเท่าการติดเชื้อโดยการสัมผัสโดยตรง อาการที่พบ ได้แก่
1. เยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลัน มีไข้ ปวดศีรษะ คอแข็ง
2. บางรายติดเชื้อในกระแสเลือด โดยไม่พบภาวะเยื่อหุ้มสมอง
3. บางรายแสดงอาการไข้ร่วมกับมีผื่น
4. หลอดเลือดอักเสบ
5. อุจจาระร่วง
6. บางรายติดเชื้อในเลือดอย่างรุนแรง
7. บางรายติดเชื้อในเยื่อหุ้มหัวใจแบบกึ่งเฉียบพลัน
8. ผู้ป่วยที่รอดชีวิตบางรายยังคงมีความพิการหลงเหลืออยู่ เช่น หูหนวกทั้ง 2 ข้าง และเป็นอัมพาตครึ่งซีก
- อาการทั่วไป ‘โรคหูดับ’
มีไข้สูงเฉียบพลัน คลื่นเหียน ปวดศีรษะ
- อาการเฉพาะ
1. เยื่อหุ้มสมองอักเสบมีไข้ ปวดศีรษะมาก คอแข็ง หากเชื้อเข้าปลายระบบประสาทหูจะทำให้การได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลันจนถึงขั้นหูหนวก หูหนวก ภายหลังที่หายจากอาการป่วยแล้วอาจจะมีความผิดปกติในการทรงตัว หากเชื้อเข้าปลายระบบประสาทตาจะทำให้ม่านตาอักเสบ ลูกตาฝ่อ หรือตาบอดได้
2. ติดเชื้อในกระแสโลหิตเป็นอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
3. กลุ่มอาการ Toxic Shock Syndrome
4. กลุ่มอาการอื่น ได้แก่ ข้ออักเสบ หรือลิ้นหัวใจอักเสบ
- วิธีการรักษา
การรักษา ‘ไข้หูดับ’ คือ การให้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มยาเพนนิซิลลิน (Penicillin) หรือยาเซฟไตร อะโซน (Ceftriaxone) เข้าหลอดเลือดดำ ในรายที่แพ้ยาดังกล่าวอาจใช้ยา แวนโคมัยซิน (Van comycin) ทั้งนี้ เชื้อมักดื้อต่อยา อีรีโทรมัยซิน (Erythromycin) หรือยาซัลฟา (Sulfa-group)
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนที่รอดชีวิตมา ยังอาจมีความผิดปกติหลงเหลืออยู่ เช่น ความผิดปกติในการทรงตัว เนื่องจากเชื้อได้เข้าไปทำลายเยื่อหุ้มสมอง หรือหากเชื้อเข้าปลายระบบประสาทตา จะทำให้ม่านตาอักเสบ ลูกตาฝ่อ หรือตาบอดได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางคนยังอาจเป็นอัมพาตครึ่งซีกได้เช่นกัน
- วิธีการป้องกัน ‘โรคไข้หูดับ’
สำหรับวิธีการป้องกัน ‘โรคไข้หูดับ’ โดย กรมควบคุมโรค มีดังนี้
1. ควรบริโภคอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน ทำสดใหม่ โดยเฉพาะเนื้อ ‘หมู’
2. ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า ที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์
3. ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ
4. แยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและ ‘หมูดิบ’ ออกจากกัน
5. ไม่ใช้เขียงของดิบและของสุกร่วมกัน
6. ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์
7. ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน
8. หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง