เช็ค!! วันนี้ ไทยนำเข้า ‘ซิโนแวค’ ไปแล้วกี่ล้านโดส หลังเกิดเหตุ 'วัคซีนกลายเป็นเจล'
วันนี้รัฐบาลไทยซื้อวัคซีน "ซิโนแวค" (Sinovac) แล้ว 9.5 ล้านโดส เป็นเงิน1,549.6 ล้านบาท คนไทยฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้ว 6.2 ล้านโดสล่าสุดคุณภาพของวัคซีนยังคงถูกตั้งคำถามหลังจาก อย. แจงกรณีที่ "วัคซีนกลายเป็นเจลใส"
คุณภาพของวัคซีน‘Sinovac’ ถูกตั้งคำถามขึ้นทันที หลังจากที่ ‘อย.’ ได้ออกมาชี้แจงกรณีที่วัคซีนกลายเป็นเจลใสติดบริเวณด้านในของขวดวัคซีนและเจลดังกล่าวไม่หายไปหลังการเขย่า เนื่องจากเก็บอุณหภูมิที่เย็นเกินไปทำให้วัคซีน จับตัวเป็นก้อน นำมาใช้ไม่ได้ กรณีที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าวัคซีนมีปัญหา แต่เป็นที่การจัดเก็บ
โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา‘อย.’ได้รับแจ้งจากหน่วยฉีด 1 จุดว่าวัคซีน‘CoronaVac’รุ่นการผลิต C202105079 วันที่ 10.05.2021 วันหมดอายุ 09.11.2021 มีลักษณะสารละลายของวัคซีนการรวมเป็นเจลใสติดบริเวณด้านในของขวดวัคซีนและเจลดังกล่าวไม่หายไปหลังการเขย่า ซึ่งมีจำนวนราว 110 ขวด(โดส)
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา จึงได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้ดำเนินการตามคำแนะนำสำหรับการเก็บรักษา‘วัคซีนโควิด 19’ ของบริษัท Sinovac Life Sciences จำกัด ให้เก็บไว้ที่ชั้นกลางหรือชั้นที่ 2 ของตู้เย็น และห่างจากจุดปล่อยความเย็น โดยวัคซีนจะต้องเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ วัคซีนจะกลายเป็นลักษณะนี้ได้นั้น มี 2 สาเหตุ คือ 1.เย็นเกินไป และ 2.ความเป็นกรดด่างผิดปกติ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตรวจสอบวัคซีนที่เรียกคืนกับวัคซีนรุ่นเดียวกันที่เก็บไว้เป็นฐานข้อมูลแล้ว พบว่า วัคซีนไม่ได้มีปัญหา ความเป็นกรดด่างไม่มีปัญหา
จากการตรวจสอบพบว่าเกิดจากกระบวนการเก็บรักษาและการขนส่งที่ไม่ควบคุมอุณหภูมิให้เป็นไปตามที่ได้รับอนุมัติในทะเบียนตำรับยา คือ 2-8 องศาเซลเซียส โดยระบบขนส่งจากสถานที่เก็บไปยังรพ.ก็ไม่ได้มีปัญหาเพราะมีตัวควบคุมและวัดอุณหภูมิตลอดเส้นทาง แต่การเก็บที่จุดฉีด ซึ่งเป็นการขนส่งระยะใกล้กั้นๆในจุดฉีดนั้น วัคซีนได้อุณหภูมิที่เย็นเกินไปมีการใช้ไอซ์แพ็คหรือแพ็คน้ำแข็งประกบใกล้ๆ ซึ่งน้ำแข็ง ทำให้ขวดวัคซีนที่อยู่ใกล้น้ำแข็งเย็นเกินไป จับตัวเป็นก้อน นำมาใช้ไม่ได้ ฉะนั้น กรณีที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าวัคซีนมีปัญหา แต่เป็นที่การจัดเก็บ
- แผนจัดซื้อ‘Sinovac’ของไทย
วัคซีน‘Sinovac’ผลิตโดยบริษัทซิโนแวค ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตยาและชีวเภสัชภัณฑ์สัญชาติจีน เป็นวัคซีนเชื้อตายที่มีชื่อว่า “โคโรนาแวค” 'CoronaVac' เป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันโรค และสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้ วัคซีนดังกล่าวได้มีการศึกษาในคนระยะที่ 1, 2 และ 3 ในประเทศบราซิล ตุรกี อินโดนีเซีย และชิลีแล้ว มีการรายงานผลว่าวัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดโควิด-19 ทำให้ในปัจจุบันวัคซีนชนิดนี้ได้รับการรับรองให้ใช้ในประเทศจีนเรียบร้อยแล้ว
คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้จัดซื้อวัคซีนของ‘Sinovac’ล็อตแรกจำนวน 2 ล้านโดส เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2564 โดยมีองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อและนำเข้า และสั่งซื้อเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง โดยรวมปี 2564 ประเทศไทย มีแผนจัดซื้อวัคซีนโควิด 19 ของ‘Sinovac’จำนวน 19.5 ล้านโดส ได้มาแล้วจำนวน 10.5 ล้านโดส เป็นวัคซีนที่รัฐบาลสั่งซื้อ 9.5 ล้านโดส และวัคซีนที่รัฐบาลจีนบริจาค 1 ล้านโดส
โดยก่อนหน้านี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลมีเป้าหมายจัดหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส ต่อมาเพิ่มเป็น 155.5 ล้านโดสโดยว่ากันว่าปี 2565 มีแผนจัดซื้อวัคซีนของ‘Sinovac’อีก 28 ล้านโดส หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงรวมยอดจัดซื้อทั้งหมดจะอยู่ 47.5 ล้านโดส เมื่อรวมกับ 'AstraZeneca' อีก 61 ล้านโดส 'Pfizer' 20 ล้านโดส 'Johnson & Johnson'5 ล้านโดส และอื่นๆ อีก 22 ล้านโดส ก็จะครบตามเป้าหมาย
- ลำดับเหตุการณ์การสั่งซื้อและนำเข้าวัคซีน ‘Sinovac’
5 ม.ค. ครม.อนุมัติงบประมาณ 1,228 ล้านบาทเพื่อจัดซื้อวัคซีน ‘Sinovac’จำนวน 2 ล้านโดส
22 ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการอาอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบัน ‘วัคซีนโควิด 19’ ของ ‘Sinovac’
24 ก.พ. วัคซีน ‘Sinovac’ล็อตแรกจำนวน 2 แสนโดสถึงไทย
28 ก.พ. ไทยเริ่มต้นการฉีด ‘วัคซีนโควิด 19’ โดยมีอนุทิน รองนายกฯ และ รมว.สธ. ฉีดวัคซีนของ ‘Sinovac’ เป็นคนแรก
22 มี.ค. วัคซีน ‘Sinovac’ล็อต 2 จำนวน 8 แสนโดสถึงไทย
23 มี.ค. อนุทิน รองนายกฯ และ รมว.สธ. และ สาธิต ปิตุเดชนะ รมช. สธ. ฉีดวัคซีน ‘Sinovac’เข็มที่สอง
10 เม.ย. วัคซีนของ ‘Sinovac’ล็อตที่ 3 จำนวน 1 ล้านโดสมาถึงไทย ครบ 2 ล้านโดสแรกที่ไทยสั่งซื้อ
24 เม.ย. วัคซีน ‘Sinovac’มาถึงไทยอีก 5 แสนโดส ซึ่งเป็นล็อตที่องค์การเภสัชกรรมสั่งซื้อเพิ่ม โดย ครม.มีมติอนุมัติวงเงิน 290.24 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการวัคซีนเพื่อรองรับการฉีดวัคซีนอีก 31.36 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 321.6 ล้านบาท เมื่อวันที่ 27 เม.ย.
6 พ.ค. วัคซีน ‘Sinovac’มาถึงไทยอีก 1 ล้านโดส
7 พ.ค. คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติเห็นชอบแนวทางในการฉีดวัคซีน ‘Sinovac’ให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ เนื่องจากผลการศึกษาของประเทศจีนมีความชัดเจนมากขึ้น จากเดิมที่กำหนดให้ฉีดเฉพาะคนที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี
14 พ.ค. วัคซีน ‘Sinovac’มาถึงไทยอีก 5 แสนโดส (จีนบริจาค)
15 พ.ค.วัคซีน ‘Sinovac’มาถึงไทยอีก 5 แสนโดส
20 พ.ค. วัคซีน ‘Sinovac’มาถึงไทยอีก 1.5 ล้านโดส
5 มิ.ย. วัคซีน ‘Sinovac’มาถึงไทยอีก 5 แสนโดส (จีนบริจาค)
10 มิ.ย. วัคซีน ‘Sinovac’มาถึงไทยอีก 1 ล้านโดส (ยังไม่กระจาย)
23 มิ.ย. วัคซีน ‘Sinovac’มาถึงไทยอีก 2 ล้านโดส (10.5 แสนโดส)
- ‘Sinovac’ ล็อตแรก 2 แสนโดส
วัคซีน ‘Sinovac’ มาถึงไทยล็อตแรก 2 แสนโดส เมื่อวันที่ 24 ก.พ.จากนั้นได้มีการนำลงใส่ตู้เย็น เพื่อขนส่งสู่คลังสินค้าองค์การเภสัชกรรม และบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) โดยทางองค์การเภสัชกรรมจะดำเนินการตรวจรับและส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพอีกครั้ง เมื่อผ่านทุกขั้นตอนแล้ว ก็จะเข้าสู่ระบบตรวจสอบก่อนกระจาย 13 จังหวัดในล็อตแรก
โดย 4 วัน หลังจากรับวัคซีนมา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็เริ่มฉีดวัคซีน‘Sinovac’ ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 ก.พ. แผนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ระยะแรก ในเดือนมีนาคม – พฤษภาคม จำนวน 2 ล้านโดสนั้น จะฉีดให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, พื้นที่ควบคุมสูงสุด, พื้นที่ควบคุม และพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ใน 18 จังหวัด ได้แก่ จ.สมุทรสาคร, กรุงเทพมหานคร (ฝั่งตะวันตก), ปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรปราการ, จ.ตาก (อ.แม่สอด), นครปฐม, สมุทรสงคราม, ราชบุรี, ชลบุรี, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) เชียงใหม่, กระบี่, ระยอง, จันทบุรี, ตราด และเพชรบุรี
โดยฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า อสม. บุคลากรด่านหน้า/เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย ประชาชนทั่วไปและแรงงานที่มีอายุ 18-59 ปี เน้นผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน และโรคอ้วน โดยให้แพทย์เป็นผู้ประเมินและคัดเลือกจากฐานข้อมูลการเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล
- ‘Sinovac’ ล็อตสอง 8 แสนโดส
วันที่ 20 มี.ค.2564 นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม รับมอบวัคซีนโควิด 19 ของ‘Sinovac’ ล็อตที่ 2 จำนวน 8 แสนโดส จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ขนส่งโดยสายการบิน Air China Airlines เที่ยวบินที่ CA603 เส้นทางปักกิ่ง-กรุงเทพมหานคร โดยมีการจัดส่งด้วยกล่องที่มีการควบคุมอุณหภูมิ (Passive Cold Carton) ระหว่าง 2-8 องศาตลอดเวลา ที่สามารถเก็บอุณหภูมิได้นานถึง 96 ชั่วโมง วัคซีนทั้งหมดนี้จะขนส่งไปจัดเก็บยังคลังสำรองวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมีการควบคุมอุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาด้วยเช่นกัน ที่ศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด
- ‘Sinovac’ ล็อตสามถึงไทย 1 ล้านโดส
วันที่ 10 เม.ย.2564 ที่เขตปลอดอากรและคลังสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม พร้อมด้วย ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค รับมอบ ‘วัคซีนโควิด 19’ ของ‘Sinovac’ จำนวน 1 ล้านโดส จากประเทศจีน ที่ขนส่งโดยสายการบิน Air China Airline เที่ยวบินที่ CA603 เส้นทางปักกิ่ง-กรุงเทพมหานคร
ปลายเดือนเมษายนส่งมอบ ‘วัคซีนโควิด 19’ ของ‘Sinovac’ จากประเทศจีนอีก จำนวน 5 แสนโดส โดยเป็นในส่วนที่องค์การเภสัชกรรมได้สั่งซื้อเพิ่มเติมไว้ โดยวัคซีน‘Sinovac’ นี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานบริหารจัดการ ‘วัคซีนโควิด 19’ ของประเทศไทยที่เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้อย่างรัดกุมและเป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนในประเทศไทยเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต ปกป้องระบบสุขภาพ ของประเทศ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินต่อไป
โดยเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา เป็นการเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 สำหรับประชาชนทั่วไปพร้อมกันทั่วประเทศ ตลอดเดือนมิ.ย. จะมีวัคซีน 6 ล้านโดส คาดว่าในเดือนมิ.ย.นี้ จะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ 10 ล้านโดส
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : อย.ไขปม 'ซิโนแวค' วัคซีนเชื้อตาย 'กลายเป็นเจล'
ประสิทธิผล'วัคซีนซิโนแวค'ในโลกจริง 4 พื้นที่ไทย
อย.สั่งเบรก! วัคซีน 'ซิโนแวค' รุ่น 'กลายเป็นเจล'
- คนไทยฉีด 'Sinovac' แล้ว6.2 ล้านโดส
สรุปการฉีด 'วัคซีนโควิด 19' ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-28 มิ.ย.2564 พบว่า ยอดสะสมฉีดไปแล้ว 9,416,972 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 6,721,038 ราย มีวัคซีนที่ฉีดแล้วดังนี้ 'Sinovac' 3,524,749 ราย 'AstraZeneca' 3,184,843 ราย และ 'Sinopharm' 11,446 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 2,695,934 ราย มีวัคซีนที่ฉีดแล้วดังนี้ 'Sinovac'2,637,383 ราย 'AstraZeneca'58,544 ราย และ 'Sinopharm' 7 ราย
โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2564 มีจำนวนผู้เข้ารับวัคซีน 269,459 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 183,186 ราย มีวัคซีนที่ฉีดแล้วดังนี้ 'Sinovac' 25,623 ราย 'AstraZeneca' 148,192 ราย และ 'Sinopharm' 9,371 ราย ส่วนเข็มที่ 2 จำนวน 86,273 ราย มีวัคซีนที่ฉีดแล้วดังนี้'Sinovac' 84,909 ราย 'AstraZeneca' 1,357 ราย และ 'Sinopharm' 7 ราย
- ผล'Sinovac'ป้องกันติดเชื้อในไทย
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีน'Sinovac' จากการศึกษาช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. ในพื้นที่ภูเก็ต สมุทรสาคร เชียงราย และข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ซึ่งวัดการติดเชื้อต่อสายพันธุ์อัลฟาที่กำลังระบาด หลังจากรับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ห่าง 14 วัน พบว่า ในจ.ภูเก็ต 90.7% ป้องกันโรคได้ไม่ติดเชื้อ
สมุทรสาคร 90.5% เชียงรายเป็นบุคลากรทางการแพทย์ 82.8% ภาพรวมของกรมควบคุมโรค 70.9% หากฉีดเข็มเดียว ในภูเก็ตป้องกันติดเชื้อได้ประมาณ 61.9 % และภาพรวม 39.4% ความสามารถต่ออัลฟายังมีอยู่
“ผลนี้แสดงถึงการป้องกันการติดเชื้อ เป็นผลในโลกจริงในประเทศไทย ซึ่งผลของวัคซีนจะมี 2 ส่วน คือ ในหลอดทดลองและโลกจริง ซึ่งจะเชื่อข้อมูลในโลกจริงมากกว่า เพราะในหลอดทดลองมีเงื่อนไขจำกัด ขณะที่ในคนมีปัจจัยอื่นต่างกันไปไม่ว่าทางบางหรือลบ นอกจากนี้ กำลังจะศึกษาในส่วนของวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า และวัคซีนซิโนแวคต่อสายพันธุ์เดลตา อาจจะเริ่มในช่วงก.ค.นี้ ซึ่งสายพันธุ์เดลตาน่าจะมีสัดส่วนมากขึ้นในไทยโดยเฉพาะกทม.น่าจะครึ่งหนึ่ง”นพ.ศุภกิจกล่าว
ขณะที่ นพ. นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า จากการศึกษาเปรียบเทียบวัคซีนโควิด-19 ที่มีผลการทดสอบประสิทธิภาพในมนุษย์ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนการขึ้นทะเบียนพบว่า
วัคซีนของ'Pfizer'มีประสิทธิผล 95% โดยฉีด 2 โดส ห่างกัน 21 วัน
วัคซีนของ 'Moderna' มีประสิทธิผล 94.5% ฉีด 2 โดส ห่างกัน 28 วัน
วัคซีนของ'AstraZeneca' มีประสิทธิผล 62-90% ขึ้นกับปริมาณการฉีด โดยฉีด 2 โดสห่างกัน 28 วัน
วัคซีนของรัสเซีย มีประสิทธิผล 92% ฉีด 2 โดส ห่างกัน 14-21 วัน
วัคซีนของ'Sinopharm'ประเทศจีน มีประสิทธิผล 79% ฉีด 2 โดส ห่างกัน 21 วัน
วัคซีนของ'Sinovac'ประเทศจีน มีประสิทธิผล 78%
การฉีดวัคซีนโควิด 19 'CoronaVac' คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้มีข้อแนะนำ ว่า กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ฉีดในประชาชนอายุ 18-59 ปี จำนวน 2 เข็มห่างกัน 2-4 สัปดาห์ และมีการติดตามเฝ้าระวังอาการภายหลังได้รับวัคซีนแต่ละเข็มเป็นระยะเวลา 30 วันหลังฉีด โดยในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงแนะนำให้ฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์
ห้ามฉีดให้กับผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ในภาวะควบคุมไม่ได้ ผู้ที่มีภาวะทางระบบประสาทอย่างรุนแรง หญิงตั้งครรภ์ และควรระวังในการฉีดในกลุ่มหญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง นอกจากนี้ สามารถให้วัคซีนโควิด 19 ร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคชนิดอื่นได้ โดยเว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 14 วัน และขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด 19 สลับชนิดกัน ดังนั้น การฉีดวัคซีนทั้งสองเข็มควรเป็นวัคซีนยี่ห้อเดียวกัน
นับตั้งแต่เริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 ก.พ. มีรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนอยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งแพทย์ได้แบ่งเป็นอาการไม่พึงประสงค์ชนิดไม่รุนแรงและชนิดรุนแรง ซึ่งเป็นอาการที่เกิดได้กับวัคซีนทุกชนิด
อาการข้างเคียงชนิดไม่รุนแรง มีไข้ต่ำ ปวดศรีษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดบริเวณที่ฉีด ซึ่งเกิดได้ 20-30% และสามารถหายได้เองในเวลาไม่นาน
อาการข้างเคียงรุนแรง ไข้สูง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดศีรษะรุนแรง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีจุดเลือดออกจำนวนมาก ผื่นขึ้นทั้งตัว อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง ชัก/หมดสติ หากมีอาการเหล่านี้ผู้ได้รับวัคซีนต้องรีบแจ้งแพทย์ทันที แต่ทั้งนี้ ในประเทศไทย ยังไม่มีการยืนยันว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด 19 แล้วมีอาการเสียชีวิต